'เฉลิมชัย ศรีอ่อน'ขนทัพความช่วยเหลือประชาชนน้ำท่วมภาคใต้

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า จากที่ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ ตนเองมีความเป็นห่วงพี่น้องชาวใต้ที่ประสบอุทกภัยเป็นอย่างมาก 

ดังนั้น นอกจากได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ ระดมกำลังให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง 
 

ในการให้ช่วยเหลือได้ดำเนินการในทุกด้าน ไม่ว่า การจัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชประสานงานกับทางจังหวัด ให้ความช่วยเหลืออพยพขนย้ายสิ่งของ และสัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมสนับสนุนยานพาหนะ เรือ เครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงรถโรงครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารปรุงสุกแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมทั้งยังมีการแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดบรรจุขวดผลิตจากน้ำบาดาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำกินน้ำใช้ในเบื้องต้น

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยระบายน้ำในพื้นที่อย่างทันท่วงที และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์ เตรียมพร้อมอากาศยานของกระทรวงฯ พร้อมปฏิบัติการทันทีที่ได้รับการร้องขอ และมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด 

“เพื่อสร้างขวัญกำลังให้กับประชาชนผู้ประสบภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และติดตามการดำเนินงานของกระทรวง ระหว่างวันที่ 6 - 7 ธ.ค.นี้ จึงได้กำหนดที่จะลงพื้นที่สงขลา พัทลุง และจังหวัดตรัง โดยในวันที่ 6 ธ.ค. จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสงขลาและพัทลุงอีกครั้ง  พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเบื้องต้น ส่วนวันที่ 7 ธ.ค.จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาวิกฤตของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรัง” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า วิกฤตจำนวนประชากร “พะยูน” ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย นับอีกปัญหาสำคัญที่ตนเองมีความเป็นห่วงอย่างมาก ดังนั้น การลงพื้นที่ครั้งนี้ จะได้มีการติดตามสถานการณ์ การดำเนินการแก้ไขตามข้อสั่งการ จากที่ได้มีข้อสั่งการให้กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์เป็นการด่วน ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันวางแนวทางในการติดตามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเร่งสำรวจจำนวนประชากรของพะยูน และแหล่งหญ้าทะเลในปัจจุบัน โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ติดตามพะยูนเพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกาย ในพื้นที่แนวหากินของพะยูนทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติ 

“พร้อมกันนี้ ยังมีการทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติ โดยใช้สาหร่ายผมนาง และผักกูด เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้พะยูน ในแนวแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมอยู่เดิม ทั้งในและนอกพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งพบร่องรอยการกินแปลงอาหารเสริม บริเวณพื้นที่ราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ที่อยู่นอกเขตอุทยานฯ แต่ยังไม่พบร่องรอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงการจัดทำฐานวางทุ่นไข่ปลา เพื่อแสดงแนวเขตอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำต้นแบบ กระชัง เพื่อการดูแลพักฟื้นพะยูน และสัตว์ทะเลหายาก” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.