ผ่าผลศึกษาเปิด Entertainment Complex ชงใบอนุญาตแสนล้าน ลุ้นนำร่องอีอีซี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28มี.ค. เวลาประมาณ 13.00น. ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) จะมีการประชุมพิจารณา รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่องศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร(Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ตามที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ได้ศึกษาแล้วเสร็จ

เนื้อหารายงานผลการพิจารณามีความยาวมากกว่า 168 หน้า แบ่งเป็นหมวดหมู่ด้านต่างๆอีก 5 บท มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งเชิงบวก เชิงลบ ข้อห่วงใยจากกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปง. เช่นเดียวกับการศึกษารูปแบบการเปิดกาสิโน เอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ จากหลายประเทศที่ได้เปิดไปแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว พร้อมกับคาดการณ์ ต่อผลบวกทางเศรษฐกิจ หาก ญี่ปุ่น ก่อสร้าง เปิดธุรกิจในลักษณะนี้ได้สำเร็จ 
 

มีการหยิบยกกรณี ประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดให้สถานบันเทิงครบวงจรต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆอย่างเข้มงวด เพื่อให้อุตสาหกรรมสถานบันเทิงครบวงจรเป็นไปอย่างมีระเบียบและปลอดภัย โดยสัดส่วน จีดีพี อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 4 สร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นประมาณ 20,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 10 ของรายได้จากภาคบริการ ของสิงคโปร์ ในปี ค.ศ. 2022 สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน กว่าร้อยละ 30 ได้ไปเยี่ยมชม สถานบันเทิงแบบครบวงจร มูลค่าการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศญี่ปุ่น จะก่อสร้างสถานบันเทิงครบวงจรในโอซากะ เตรียมเปิดทำการ ในปี ค.ศ. 2029 ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 492,000 ตารางเมตร โดยคาดการณ์ว่าจะดึงดูด นักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 520 พันล้านเยน รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การสร้างสถานบันเทิงครบวงจร จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางรวมกันกว่า 1 ล้านล้านเยนต่อปี และสร้างอาชีพให้กับประชาชนกว่า 1.5 หมื่นตำแหน่ง ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติ แผนก่อสร้างสถานบันเทิงครบวงจร 3 แห่ง คือ เมืองโอซากะ คาดว่าจะสร้างเสร็จ ในปี ค.ศ.2029 ส่วนเมืองนางาซากิ จะสร้างเสร็จในปี ค.ศ.2030 และเมืองฟุกุโอกะ จะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 2031
 

 

ขณะเดียวกัน ยังเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในบทที่ 5 สรุปผลการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตุ ซึ่งเป็นการ สรุปผลการพิจารณาศึกษา จากการศึกษา เรื่อง การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่ คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการไปแล้วนั้น สามารถสรุปผลได้ในแต่ละด้าน 

ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการหารายได้เข้ารัฐ 

อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม Fun economy ซึ่งรวมตั้งแต่การท่องเที่ยว กีฬา สถานบันเทิง ธุรกิจไมซ์ (MICE) ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น Meetings, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing), และ Exhibitions เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun economy ทั่วโลกมีขนาดตลาดสูงถึง 13.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ประเทศไทยสามารถที่จะมีศักยภาพในการต่อยอดอุตสาหกรรม Fun economy ผ่านการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร ที่เป็นสถานที่ ซึ่งประกอบธุรกิจสถานบันเทิงหลายประเภท เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว ศูนย์การประชุม ศูนย์การจัดแสดงสินค้า สวนสนุก ร้านอาหาร แลนด์มาร์ค เป็นต้น ร่วมกับกาสิโน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่และเพิ่มเติมรายได้เข้าประเทศ ในขณะเดียวกันสถาน บันเทิงครบวงจรจะเป็นการนำธุรกิจกาสิโนเข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐานภายใต้การควบคุมของกฎหมาย และมีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง รัฐยังสามารถใช้รายได้ที่ จัดเก็บจากสถานบันเทิงครบวงจรเพื่อเยียวยาปัญหาการเสพติดการพนัน พัฒนาสังคมและ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และปราบปรามการพนันผิดกฎหมายที่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ของประชาชน 

สำหรับการจะเปิดให้มีสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ในประเทศไทยนั้น ในด้านการลงทุนและการหารายได้เข้ารัฐ อาจให้มีใบอนุญาตในหลายๆ ประเภทแบ่งตามมูลค่าการลงทุน ได้แก่ size S, M, L และ XL ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกใบอนุญาตควรมีประเภทเดียว ได้แก่ ใบอนุญาต size XL (มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 100,000 ล้านบาท) การให้ใบอนุญาต size อื่นๆ จะมีการพิจารณาเป็นลำดับถัดไป 

หากการอนุญาตชุดแรกประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อดึงดูดสถานบันเทิงครบวงจรที่มีคุณภาพ และ มาตรฐานสูงลงทุนในประเทศไทยก่อนอันเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสถานบันเทิงครบ วงจรประเภทอื่นๆ ที่จะตามเข้ามาในอนาคต ซึ่งการออกใบอนุญาตในการลงทุนสร้างสถานบันเทิงครบวงจร หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ให้ระยะเวลา ใบอนุญาต 10 ปี ประเทศสิงคโปร์ให้ระยะเวลา 17 ปีมาเก๊าให้ระยะเวลา 20 ปี เป็นต้น 

โดยระยะเวลา 20 ปี อาจเป็นที่น่าดึงดูดให้มีการลงทุน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้ใบอนุญาตแบบถาวร ถึงแม้ว่าจะมีบางประเทศใช้รูปแบบนี้ เช่น เมืองลาสเวกัส เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมและกำกับดูแลกิจการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอาจจะทำให้ขาดแรงกระตุ้นให้กิจการเหล่านี้ขยายการลงทุนในอนาคต การต่ออายุหลังจาก 20 ปีแรก ควรกำหนดให้มีการต่ออายุทุกๆ 5 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบาย กำหนด เช่น ต้องมีแผนการขยายการลงทุนตามขนาดที่นักลงทุนกำหนด การต่ออายุทุกๆ 5 ปี เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำอื่น ๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์ซึ่งกำหนด ทุก 3 ปี และมาเก๊าซึ่งกำหนดทุก 10 ปี เป็นต้น 

ทั้งนี้ ควรจะมีการตั้ง “ภาษีกาสิโน” โดยเฉพาะ โดยคิดจากรายได้ขั้นต้น จากการเล่นพนัน (Gross Gambling Revenue; GGR) กล่าวคือ รายได้หลังการหักค่าใช้จ่าย เบื้องต้นที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพัน ซี่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ แต่ละประเทศมีการเก็บภาษีกาสิโนในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เก็บภาษีกาสิโนที่อัตราร้อยละ 10 ของ GGR ประเทศสิงคโปร์มีการเก็บที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 17 ของ GGR และมาเก๊า มีการเก็บมีอัตราการเก็บที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 35 ของ GGR เป็นต้น 

ซึ่งสำหรับประเทศไทยรัฐอาจจะเก็บอัตราภาษีเฉลี่ยในระดับที่ใกล้เคียง กับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 แต่ทั้งนี้อำนาจในการกำหนดอัตราภาษีดังกล่าว ควรอยู่ที่คณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจะมุ่งเป้าหมายรายได้หลักของธุรกิจสถานบันเทิงครบ วงจรต้องมาจากธุรกิจกาสิโนเป็นหลัก เพื่อให้ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรมีความอย่างยั่งยืน และสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ และเพิ่มเติมรายได้เข้าประเทศจึงควรมีการ กำหนดอัตราส่วนพื้นที่ธุรกิจกาสิโนต่อพื้นที่ธุรกิจอื่นๆ อย่างเหมาะสม

ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตอนหนึ่งยังระบุ เกี่ยวกับพื้นที่ด้วยว่า

พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจะตั้งเป็นสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) พื้นที่นั้นๆ จะต้องมีความพร้อมในหลายๆ ประการ เช่น ต้องอยู่ใกล้กับสนามบิน มีระบบการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐาน สามารถรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากได้ และควรอยู่ใกล้สถานที่ที่ได้รับ ความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์การแสดงนิทรรศการต่างๆ เป็นต้น โดยมองถึงพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบเพื่อให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกันในพื้นที่นั้นๆด้วย อย่างไรก็ตาม สถานบันเทิงครบวงจร ต้องไม่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน และสถานที่มีความสำคัญทางศาสนา หรือมีคุณค่าทางจิตใจ และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่สำคัญต้องคำนึงถึงถึงผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก ที่จะเกิดขึ้นกับวิถีทางสังคมของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ 

หากจะมีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ควรพิจารณาถึงรูปแบบการลงทุนที่เปิดกว้าง ลงทุนร่วมกันกับเอกชน หรือการให้สัมปทานหรือ ให้ใบอนุญาตกับเอกชน จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ และรัดกุม โดยมองถึงประโยชน์ สูงสุดที่รัฐและประชาชาชนจะได้รับ 

การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) บางส่วนอาจเป็น การส่งเสริมรูปแบบธุรกิจ Gaming ในรูปแบบกาสิโนออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งอาจมีส่วนที่ ครอบคลุมถึงการซื้อขายหุ้น สกุลเงิน หรือการเทรดหุ้น ไปจนถึงเกมออนไลน์อีสปอร์ต และโดยเฉพาะกรณีการพนันแบบออนไลน์ รัฐบาลต้องเน้นควบคุมการเข้าถึงทั้งจากภายในและ ภายนอกราชอาณาจักร ต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง การแทรกแซงประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการห้ามการเข้าถึงเว็บไซต์พนันออนไลน์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการกับบุคคลต้องห้ามในประเทศไทย ดำเนินการควบคุมธุรกรรม ทางการเงินผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งอาจจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการฟอกเงิน หรือเป็นช่องทางแหล่งบ่มเพาะปัญหาอาชญากรรม
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.