"คำนูณ"แนะรัฐบาลไทยชั่งน้ำหนัก ข้อดีข้อเสีย MOU44 ก่อนเจรจา'กัมพูชา'

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คหลังจากที่มีประเด็นความเห็นต่างกันระหว่างการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา จากฝ่ายรัฐบาลและผู้ที่เห็นต่าง ในหัวข้อ  MOU 2544 ชั่งน้ำหนัก 6 ข้อเสีย 2 ข้อดี ว่า  ข้อเสียของ MOU 2544  คือ

1.ไทยไม่มีประเด็นใด ๆ จะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิเหนือเกาะกูด อย่างน้อยในส่วนตัวเกาะ” เพราะเกาะกูดเป็นของไทยมา 127 ปีแล้วโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 คนไทยทุกฟากความคิดเห็นตรงกันในข้อนี้ รัฐบาลกัมพูชา เริ่มยอมรับ จึงปรากฎเส้นเว้ารอบตัวเกาะด้านทิศใต้เป็นรูปตัว U ในแผนผังประกอบ MOU 2544

2.อาจเข้าข่ายว่าตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2544 วันที่ไทยจรดปากกาลงนามใน MOU 2544 ไทยยอมรับการคงอยู่โดยปริยายซึ่งเส้นเขตไหล่ทวีป ค.ศ. 1972 ด้านทิศเหนือ ซึ่งประกาศโดยกฤษฎีกา 439/72/PRK ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 ทั้ง ๆ ที่ตลอด 29 ปีก่อนหน้านั้นไทยตอบโต้กัมพูชาทุกรูปแบบมาโดยตลอด และอาจเข้าลักษณะกฎหมายปิดปาก หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในอนาคต

3.สารัตถะใน MOU 2544 เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย ในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนของข้อตกลง คือ ส่วนบนเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และส่วนล่างเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 

"ส่วนบนเส้น 11 กัมพูชาที่เสียเปรียบในการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) ข้อ 121 และข้ออื่น ๆ ชนิดแทบจะไม่มีประตูสู้ได้เลย เหลืออยู่ประตูเล็ก ๆ ประตูเดียวที่จะอ่างว่ากัมพูชายังไม่ได้ให้สัตยาบัน UNCLOS 1982 กลับสามารถหยิบยกเป็นประเด็นมาต่อรองกับการเจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ส่วนล่างได้ โดยเป็นฝ่ายไทยเสียเองที่ยอมสละข้อได้เปรียบของประเทศตัวเอง ส่วนล่างเส้น 11  การกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งผลประโยชน์ ไม่เจรจาปักปันเขตแดน ทำให้การเจรจาหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ UNCLOS 1982 ที่ไทยได้เปรียบ แล้วไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตกโดยไม่หือไม่อือ เท่ากับประเทไทยทิ้งความได้เปรียบในการเจรจาทั้งส่วนบนเส้น 11 และส่วนล่างเส้น 11 ไป" นายคำนูณ ระบุ

4.การยอมรับพื้นที่ส่วนล่างเส้น 11 เป็นพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด โดยนำเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตก ทำให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่ไม่สมควรจะได้รับ หรืออีกนัยหนึ่ง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่สมควรจะได้รับ 

5.ทำให้การเจรจาจำกัดกรอบไว้ภายใต้รูปแบบเดียว ถ้าถึงทางตัน ก็ไปต่อไม่ได้ 

6.หากยึดสารัตถะรูปแบบการเจรจาตาม MOU ก็เท่ากับเป็นการเจรจานอกกรอบ UNCLOS 1982 ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก 1 ใน 160 ประเทศ 

นายคำนูณ ระบุต่อว่าส่วนข้อดีของ MOU 2544  คือ 
1.ทำให้มีกรอบการเจรจาที่ชัดเจน
2.ลักษณะล็อกตัวเองของ MOU 2544 ที่กำหนดให้เจรจาทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนบนเส้น 11 เจรจาแบ่งเขตแดน และส่วนล่างเส้น 11 เจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียม ไป “พร้อมกัน“ และ "ไม่อาจแบ่งแยกได้" ทำให้การเจรจาไม่มีทางสำเร็จได้ง่าย ๆ 

"เพราะฝ่ายกัมพูชาต้องการเจรจาแต่เรื่องปิโตรเลียม ไม่ต้องการเจรจาเรื่องเขตแดน ฝ่ายไทยแยกเป็น 2 ความคิด กระทรวงการต่างประเทศต้องการเจรจาเรื่องเขตแดนให้ลุล่วงไปด้วยชัดเจนพร้อมกันเลย อต่ฝ่ายการเมืองบางส่วนและหน่วยงานด้านพลังงานต้องการเจรจาเรื่องปิโตรเลียมให้ลุล่วงไปก่อน เมื่อไม่สำเร็จ ประเทศไทยก็ยังไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ว่าเขตแดน หรือปิโตรเลียม" นายคำนูณ ระบุ

นายคำนูณระบุเป็นหมายเหตุทิ้งท้ายด้วยว่า เป็นข้อดีในด้านกลับ ที่พรรคพวกผู้รู้ของตนบางคนเมื่อได้ฟังแล้วก็บอกว่านี่เป็นทำนองเดียวกับสำนวนฝรั่งที่ว่า blessing in disguise เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเอาแต่ MOU 2544 เราก็เฉยไว้ เพราะเดี๋ยวเราจะเจอ MOU ใหม่ที่ร้ายกว่าเก่า เช่น จะเจรจาเฉพาะเรื่องผลประโยชน์จากปิโตรเลียม  ทั้งนี้บางคนในฝ่ายสนับสนุนเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมตีความแบบศรีธนญชัยว่าที่ MOU 2544 ระบุให้เจรจา 2 เรื่องพร้อมกันและไม่อาจแบ่งแยกได้ ก็ไม่ได้บอกว่าต้องเสร็จพร้อมกัน.
ที่มา เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.