ไทยหารือทูตกลุ่มประเทศ ACMECS จับมือบริหารจัดการแม่น้ำโขง

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) จำนวน 5 ประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อริ่เริ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน  

 

นายมาริษ ยืนยันว่า ประเทศไทย พร้อมเป็นหัวหอก ในการระดมสรรพกำลัง ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ โดยจะใช้กรอบความร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาค ACMECS เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งของแม่น้ำโขงในระยะยาว รวมถึงใช้กลไกสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Institute) และคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือ Mekong River Commission : MRC ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านวิชาการ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การขุดลอกแม่น้ำ การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS ริเริ่มในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2546 และเป็นกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ประสานงาน โดยกรอบความร่วมมือนี้มาจากแม่น้ำสำคัญ 3 สายในภูมิภาคที่ไหลผ่านประเทศสมาชิก ได้แก่ แม่น้ำอิรวดี ที่ไหลผ่านประเทศเมียนมา, แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านประเทศไทย และแม่น้ำโขง ไหลผ่านประเทศไทย, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร   

สำหรับแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติ ไหลผ่านทั้งหมด 6 ประเทศ คือ จีน ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ความยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ ประเทศลาว และประเทศไทย บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก่อนจะไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.