เท้ง สอน รัฐบาล แก้ปัญหาหลังน้ำท่วม จ่ายเยียวยาทางรัฐ จูงใจเที่ยวเมืองน้ำลด

วันที่ 19 ก.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14-15 ก.ย. ตนและ สส.พรรคประชาชน ลงพื้นที่อ.เมืองและอ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาล ประเด็นหลักที่พบคือ น้ำท่วมคือภัยที่ส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิตและการเงิน นอกจากบ้านเรือนเสียหาย ส่งผลให้ชีวิตประจำวันยากลำบากแล้ว การค้าขายและธุรกิจพังเสียหายยับเยินขณะที่รายจ่ายและหนี้สินยังคงเดินหน้าทุกวัน คือสิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยกำลังทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แม้ว่าน้ำจะลดลงไปแล้ว
 

การรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมประกอบไปด้วย 2 ช่วง โดยช่วงแรก ก่อนภัยมา สิ่งที่ต้องทำคือการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ป้องกันความสูญเสียให้มากที่สุด ช่วงที่สอง หลังภัยมา สิ่งที่ต้องทำคือการช่วยเหลือเยียวยาให้เร็วและทั่วถึงที่สุด รวมถึงการซ่อมแซม ฟื้นฟูให้วิถีชีวิตกลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุดเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการได้ 3 ข้อคือ 

1. ลดความเสี่ยง ด้วยการบริหารจัดการน้ำฝน น้ำท่า และน้ำที่ข้ามพรมแดนมาจากต่างประเทศ 

2. ลดความสูญเสีย ด้วยระบบการแจ้งเตือนภัย ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการบูรณาการข้อมูลและวางระบบเทคโนโลยีการแจ้งเตือนภัย 

3. ช่วยเหลือ เยียวยา ซ่อมแซม ฟื้นฟู ด้วยการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐ

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า จากสถานการณ์เฉพาะหน้าหลังน้ำลด สิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยต้องการให้รัฐบาลจัดการมากที่สุดในขณะนี้ การช่วยเหลือเยียวยาและซ่อมแซมฟื้นฟูมี 10 มาตรการที่รัฐบาลควรทำเร่งด่วน ซึ่งบางมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่หลายจุดที่ตนขอให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 
 

1. การจัดตั้งศูนย์กลางประสานความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน

2. การยกเว้นค่าน้ำ-ค่าไฟในเดือนกันยายน และลดราคา 30% ในเดือนตุลาคม ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่ น้อยไปหรือไม่ รวมถึงระบบน้ำประปาที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยค่าน้ำประปาให้กับ อปท. ด้วยหรือไม่

3. เงินเยียวยาน้ำท่วม ปัจจุบันมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไป เพราะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องผ่านประชาคมหมู่บ้าน และต้องผ่านคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด อีกทั้งระยะเวลาดำเนินการยังกำหนดไว้ยาวนานถึง 90 วัน ตนขอเสนอว่า รัฐบาลสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้เลยทันที

4. เงินซ่อมแซมบ้าน รัฐบาลจะจ่ายให้หลังละ 2.3 แสนบาทหากมีความเสียหายเกิน 70% เกิดคำถามว่า 70% นั้นวัดจากอะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างก็ไม่ชัดเจน ขอเสนอว่า รัฐบาลควรให้เงินซ่อมแซม 10,000 บาททันทีสำหรับบ้านทุกหลังที่ประสบภัย จากนั้นเมื่อสำรวจและประเมินความเสียหายเสร็จสิ้นก็ค่อยจ่ายส่วนต่างที่เหลือตามมา

5. การพักชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารรัฐจะพักชำระหนี้ให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนธนาคารเอกชนพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเจรจาให้ธนาคารเอกชนพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเช่นเดียวกับธนาคารรัฐ

6. เงินเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวที่ปัจจุบันรัฐบาลชดเชยไร่ละ 1,340 บาท ซึ่งเกษตรกรสะท้อนว่าไม่เพียงพอ เพราะต้นทุนที่เสียหายจริงสูงกว่าที่รัฐบาลประเมินถึง 4 เท่า ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มอัตราเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมตามต้นทุนการผลิตจริง

7. งบประมาณซ่อมแซมถนนและทรัพย์สินราชการ รัฐบาลอนุมัติงบกลาง 5.3 พันล้านบาทให้เฉพาะกรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรอนุมัติงบประมาณให้ อปท. เพิ่มเติมด้วย เพื่อซ่อมแซมถนน ไฟส่องสว่าง โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอื่นๆ

8. การอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท. มีกำลังในการออกนโยบายฟื้นฟูเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่มากขึ้น

9. การกระตุ้นการท่องเที่ยว ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ โดยเดิมรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน้ำลด ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก 15,000 บาท รวมเป็น 30,000 บาท

10. การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการ ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ขอเสนอว่ารัฐบาลควรให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% เพื่อให้ประชาชนนำมาเร่งฟื้นฟูกิจการธุรกิจร้านค้าโดยเร็ว

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า นอกจากมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะมีพายุลูกใหม่พัดเข้าประเทศไทยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกระลอก ดังนั้น โจทย์สำคัญของการรับมือภัยพิบัติในระยะกลางและระยะยาว คือการลดความเสี่ยงและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของการลดความเสี่ยง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือแผนที่เสี่ยงภัยและระบบคาดการณ์น้ำท่วม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำทั้งระบบ ไม่ว่าจะน้ำฝนหรือน้ำท่า โดยต้องมีการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบชลมาตรหรือเครื่องมือวัดระดับน้ำที่ครอบคลุมและทั่วถึง ส่วนน้ำจากต่างประเทศ เช่น น้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน รัฐบาลต้องหารือในระดับพหุภาคีระหว่างประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูลน้ำร่วมกัน 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายจัดทำข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง โดยในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ได้มีการเปิดเผยข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลกเป็นสาธารณะแล้ว รัฐบาลไทยจึงควรสั่งการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีข้อมูลนี้อยู่ ทั้งการไฟฟ้า การประปา และไปรษณีย์ไทย ให้เปิดเผยเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ตามมาตรฐานสากล

ส่วนการป้องกันความสูญเสีย สิ่งที่ต้องทำคือระบบแจ้งเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ แต่ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Braodcast) ที่รัฐบาลให้ข่าวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่าขอเวลา 1 ปีจะใช้งานได้ ปัจจุบันก็ยังใช้งานไม่ได้จริง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ขณะที่หอเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ ก็แทบไม่เคยมีการใช้งาน ไม่มีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์ เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สายที่ไม่มีการแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัยแต่อย่างใด รวมถึงแผนเผชิญเหตุซึ่งมีอยู่แล้วในทุกจังหวัด แต่กลับไม่เคยถูกซักซ้อม เจ้าหน้าที่และประชาชนไม่รู้วิธีปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็ไม่พร้อม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกในอนาคต ประชาชนก็จะยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายเช่นเดิม

“จากแผนเผชิญเหตุที่มีอยู่แล้วทั้งประเทศ ตอนนี้มีคำสั่งจากท่านนายกฯ หรือมีแนวนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือยัง ที่จะหยิบแผนเผชิญเหตุเหล่านี้มาซักซ้อม เพื่อให้ทั้งคนและเครื่องมือมีความพร้อมก่อนที่พายุลูกใหม่จะเข้ามา จนอาจเกิดเหตุภัยพิบัติอื่นๆ อีกในอนาคต” นายณัฐพงษ์กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.