14สิงหา"เศรษฐา"ลุ้น9ตุลาการชี้ชะตา รอด-ไม่รอด เก้าอี้นายกฯ
เหลือเวลาอีกไม่กี่ชม.นับจากนี้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะรอด หรือไม่รอด จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้ศาลชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
กรณี นายกฯเศรษฐา นำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้ โดย 14 ส.ค. เวลา 09.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัย ในเวลา 15.00 น.
ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งรับคำร้องเมื่อ 23 พ.ค. 2567เฉพาะในส่วนของนายกฯเศรษฐาไว้วินิจฉัยโดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งนายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายจิรนิติ หะวานนท์ หากคู่กรณีประสงค์จะแจ้งแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ 2562 ข้อ 24 ภายใน 31 ก.ค. 2567
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ประกอบด้วย 1.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.ปัญญา อุดชาชน 3.อุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.วิรุฬห์ แสงเทียน 5.จิรนิติ หะวานนท์ 6.นภดล เทพพิทักษ์ 7.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 8.อุดม รัฐอมฤต 9.สุเมธ รอยกุลเจริญ
การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนายกฯเศรษฐาของศาลรัฐธรรมนูญ มีความเป็นไปได้2แนวทาง หากชี้ขาดไปในทางเป็นคุณกับนายกฯเศรษฐา ครม.ทั้งคณะได้ไปต่อและมีประเด็นที่ตามมาคือการปรับครม. โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีการขอทวงตำแหน่งรอไว้ก่อนแล้วโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวพรรคเสนอชื่อ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในโควต้าพรรคที่มีตำแหน่งว่างอยู่
ในทางกลับกับหากคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นโทษกับนายกฯเศรษฐา แรงกระเพื่อมทางการเมือง ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นายกฯเศรษฐาพ้นออกจากตำหน่งนายกฯและส่งผลต่อครม.ไปทั้งคณะต้องเลือกนายกฯ กันใหม่ในสภาฯ เพราะนายใหญ่ไม่ชอบการยอมแพ้ อย่างไรก็ตามแรงสั่นสะเทือนคงไม่ถึงขนาดพลิกขั้วเปลี่ยนข้างจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่
อนาคตนายกฯเศรษฐา นับต่อไปจากนี้ แม้จะคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ทั้งรอดและไม่รอด ด้วยตัวเลขมติ 5ต่อ4 หรือ 6ต่อ3 หรือ 7ต่อ2 ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้ชื่อว่า ศาลการเมืองสูงสุด ผลคำวินิจฉัยล้วนย่อมมีผลกระทบทางการเมืองทั้งสิ้น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.