'ดร.ณัฏฐ์'ชี้ศาลรธน.มีอำนาจไม่รับไต่สวนทักษิณ-เพื่อไทยปมล้มล้างฯ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฎฐ์ นักกฎหมายมหาชน เปิดเผยว่า กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมพิจารณาวันนี้ (22พ.ย.67) ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 71/2555 อำนาจในการตรวจสอบ การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำ หมายความว่า การกระทำของบุคคลนั้น ยังมีการกระทำอยู่ ยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่เกิดผล เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ฉะนั้น หากเสร็จสิ้น หรือมีผลแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสั่งการได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 1/2563 การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ถึงระดับ"วิญญูชน" ควรจักคาดหมายเห็นได้แล้วว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินการอยู่และไม่ห่างไกลเกินจากเหตุ
ส่วนเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองฯ มาตรา 49 วรรคสาม แยกเป็น 2 กรณี
กรณีแรก เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สอง ประชาชนผู้ทราบการกระทำ ใช้ช่องทางโดยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้วินิจฉัยว่า ล้มล้างการปกครองฯหรือไม่
ความเห็นในทางวิชาการ ซึ่งสิทธิการยื่นคำร้อง กับดุลพินิจที่จะรับคำร้องไว้ไต่สวนหรือไม่เป็นอำนาจดุลพินิจเด็ดขาดของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่กล้าชี้นำศาล เกรงว่าจะละเมิดอำนาจศาล แต่ขอให้ความรู้อีกแง่มุมหนึ่งของรัฐธรรมนูญว่า “เงื่อนไขในการยื่นคำร้องของผู้ร้อง กับ กรณีตรวจรับคำร้องของศาล เป็นคนละกรณีกัน”
ไม่มีบทบัญญัติใดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับคำร้องไว้ไต่สวนทุกกรณี เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา หากกรณีกล่าวอ้างว่า ล้มล้างการปกครองฯ หากพฤติการณ์ยังไม่ได้เกิด หรือเกิดไปแล้วจนเสร็จสิ้น หรือมีผลแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสั่งการผู้ถูกร้องได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ในชั้นตรวจคำร้อง ก่อนที่ศาลจะรับคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมทุกด้าน ก่อนที่จะสั่งคำร้องว่าจะรับคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือสอบถามอัยการสูงสุด เพื่อทราบข้อเท็จจริงก็ดี หรือรวบรวมข้อเท็จจริงจากช่องทางอื่นก็ดี ในส่วนของอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานฯ สอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงฟังความสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายให้รอบด้านพร้อมพยานหลักฐาน ก่อนทำความเห็นเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยอัยการสูงสุดจะต้องทำความเห็น พร้อมส่งความเห็นและสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีน้ำหนักว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่
อำนาจในการยื่นคำร้อง กับกรณีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นวินิจรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ เป็นคนละกรณีกัน กรณีใดที่ศาลรับคำร้องและกรณีใดศาลไม่รับคำร้อง ประชาชนสามารถค้นหาได้ ในข้อมูลคลังสมองกฎหมายมหาชนหรือที่เผยแพร่ทั่วไป กรณีผู้ร้องอ้างมาตรา 49 รัฐธรรมนูญเป็นเพียงให้อำนาจประชาชนผู้ร้องที่ทราบการกระทำ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีเท่านั้น
ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องพิจารณาในเนื้อหาและข้อเท็จจริงอื่นประกอบเพราะกระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่นก่อนการวินิจฉัยในชั้นตรวจคำร้อง หากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาในเนื้อหาคำร้องประกอบความเห็นอัยการสูงสุดไม่เข้าหลักเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมวินิจฉัยในเนื้อหาโดยยกคำร้องไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้ไม่จำต้องรับคำร้องไว้ไต่สวนก่อนวินิจฉัยยกคำร้องในภายหลังเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงข้างมาก
ส่วนที่อ้างว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หน้าที่ 22 ระบุว่า ....ศาลรธน.จึงมีหน้าที่ต้องรับคำร้องนั้นไว้เพื่อการตรวจสอบ รธน.ไม่ได้กำหนดให้ศาลใช้ดุลยพินิจที่จะไม่รับคำร้อง..”เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หากปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสองและวรรคสาม ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่เป็นคนละส่วนกัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.