เปิดรายงานป.ป.ช.เขย่าบอร์ดเงินดิจิทัลเลื่อนถกไม่มีกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีมีการเลื่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนวันและเวลาการประชุมใหม่จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ต่อมาทั้งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเนียบรัฐบาลก่อนการประชุมครม. ว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนประชุมออกไปเพราะได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงต้องการให้มีการพิจารณาไปในคราวเดียวกันกับกรณีความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่รัฐบาลจะออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตีความด้านกฎหมาย เรื่องคำว่า “วิกฤต”และ“จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (16ม.ค.2567) ทาง ป.ป.ช. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต  เพื่อเสนอต่อที่ประชุม จำนวน 177 หน้า สรุปรวมความเห็นว่ามีประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย กรณีจะแจกเงินให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยแสดงแหล่งที่มาของเงินกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในช่วงของการหาเสียงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)ว่าไม่ได้มาจากการกู้เงินโดยนำเงินจากงบประมาณ
 

แต่ต่อมาเมื่อจัดตั้งรัฐบาลในคราวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เงื่อนไขการแจกเงินเปลี่ยนไป โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 1 หมื่นบาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปที่รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท คาดว่ามีผู้ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน โดยแหล่งที่มาของเงินได้มาจากการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท อ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจ 

ป.ป.ช.เห็นได้ว่าการเสนอนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีความแตกต่างและจนถึงบัดนี้การดำเนินการตามนโยบายก็ไม่มีความชัดเจน หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่ปรากฏว่าเป็นหน่วยงานใด เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เป็นการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และกฎหมายจึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ อาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 73 (1) หรือมาตรา 136 วรรคหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงกรณีความเสี่ยงต่อผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของโครงการ ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการกำหนดเงื่อนไขในการขึ้นเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อาจจะมีความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องศึกษา วิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมกับต้องมีขั้นตอน วิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนให้โครงการฯ สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ที่เห็นว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ตามนิยามวิกฤตเศรษฐกิจของธนาคารโลก การจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า
 
ขณะเดียวกันมีประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพราะการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 71 และ 75 นอกจากนี้ยังต้องรักษามาตรฐานด้านวินัยการเงินการคลัง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ด้วย ขณะเดียวกันการกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ มีการบัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

ทั้งนี้จากข้อมูลประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ได้ผลสรุปชัดเจนแล้วว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในระยะปานกลาง ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าปี 2568 กรณีไม่รวมโครงการ ขยายตัวร้อยละ 3.1 กรณีรวมโครงการขยายตัวร้อยละ 2.8 ประกอบกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไข

ดังนั้นหากรัฐบาลจะดำเนินการตรา พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงควรได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะผิดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และดำเนินการภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมาย


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.