พริษฐ์ วัชรสินธุ หวังประเทศไทยมีรธน.ใหม่ก่อนเลือกตั้งครั้งถัดไป
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯ ออกหนังสือขอเข้าพบ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หวังร่วมหาทางออกให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยระบุว่า ณ เวลานี้ เกือบเป็นที่แน่นอนแล้ว ว่าหากรัฐบาลเดินตาม “แผนเดิม” เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยได้ประกาศไว้
นายพริษฐ์ ระบุว่า แต่ ณ ปัจจุบัน การพิจารณาร่างร่างแก้ไข พ.ร.บ. ยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จนทำให้ประชามติรอบแรกยากที่จะเกิดขึ้นทันช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นใน ก.พ. 2568 (ซึ่งเป็นแผนเดิมของรัฐบาล) ดังนั้น เห็นว่าหากรัฐบาลยังต้องการบรรลุเป้าหมายในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจำเป็นต้องคิด “แผนใหม่” โดยในบรรดาทางเลือกที่เหลืออยู่ เห็นว่าทางเดียวที่เป็นไปได้ คือการลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง
ขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าวคือการให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (แก้ไขมาตรา 256 & เพิ่มหมวด 15/1) - แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะดังกล่าวสู่รัฐสภาตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่รัฐสภายังไม่ได้มีโอกาสพิจารณาร่างเหล่านั้นเพราะประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ซึ่งยังมีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาและภายในสังคม
แม้เคยอภิปรายโดยละเอียดว่าทำไมเห็นว่าการเดินหน้าด้วยกระบวนการประชามติ 2 ครั้ง และการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าสู่รัฐสภา สอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ แต่เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกับทุกฝ่าย ตนและ กมธ. พัฒนาการเมือง จึงได้ทำหนังสือขอเข้าพบกับ 3 บุคคลสำคัญ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกและ ““แผนใหม่” ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง
1. นายกรัฐมนตรี (ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล) โดยส่วนตัว หวังจะหารือกับทุกพรรคการเมืองในรัฐบาล ให้เห็นตรงกันถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการเดินหน้าด้วยแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง (รวมถึงร่วมกันหาวิธีการในการหารือกับสมาชิกวุฒิสภาให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน)
2. ประธานรัฐสภา โดยส่วนตัว หวังจะหารือให้ประธานรัฐสภาเห็นว่าการทบทวนหันมาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา (ซึ่งจะลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง) สอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
3. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัว หวังจะหารือให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายความความหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องประกอบด้วยการทำประชามติจำนวนกี่ครั้ง
"ผมหวังว่าทั้ง 3 ท่านจะยินดีให้ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบท่านหรือตัวแทนของท่านที่สามารถตัดสินใจหรือให้ความเห็นแทนท่านได้ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนและต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการจับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน" นายพริษฐ์ ระบุ
ที่มา เฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.