'จุลพงศ์'ฟาดปมยื้อที่เขากระโดงเกมต่อรอง2พรรคการเมืองใหญ่ร่วมรัฐบาล
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) แถลงกรณีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ว่ากรณีข้อพิพาทดังกล่าวสะท้อนว่ากำลังมีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง หรือมีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ในรัฐบาลขณะนี้
ความเป็นมาที่ดินเขากระโดงเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ประเทศไทยขยายเส้นทางรถไฟไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี 2462 ต่อมาได้ออก พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 2463
มีการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ และกำหนดแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ (รฟท. ในปัจจุบัน) ที่มีพื้นที่รวมกัน 5,083 ไร่ และที่มีการเวนคืนที่ดินที่ย่อยศิลาเพราะเป็นบริเวณที่มีแหล่งภูเขาหิน คือเขากระโดง ที่กรมรถไฟจะได้ใช้วัตถุดิบหินเพื่อเอามาใช้ปูฐานสร้างทางรถไฟ
หลังจากนั้นมีคนมารุกล้ำอยู่อาศัยในที่ดินบริเวณดังกล่าว มีการออกโฉนดและเอกสารสิทธิ์ จนถึงปี 2539 รฟท. จึงมาเริ่มตรวจสอบและเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีข้อพิพาท ฟ้องร้องถึงศาลฎีกา ศาลปกครอง มีการตั้งคณะกรรมตรวจสอบการออกโฉนดและเอกสารสิทธิ์ ตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน
กระทั่งมีการออกคำสั่งจากอธิบดีกรมที่ดิน ในปี 2567 ที่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน ไม่เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิ์ที่ดินหลายแปลง ล่าสุด รฟท. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินต่อกรมที่ดินไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2567
นายจุลพงศ์กล่าวว่า คำถามที่สังคมสงสัยกันมากคือ เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ที่ชาวบ้าน 35 รายบนที่ดิน 170 ไร่ ซึ่ง 2 ใน 3 มีกระแสข่าวว่าอาจเป็นนอมินีนักการเมือง ได้ยื่นฟ้อง รฟท. และกรมที่ดินเพื่อขอให้ออกโฉนด จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ไปแล้ว
ทำไมอธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่งในปี 2567 ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินตามมติคณะกรรมการสอบสวนที่อ้างว่า รฟท. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2561, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในปี 2563 ในคดีที่ รฟท. ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน และคำพิพากษาศาลปกครองในปี 2566 ยืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. แล้ว
ผู้คนสงสัยว่า มติคณะกรรมการที่อธิบดีกรมที่ดินตั้งขึ้น และคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินนั้นใหญ่กว่าคำพิพากษาของศาลหรืออย่างไร กรมที่ดินยกข้ออ้างขึ้น 3 ข้อ ว่า 1.กรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกา และการตั้งคณะกรรมการเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง 2566 แล้ว 2.คำพิพากษามีผลเฉพาะพื้นที่ที่โจทก์ฟ้อง รฟท. เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 5,083 ไร่แต่อย่างใด และ 3.คำพิพากษาของศาลที่มีมาทั้งหมดไม่ผูกพันคนภายนอกรวมทั้งกรมที่ดิน
อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างของกรมที่ดินนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะหากอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ 842-876/2560 โดยละเอียด มีการวินิจฉัยว่าที่ดินทั้ง 5,083 ไร่เป็นของ รฟท. เพราะการสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดเขตที่ดินในการสร้างทางรถไฟในปี 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน กรมรถไฟได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟโดยชัดแจ้ง และโดยที่ที่ดินบริเวณเขตที่ดินของกรมรถไฟนั้นมีสภาพเป็นป่า ยังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์
เมื่อกรมรถไฟในขณะนั้นได้เข้าไปทำประโยชน์บนที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินว่างเปล่าไว้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินจึงเป็นลักษณะที่ดินของกรมรถไฟและได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น ข้ออ้างกรมที่ดินที่ระบุว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ถูกเพียงครึ่งเดียว คือมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งของศาลปกครอง แต่กลับไม่นำเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีต่างๆ มาปฏิบัติตามด้วย
ส่วนข้ออ้างที่ว่าคำพิพากษามีผลเฉพาะพื้นที่โจทก์ฟ้องการรถไฟเท่านั้น ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะในเนื้อหาคำพิพากษาข้างต้นศาลวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่าการสำรวจเพื่อการกำหนดเขตที่ดินทั้งหมดมีการดำเนินการโดยครบถ้วนถูกต้องแล้ว กรมที่ดินกลับมาอ้างว่าเป็นคำวินิจฉัยเฉพาะที่ดินพิพาทในแต่ละคดีได้อย่างไร
ส่วนที่อ้างว่าคำพิพากษาของศาลที่มีทั้งหมดไม่ผูกพันบุคคลภายนอก ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เป็นการอ้างหลักกฎหมายตามวรรคแรกเท่านั้น จงใจละเลยไม่อ้างข้อยกเว้นหลักที่มีอยู่ในวรรค 2 อนุมาตรา 2 ที่บัญญัติว่าคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แแห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
นอกจากนี้คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 582/2566 ที่ รฟท. ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ศาลได้พิพากษาในประเด็นนี้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีหรือ รฟท. แล้ว จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ หาได้มีผลผูกพันเแต่เฉพาะคู่ความตามที่กรมที่ดินกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่
นายจุลพงศ์กล่าวต่อว่า คดีที่ปัจจุบัน รฟท. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินอยู่นั้น หากอธิบดีกรมที่ดินไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ดังกล่าว รฟท. ก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปีจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา
หากศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วยกับอุทธรณ์ของ รฟท. และเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ผลทางกฎหมายจะย้อนกลับไปเช่นเดิม คืออธิบดีกรมที่ดิน ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้
คำถามคือทั้ง รฟท. และกรมที่ดินย่อมทราบดีว่าต้องวนอยู่เช่นนี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง และ รฟท.ก็มีช่องทางทางกฎหมายที่เร็วกว่านี้ ที่ประชาชนจะไม่ต้องเดือดร้อนถูกฟ้องขับไล่ด้วย แต่เหตุใด รฟท. กลับเลือกวิธีทางปกครองที่ช้ากว่า
ขอตั้งคำถามถึง รฟท. ว่าเหตุใดจึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของ รฟท. ที่ครบถ้วนและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ทำไมไม่ยื่นเอกสารชุดเดียวกันนั้นต่อคณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดิน จนมติของคณะกรรมการสอบสวนอ้างได้ว่า รฟท. ไม่มีเอกสารแนวเขตที่ถูกต้องมาแสดง
หาก รฟท. หาเอกสารดังกล่าวไม่พบจริงตามที่เจ้าหน้าที่ รฟท. ได้ตอบในที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน แล้วเอกสารที่อ้างในศาลนั้นหายไปไหน หายไปเมื่อไหร่ สมัยใครเป็น รมว.คมนาคม
เหตุใด รฟท. จึงไม่เลือกวิธียื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง เพื่อให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในพื้นที่ 5,083 ไร่ เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาตามคำขอแล้ว กรมที่ดินก็ย่อมทำได้แต่เพียงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเหล่านั้น ไม่มีอำนาจมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นอีก รฟท. ก็ไม่ต้องฟ้องขับไล่คนในพื้นที่ดังกล่าว และจะให้เช่าหรืออย่างไรก็ว่ากันไป ทำไม รฟท. จึงเลือกใช้วิธีที่นานและวนเวียนเช่นนี้ หรือ รฟท. ดึงเรื่องไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใดหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงกรมที่ดิน ว่าทำไมจึงมีการเพิกถอนโฉนดและกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านบางแปลงโดยใช้อำนาจอธิบดีกรมที่ดิน แต่บางแปลงกลับใช้วิธีตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทำไมถึงมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน และจริงหรือไม่ที่ที่ดินตามโฉนดที่ระบุในคำสั่งคณะกรรมการสอบสวนล่าสุด ที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งตามมติคณะกรรมการไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของสนามแข่งรถใน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าของที่ดินเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติ
“นี่เป็นคำถามที่ทั้งสองหน่วยงานต้องตอบให้ชัดเจน กรณีที่ดินเขากระโดงเป็นตัวอย่างของการใช้ช่องว่างทางกฎหมายและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ว่าท่านจะถูกสั่งให้ทำหรือจงใจทำเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ แต่หากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อใด คนที่จะได้รับผลร้ายคือข้าราชการกรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ของรฟท.อย่างเลี่ยงไม่ได้ และในฐานะฝ่ายค้าน เราจะติดตาม ตรวจสอบ และตั้งคำถามกับฝ่ายบริหารต่อไป”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.