'บิ๊กโจ๊ก'ฟ้องนายกฯปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบปมสั่งให้ออกจากราชการ

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รองผบ.ตร. เปิดเผยว่า จะขอต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม หลังถูกดำเนินการทางวินัยและให้ออกจากราชการเนื่องจากมองว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาถูกดำเนินการโดยไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ในการต่อสู้บนกติกา และไม่กังวลเชื่อมั่นว่าจะได้กลับมาอีกครั้ง 

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นการตรวจสอบโดยไม่ชอบมีการกลั่นแกล้งเนื่องจากไม่ให้ผมเป็น ผบ. ตร  และวันนี้ขอกล่าวหานายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ แต่ไม่ขอเอ่ยว่าไม่ชอบด้วยเรื่องอะไร หากผมผิดจริงผมจะออกเลย แต่ต้องสอบสวนอย่างเป็นธรรมแต่วันนี้การสอบสวนไม่เป็นธรรมผมจึงต้องสู้" อดีต รองผบ.ตร ระบุ
 

ป.ป.ช.ลั่นไม่ทำเอกสารหลุด

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือมาสัปดาห์ที่แล้ว คงต้องตรวจสองข้อเท็จจริงว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร้องคัดค้านในเรื่องใดบ้าง และก็คงต้องขอไปดูข้อกฎหมายก่อน เพราะเหตุคัดค้านเวลามีเรื่องกัน ก็คงต้องไปดูเรื่องส่วนได้เสีย มีสาเหตุโกรธเคืองกันหรือสาเหตุใดก็ตาม ก็มักจะเป็นเหตุคัดค้านตามข้อกฎหมาย ส่วนหลังจากมีการคัดค้านจะต้องสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่ถูกคัดค้านก่อนหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าคงต้องรับฟังเหตุผล เพราะนี่เป็นแค่คำร้อง ต้องดูคำร้องระบุอย่างไร  ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย


เมื่อถามว่า เอกสารหลุดออกมาได้อย่างไรนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช. ถามกลับว่า "ตัวเขาเอาไปให้ผู้สื่อข่าวเองหรือเปล่า ไม่ใช่ ป.ป.ช. แน่ๆ ผมไม่รู้นะอันนี้" 

ส่วนรายละเอียดในสำนวนมีข้อหาเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้นจะต้องรับไว้ดำเนินการเองหรือส่งสำนวนกลับไปให้ตำรวจดำเนินการนั้น ก็คงต้องดูอีกทีหนึ่ง และขอดูก่อนว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่

'วันนอร์'แนะฟ้องศาลฎีกาฯคดีอาญานักการเมือง 

ขณะที่ นายนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า กรณีที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ขอให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องของกรรมการ ป.ป.ช.รายหนึ่งที่มีความขัดแย้งกับตนเองไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการ ป.ป.ช.รายนี้ว่า ตามประมวลจริยธรรม และการตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. หากกรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดเอง ผู้ร้อง สามารถร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรงด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยตรง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบได้ทุกองค์กร ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า องค์กรใดตรวจสอบอย่างไร แต่เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอื่น ดังนั้น กฎหมายจึงระบุไว้ว่า เมื่อมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ก็ให้ร้องโดยตรงไปถึงศาลฎีกาฯ ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ซึ่งในกระบวนการในการพิจารณา เมื่อเรื่องร้องเรียนแล้ว สำนักงานศาลฎีกา จะตรวจสอบว่าคำร้องดังกล่าว มีมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งหากศาลฯ รับไว้พิจารณา ก็เข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป 

ส่วนกระบวนการของรัฐสภา จะมีการตรวจสอบกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าวย้อนหลังด้วยหรือไม่ เนื่องจากในเอกสารของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีการอ้างถึงการวิ่งเต้นของกรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการคัดสรรด้วยนั้น ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ยังไม่มีการตรวจสอบ แต่ในกระบวนการสรรหากกรรมการ ป.ป.ช. มีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว และเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้น ก็ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยอีกขั้นตอนหนึ่ง

(แฟ้มภาพเก่าประกอบเนื้อหาข่าว)


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.