นานาทัศนะ"ปฎิรูปตำรวจ"ไม่เอานายกฯ-การเมืองแทรงแซงองค์กร
กระแสความเคลื่อนไหวการปฎิรูปตำรวจถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม เสียชีวิตในหน้าที่ระหว่างเข้าไประงับเหตุชายคลุ้มคลั่งที่ย่านพระราม 2 กทม. เมื่อค่ำวันที่ 20 ก.ค.2567
พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก "Panya Maman" แสดงความเสียใจกับครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ และเตือนสติต้องยึดมั่นในอุดมคติของตำรวจ กระทำการด้วยปัญญาและรักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
พร้อมกับเสนอความเห็นเรื่องการเคลื่อนไหวจะปฏิรูปตำรวจโดยตำรวจเอง ประเด็นหลักคือให้นายกรัฐมนตรีไม่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)แต่มาจากการเลือกกันเองเหมือนคณะกรรมการข้าราชการอัยการ(ก.อ.)
และไม่แน่ใจว่า จะเกิดผลดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเก่า หรือเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ แต่สิ่งที่อยากจะเห็นการแก้ไขคือ การเพิ่มเงินค่าทำงาน เงินสวัสดิการเงินตอบแทนค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ที่ข้าราชการอื่นๆยังได้รับ เช่น ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการองค์กรอิสระ เป็นต้น
ขณะที่พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ชวนเชิญประชาชนและข้าราชการตำรวจ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยมีพ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ เป็นตัวแทนนำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจ ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อ12ก.ค.67 เพื่อริเริ่มให้มีการแก้ไขและกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อให้ครบ ผ่าน https://www.ilaw.or.th/policereform
ทั้งนี้ สาระสำคัญ การแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถูกเสนอยกร่างโดยพล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พร้อมด้วยคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 22 คน เพื่อปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเพื่อประโยชน์แห่งการอำนวยความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชน มีแนวคิดการปฏิรูปดังนี้
1. ให้ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มาจากการเลือกตั้งของตำรวจ ก.ตร. โดยตำแหน่ง และ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีสัดส่วนเท่ากัน
2. ให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มีหน่วยงาน นิติกรและเจ้าหน้าที่สนับสนุนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) นำบทบัญญัติในส่วนของการคัดเลือก คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ไปใช้บังคับเพื่อให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันโดยอนุโลม
4. ปรับปรุงตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เลื่อนไหลสามารถเจริญก้าวหน้าในสายงานสืบสวนสอบสวนไปจนถึงระดับผู้บังคับการ (คืนแท่งงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547) และมีมาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา
5. การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในระดับสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ ให้ยึดหลักอาวุโส 50%
ผู้มีบทบาทสำคัญสนับสนุนร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ นอกจากพล.ต.อ.เอกแล้ว ยังมี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ฯลฯ เข้าร่วมด้วย
การผลักดันมีการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ดังกล่าวได้รับการเสนอแนะเพิ่มและมีข้อท้วงติว จากนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นว่าการไม่ให้นายกรัฐมนตรีนั่ง เป็นประธาน ก.ตร. ไม่อาจแก้ปัญหาการเมืองล้วงลูก การโยกย้ายแต่งตั้ง โดยเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้
"ถ้าจะแก้ยังมีอีกหลายที่ที่ต้องแก้ยิ่งจะแก้เพื่อป้องกันการแทรกแซงมีอีกหลายจุด ไม่ใช่แก้เฉพาะตำแหน่งประธาน ก.ตร.ที่เดียว และคนเราถ้าจะแทรกแซง มันก็แทรกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเอาใครมาเป็น การแก้ไม่ได้ช่วยเรื่องของฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง" นายวิษณุ ระบุ
อย่างไรก็ตามนายวิษณุ เห็นว่าหากจะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ควรใช้ของเดิมที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ แล้วแก้บางจุดโดยเฉพาะที่เกิดการประนีประนอมกันในสภา เพื่อให้มันผ่านๆไป ก็กลับไปทบทวนจุดเหล่านั้น ส่วนจะเป็นประเด็นใดจำไม่ได้ แต่มันเยอะมาก ใช้เวลาเป็นวันที่จะพูด
สำหรับ10ประเด็น"การปฏิรูปตำรวจ"ที่นายวิษณุกล่าวถึง เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสภา มีการผ่านความเห็นชอบเป็นวาระครม.เมื่อ 30ก.ค.2550 โดยพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่ง รักษาราชการผบ.ตร.ในช่วงเวลานั้นร่วมเป็นกรรมการพิจารณาด้วย สรุปได้ดังนี้
1.กระจายอำนาจการบริหารงาน เสนอให้กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่หน่วยงานระดับรอง ให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีสถานะ "เสมือนเป็นนิติบุคคล" ที่มีความคล่องตัวและเบ็ดเสร็จในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ โดยประเด็นนี้ได้มีการทำตามข้อเสนอไปบางส่วนแล้ว
2.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจ ทั้งในระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับสถานีตำรวจ ประเด็นที่ผ่านมามีเฉพาะคณะกรรมการนโยบายตำรวจระดับชาติ คือ ก.ต.ช. แต่ไม่ได้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นแต่เพียงคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบการตั้ง ผบ.ตร.เท่านั้น
3.การสร้างกลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ เสนอให้มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปฏิบัติงานของตำรวจ ให้เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้คำชี้ขาดของคณะกรรมการมีผลในทางกฎหมาย ประเด็นนี้ยังไม่มีการดำเนินการ
4.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจไปให้หน่วยอื่น คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจเห็นว่า ภารกิจหลักของตำรวจมีอยู่ 3 ข้อ คือ การถวายความปลอดภัย, การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่วนภารกิจอื่นนอกเหนือจากนี้ ถือเป็นภารกิจรอง เสนอให้โอนไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ เป็นต้น
5.การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน เสนอตั้งหน่วยงานสอบสวนส่วนกลาง พัฒนาด้านวิชาการให้พนักงานสอบสวนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ, ปรับปรุงสายงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงตามสายการบังคับบัญชาและการเมือง, กำหนดค่าตอบแทนใหม่โดยเทียบเคียงกับบุคลากรของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม
6.การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ เสนอให้โอนภารกิจรองให้หน่วยงานอื่น, เน้นการดำเนินการเชิงป้องกันอาชญากรรม และแบ่งขนาดสถานีตำรวจใหม่ ให้จัดรูปแบบงานในโรงพักเป็นแบบ "จุดเดียวเบ็ดเสร็จ" หรือ one-stop service
7.การพัฒนากระบวนการสรรหา การผลิตและพัฒนาบุคลากรตำรวจ เสนอให้ยกฐานะโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสถาบันการศึกษาวิชาการตำรวจ เน้นหลักสูตรตำรวจสมัยใหม่ เพิ่มคุณวุฒินักเรียนพลตำรวจ
8.การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ เสนอให้แยกบัญชีเงินเดือนของข้าราชการตำรวจออกจากบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนทั่วไป เพื่อให้มีระดับเงินเดือน ค่าตอบแทนเทียบเท่ากับบุคลากรของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และมีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน
9.การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน เสนอให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่สามารถพัฒนาตนเอง เพิ่มคุณวุฒิถึงระดับปริญญาตรี ควรได้รับการเลื่อนระดับขึ้นเป็นชั้นสัญญาบัตรโดยเร็วที่สุด ประเด็นมีการดำเนินการแล้ว นอกจากนั้นให้เปิดเส้นทางความก้าวหน้าของชั้นประทวนให้สามารถขยับขึ้นสู่ชั้นสัญญาบัตรได้อย่างชัดเจน ลดความถี่ของชั้นยศในระดับชั้นประทวน ให้เหลือ "ดาบตำรวจ" เพียงยศเดียว
10.การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรม เสนอให้มีการตั้ง "สถาบันส่งเสริมหลักนิติธรรม" ขึ้นเป็นหน่วยงานรูปแบบพิเศษ เพื่อพัฒนากิจกรรมขับเคลื่อนสังคมให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.