"วิรุตม์" เห็นต่างกฤษฎีกาชี้บิ๊กโจ๊กต้องหาคดีอาญาให้ออกราชการไว้ก่อนได้
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ตามบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อนโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมนั้น เป็นข้อสังเกตที่ไม่ได้ถาม ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและสร้างปัญหาในการปฏิบัติราชการ
เนื่องจากการที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร.สั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวกตำรวจรวม 5 คน ออกจากราชการไว้ก่อนก็ด้วยเหตุว่า "ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรง"จึงเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาคือ ผบ.ตร.สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 131 และควร"ทำกับตำรวจทุกคนทุกระดับ"ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอยู่ระหว่างต่อสู้คดีหรือรอผลคดีถึงที่สุด" ซึ่งทั้งการสอบสวน การสั่งคดีของอัยการและการพิจารณาของศาลทั้งสามศาลต้องใช้เวลานานรวมไม่ต่ำกว่าห้าปี
ทั้งนี้ ก็เพื่อมิให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะเป็น"ตำรวจ"ต่อไปหลังตกเป็น"ผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรง" เนื่องจาก"ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชน" รวมทั้งอาจนำตำแหน่งหน้าที่ไปใช้สร้างความเสียหายต่อทางราชการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ "จึงไม่จำเป็นต้องรอผลการสอบสวนทางวินัย"อีกตามมาตรา 120 แต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นกรณีที่ตำรวจทำผิดวินัยร้ายแรงโดยไม่เป็นความผิดอาญา เช่น ท้าตีท้าต่อยผู้บังคับบัญชา หรือประมาททำให้ทรัพย์สินราชการเสียหายร้ายแรง ฯลฯ
เหตุผลที่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการหรือพักราชการได้ไม่ต้องรอผลการสอบสวนทางวินัย ก็เพราะเมื่อตำรวจกระทำความผิดอาญาจนตกเป็นผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็นการการจับการกระทำผิดซึ่งหน้า ถูกออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหา หรือศาลออกหมายจับ ย่อมถือว่ามีพยานหลักฐานจากการสอบสวนน่าเชื่อว่ากระทำความผิดระดับหนึ่งแล้ว มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าการสอบสวนทางวินัยด้วยซ้ำ
ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตว่าควรรอฟังความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนก่อนตามมาตรา 120 เป็นเรื่องในหมวด 7 “การดำเนินการทางวินัย” คือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรงอย่างเดียว โดยยังไม่มีหลักฐานจากทางใดว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ จึงจำเป็นต้องรอฟังความเห็นคณะกรรมการสอบสวนก่อน ต่างจากการตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาที่ผ่านการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาพอสมควรแล้วจนกระทั่งถูกแจ้งข้อหาหรือศาลออกหมายจับ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.