"ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม"อัดกก.สอบที่ดินเขากระโดงไม่เป็นกลางโยงการเมือง

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า คำแถลงของกรมที่ดิน ออกมาชี้แจง 5 ประเด็นที่ดินเขากระโดง ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ถูกต้องตาม ม.61 แห่ง ป.ที่ดิน ยันไม่ขัดแย้งคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ แจ้งการรถไฟฯ เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน เป็นการลอกเนื้อหามาจากมติคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง ไม่มีอะไรใหม่ 

ทำไมอธิบดีกรมที่ดินใจกล้าให้นักการเมืองฮุบที่เขากระโดง

คนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อความเป็นกลาง ยิ่งชี้แจง เป็นวัวพันหลัก  ให้คำตอบประชาชนไม่ได้ เหตุใดไม่เพิกถอนที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์เขากระโดงที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่ปล่อยให้นักการเมืองจ้องฮุบเป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยอ้างว่า รักชาติ  โดยโยนให้เป็นมติคณะกรรมการสอบสวนที่ดิน  แต่ประชาชน ตั้งข้อสงสัยว่า กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเขากระโดง อธิบดีใช้หลักเกณฑ์และคัดเลือกมาจากอะไร กรรมการเหล่านั้น มีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ เพราะกรรมการหลายคนขาดความเป็นกลาง อธิบดีกรมที่ดินจะอ้างว่า ไม่รู้ ไม่ได้  ทำตามคำสั่งมือ “มองไม่เห็น”หรือไม่  ตั้งธงหักมุมคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ล่วงหน้าหรือไม่ 

 หากไปย้อนดูคำพิพากษาศาลปกครอง มีหลายประเด็นที่มองเห็นความไม่ชอบมาพากล เช่น ความปรากฎแก่อธิบดีกรมที่ดินว่า ที่ดินเขากระโดงเอกชน ออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินการรถไฟ เป็นหน้าที่โดยตรงในการสอบสวนสิทธิและเพิกถอนได้ทันที เหตุใดไม่เพิกถอน แต่ไปโยนภาระให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิสูจน์สิทธิอีก เป็นการประวิงเวลา การเมืองแทรกแซงหรือไม่ เพราะสถานที่ตั้งของที่ดิน เป็นของนักการเมืองตระกูลหนึ่ง ที่มีอำนาจทางการเมือง  ตรงนี้ ต่างหาก อธิบดีกรมที่ดิน ใจกล้าหักมติศาลฎีกาได้อย่างไร   ในเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นที่สุด วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย 

งง กรมที่ดินโยนภาระการพิสูจน์สิทธิ

หากพิจารณาจาก คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566  อ้างว่า ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ไม่สามารถแสดงแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง พ.ศ.2465 หรือถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว รวมทั้งรายละเอียดตำแหน่งที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทราบได้ จึงไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้นั้น  แต่ศาลปกครองไม่เชื่อ

เห็นว่า ความมุ่งหมายของมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้ปรากฏขึ้น เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นประกอบต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้านและเป็นผู้จัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้ทั้งหมด จึงย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯหรือไม่ สามารถถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ได้ จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะไม่ดำเนินการ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น”

แฉกรรมการบางคนใกล้ชิดการเมือง จนขาดความเป็นกลาง 

 กลเกมกรมที่ดิน โดยอธิบดีกรมที่ดิน ทำงานตามใบสั่งอำนาจการเมืองของบางพรรคการเมืองครอบงำหรือไม่ โดยอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนลาออกเพราะปมที่ดินเขากระโดง ทรงแนวการต่อสู้คดีทำให้รู้ว่า สู้คดีเพื่อคนที่มีอำนาจไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน อ่านเกมในการต่อสู้โดยยกเรื่องแผนที่รูปท้าย พรฎ.จัดซื้อฯ ในการต่อสู้ แต่ศาลรู้ทันเกม ไม่เชื่อ  ถามว่า อธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้น เจตนาประวิงเวลาเพื่อไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ มีเจตนาโยกโย้ พยายามถ่วงเวลาหรือไม่ ปุถุชนทั่วไปเล็งเห็นได้  โดยนำช่อง “การรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีแผนที่ท้าย พรฎ.จัดซื้อฯ ปี 2465 และตำแหน่งที่ตั้งมาแสดง

ถามว่า ประวิงเวลาเพื่อใคร ใครได้ประโยชน์ ในชั้นปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน แม้อธิบดีกรมที่ดินอ้างว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่บุคคลดังกล่าว ได้กลั่นกรองก่อนแต่งตั้งว่า มีความเป็นกลางในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง หรือมีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ หากไม่มีความเป็นกลางในการออกคำสั่งทางปกครอง โดยมีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจทางการเมืองภายในจังหวัดบุรีรัมย์ 

ถามว่า กรรมการคนนี้ขาดความเป็นกลางทางปกครองหรือไม่  ซึ่งหากพิจารณาตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 13 บุคคลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือคู่กรณี จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ส่งผลให้คำสั่งทางปกครองที่ไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด  แต่กลับให้เป็นมานั่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง แล้วกรมที่ดินจะมาบอกว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองแล้วได้อย่างไร 

จี้อธิบดีกรมที่ดินสอบปมคุณสมบัติกรรมการสอบสวน

ให้พี่น้องประชาชนช่วยกันแชร์ข่าวให้ถึง อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน ให้ช่วยตอบคำถามด้วยว่า ก่อนออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ตรวจสอบประวัติความเป็นกลาง ของบุคคลเหล่านี้หรือไม่ บุคคลใดเป็นผู้เลือกบุคคลที่เป็นกรรมการสอบสวน หากเป็นไปโดยตำแหน่งได้ตรวจสอบความเป็นกลางหรือไม่ การตั้งกรรมการสอบสวนบุคคลในพื้นที่ เป็นตรรกะวิบัติที่ใช้วิชามาร แทรกแซงช่วยเหลือกัน บุคคลเหล่านั้น เป็นคู่กรณี มีส่วนได้เสียและเป็นกลางทางปกครองหรือไม่ ในเมื่อมติคณะกรรมการสอบสวนจะต้องเสนอต่ออธิบดีกรมที่ดิน ล้วนเป็นสารตั้งต้นไม่ชอบมาพากลส่งผลให้กระบวนการชอบด้วยกฎหมาย โดยยุติเรื่องและไม่เพิกถอน ไปโยนให้การรถไฟเร่งพิสูจน์สิทธิ ในเมื่อคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เพียงความปรากฏ คุณย่อมตั้งกรรมการสอบสวนที่มีความเป็นกลางได้ มติคณะกรรมการสอบสวนที่ดิน เป็นไปตามธง ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เหตุผลที่หักมุมคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ไม่ใช่แล้ว ตนขอชี้ช่องให้ประชาชนไปดำเนินคดีอาญากับบุคคลกลุ่มนี้ 
         
ส่วนกรณีคำวินิจฉัยปกครอง วินิจฉัยไว้ตอนหนี่งว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ไม่ยอมใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามมาตรา 61 วรรคแปด แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นั้น  ตุลาการศาลปกครองกลาง เห็นว่า มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้จำกัดอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน-อธิบดีกรมที่ดิน) จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเฉพาะกรณีที่ที่จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น แต่ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่รวมถึงวิธีการและขั้นตอนต่างๆ กรณีที่ความปรากฎแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เองว่ามีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่ามีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่จะมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ โดยไม่จำต้องให้ผู้ฟ้องคดีไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลเสียก่อน ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่อาจรับฟังได้

อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนได้ทันทีไม่ต้องโยนภาระพิสูจน์สิทธิ
 

หากพิจารณาคำวินิจฉัยประเด็นนี้ กรณีความปรากฏ อธิบดีกรมที่ดิน ย่อมสามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยใช้ดุลพินิจโดยชอบ สามารถเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟได้ทันที เพราะมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้จำกัดอำนาจของกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเฉพาะกรณีที่ที่จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น แสดงว่า หากความปรากฏว่า ที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟ อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจตรวจสอบและดำเนินการเพิกถอนได้ทันที ย้ำว่า ตรวจสอบและเพิกถอนได้ทันที ไม่จำต้องโยนภาระให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปพิสูจน์สิทธิ์ก่อน  เพราะการพิสูจน์สิทธิ์ก่อน เท่ากับเปิดช่องให้เป็นการประวิงเวลาในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์  ตนมองว่า ผลกรรมที่ก่อไว้กับแผ่นดิน พระสยามเทวาธิราชมีจริง น่าจะเร็วกว่า  การรถไฟฯไปฟ้องเพิกถอนต่อศาลยุติธรรมกับเอกชนที่ถือครองแต่ละแปลง โดยใช้เวลาเนิ่นนาน

ในเมื่อศาลปกครองกลางวินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่า ความปรากฏไม่จำต้องไปฟ้องคดีแพ่งต่อศาล อธิบดีกรมที่ดินสามารถดำเนินการเพิกถอนได้ หากอธิบดีกรมที่ดิน พิจารณาจากพยานหลักฐานเชื่อว่า ออกเอกสารสิทธิ์คลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทับที่ดินของการรถไฟ สามารถเพิกถอนได้ทันที

จากการตรวจสอบรายชื่อกรรมการสอบสวน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง และใกล้ชิดตระกูลการเมืองใหญ่ในบุรีรัมย์ มติคำวินิจฉัย ไม่ต่างจากผลไม้จากต้นไม้ที่เป็นพิษ

ส่วนในประเด็นอื่นๆ ที่ศาลปกครองวินิจฉัยในเรื่องการใช้ดุลพินิจในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ แม้ศาลจะวินิจฉัยว่า ให้เป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดิน แม้ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงได้  ไม่ได้หมายความว่าอธิบดีและกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้  ทำให้เสียหายแก่รัฐ


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.