"ทักษิณ"โชว์วิชั่นบนเวที Forbesผลักดันไทยสู่ดิจิทัลฮับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21พ.ย.67 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ร่วมพูดคุยกับนายสตีฟ ฟอร์บส์ ประธานกรรมการและบรรณาธิการบริหารของ Forbes Media ในการประชุม “Forbes Global CEO Conference” โดยได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของนโยบายภาษีและการลงทุนในอนาคต

นายทักษิณกล่าวถึงแนวคิดการลดภาษีว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย โดยระบุว่าภาษีนิติบุคคลในไทยยังคงสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่มีอัตราภาษีเพียง 17% ซึ่งช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ถ้าเราอยากได้มาก ต้องขอน้อย” เขากล่าวพร้อมเสริมว่า การลดภาษีในอดีต เช่น สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มรายได้ภาษีรวม และกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนได้สำเร็จ
 

นายทักษิณเสนอว่า อัตราภาษีที่เหมาะสมสำหรับไทยควรลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติเลือกลงทุนในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจัดทำระบบคืนภาษีให้ผู้มีรายได้น้อยแบบ Negative Income Tax (NIT) เพื่อไม่ให้ประชากรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ

นายทักษิณยังเน้นย้ำว่า การลดภาษีจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการในประเทศสามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย

“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม การบริการ และความคิดสร้างสรรค์ หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม จะสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน”

นายทักษิณได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีว่า รัฐบาลควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดบริษัทระดับโลก เช่น การพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Data Center) และระบบสมาร์ตกริด (Smart Grid) เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และลดต้นทุนด้านพลังงาน

“ค่าไฟฟ้าในไทยยังคงสูงเกินไป หากลดต้นทุนได้ จะเพิ่มความน่าสนใจให้ประเทศในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค”
 
ในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นายทักษิณกล่าวว่า แม้ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการดึงดูดการย้ายฐานการผลิต เขาชี้ว่าไทยมีทรัพยากรครบครัน ทั้งแรงงาน พลังงานไฟฟ้า และพื้นที่ โดยเฉพาะหากเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษี ประเทศไทยสามารถเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักลงทุน และเสนอว่า ไทยควรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เป็นระบบที่เอื้อต่อประเทศขนาดเล็กหรือกำลังพัฒนา เช่น การลดภาษีนำเข้าหรือการขจัดอุปสรรคทางการค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ

ในเวที BRICS และโครงสร้างการเงินโลก นายทักษิณชี้ว่าความร่วมมือในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นี้มีศักยภาพในการสร้างสมดุลในระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจมีระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ขึ้นอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือระบบ SWIFT เช่น การใช้เงินคริปโตหรือกลไกทางการเงินที่ออกแบบร่วมกัน

นายทักษิณยังกล่าวถึงบทบาทของ APEC และ ASEAN ว่าควรมีการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุข้อตกลงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศขนาดเล็กและเศรษฐกิจเกิดใหม่

“หากเวทีเหล่านี้ยังไม่สามารถหากลยุทธ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ การประชุมจะไม่เกิดผลใด ๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก”

ในช่วงท้าย นายทักษิณเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ 10 ปีของไทย โดยวางเป้าหมายสองด้านหลัก ได้แก่ การใช้ซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ และการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในภูมิภาค โดยการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรม AI และเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการสร้างระบบดิจิทัลฮับที่มีศูนย์ข้อมูลเชื่อมต่อกับทุกประเทศ

“อนาคตของไทยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในวันนี้ หากเรากล้าลงทุนในไอเดียใหม่ๆ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เราจะสามารถยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในระดับโลกได้” นายทักษิณ กล่าว
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.