ย้อนไทม์ไลน์"ทักษิณ ชินวัตร"สู่อิสรภาพที่รอคอยทำคุณตอบแทนแผ่นดิน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยจะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ จำนวนประมาณ 50,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับสิทธิ เข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวอีกกว่า 200,000 ราย

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้พ้นโทษทันที ไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 ส.ค.2567 เนื่องจาก เป็นผู้ถูกคุมประพฤติ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตาม มาตรา 6 ที่ระบุว่า ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง(2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ (3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ซึ่งสามารถเดินทางไปรับใบบริสุทธิ์ จากเรือนจำได้ในภายหลัง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับการพักโทษไปอยู่นอกเรือนจำแล้ว

สำหรับนายทักษิณ เดินทางกลับเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 ถูกควบคุมตัวไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อฟังคำพิพากษา 3คดีประกอบด้วย คดีสั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา โทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ให้นับโทษ คดีหวยบนดิน โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญาไปด้วย เหลือการจำคุก ในคดีที่ 1 และคดีที่ 2 เพียง 3 ปี และคดีให้นอมินีถือหุ้นในบมจ.ชินคอร์ป โทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ให้นับต่อจาก 3 ปีใน  2 คดีแรก โดยนายทักษิณ ต้องโทษจำคุกจริง 8 ปี

หลังฟังคำพิพากษานายทักษิณ อยู่ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จากนั้นถูกย้ายไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่ชั้น14 รพ.ตำรวจ ที่ต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษคือโรคหัวใจเนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า

ต่อมา วันที่ 1 กันยายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ ที่ 1/2566 พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชน สืบไป (คลิ๊กอ่าน)  

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ได้มีประกาศจากกรมราชทัณฑ์ เรื่องระเบียบการคุมขังในสถานที่คุมขัง ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ลงนามโดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์  ซึ่งประกาศระเบียบใหม่การคุมขังนอกเรือนจำมีผลบังคับใช้ 12 ธันวาคม 2566 ระหว่างนั้นนายทักษิณ ยังพักรักษาอาการเจ็บป่วยในรพ.ตำรวจ 

ข้ามปีศักราชใหม่ วันที่ 11 มกราคม 2567 อธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นชอบให้ นายทักษิณ รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่ออีก เกินกรอบเวลา 120 วัน เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที

ต่อมาวันที่13 กุมภาพันธ์ 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้เสนอรายชื่อนักโทษที่จะได้รับการพักโทษมจำนวน 930 คนโดยมีรายชื่อนายทักษิณ รวมอยู่ด้วยอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนมากจะต้องรับโทษครบ 6 เดือนตามเกณฑ์ ก็จะได้รับการพักโทษอัตโนมัติ

วันที่ 18กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 06.09น.นายทักษิณ  เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ หลังจากได้รับการพักโทษ โดยมีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่31 ซึ่งสภามีมติเห็นชอบเมื่อ 16สิงหาคม 2567ที่ผ่านมาเดินทางไปรับกลับบ้านพักจันทร์ส่องหล้า ย่านจรัญสนิทวงศ์ กทม. 
 
 
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.