“นายกฯอิ๊งค์” เข้มมาตรการสู้ PM 2.5 เล็งตรวจจับรถควันดำ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว

นายกรัฐมนตรี ยังกำชับถึงการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ว่าจะมีมาตรการอย่างไร เช่น ไม่รับซื้อข้าวโพด อ้อย จากการเผาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาฝุ่นควันจากรถยนต์ และภาคอุตสาหกรรม โดยขอความร่วมมือไปยังกระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เรื่องตรวจจับรถยนต์ควันดำเข้มงวดมากขึ้น พร้อมออกมาตรการควบคุมโรงงานให้รัดกุม เพื่อลดการก่อฝุ่นละออง PM 2.5

 

โดยปกติแล้วฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นมากในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูหนาวสู่ฤดูร้อน ในช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี บริเวณความกดอากาศสูงลงมาปกคลุมเป็นระลอกๆหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงโดยทั่วไป โดยมีอากาศเย็นถึงหนาว และหนาวจัดบางพื้นที่

แต่มีบางช่วงความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าว มีกำลังอ่อนลง จึงส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบตามไปด้วย ประกอบกับมีการผกผันกลับของอุณหภูมิ (Inversion) ในระดับล่าง ส่งผลให้ระดับเพดานการลอยตัว และการกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอก และควัน ในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

 

ฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบทางสุขภาพ

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อันตรายที่มองไม่เห็นแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างมาก เพราะสามารถเล็ดลอดเข้าไปในปอดได้อย่างง่ายดาย แม้จะไม่ทำให้เจ็บป่วยทันที แต่การสะสมในระยะยาวจะนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ 

ที่มาของฝุ่น PM2.5

  • ไอเสียจากรถยนต์: ควันดำจากท่อไอเสียเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ
  • อากาศพิษจากโรงงาน: โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษและฝุ่นละอองออกสู่ชั้นบรรยากาศ
  • การเผาในที่โล่ง: การเผาขยะ เผาป่า หรือเผาไร่นา ทำให้เกิดฝุ่นละอองจำนวนมาก

ผลกระทบต่อสุขภาพ

  • ระบบทางเดินหายใจ: เกิดอาการระคายเคือง ไอ หายใจลำบาก
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด: เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระบบประสาท: ส่งผลต่อความจำและการเรียนรู้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.