'สว.สมชาย'เตือนอย่าดันทุรังแจกเงินดิจิทัลเสี่ยงซ้ำรอยจำนำข้าว

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เป็นเอกสารสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องรับฟังเพราะคล้ายกรณีโครงการรับจำนำข้าวซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่วิกฤต และยังได้อ้างอิงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และข้อกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ที่มีข้อเสนอให้คำนึงถึงความคุ้มค่า และมีกระบวนการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต จึงขอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลฯ
พิจารณาให้รอบคอบ 
 

"ในรายงานได้อ้างอิงถึงเศรษฐกิจโลก และระบุคล้ายกับกฤษฎีกา ที่ระบุถึงนิยามวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ที่จะต้องตราพระราชกำหนดการกู้เงิน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเป็นวิกฤต ก็มีนัยยะว่า จะต้องตราเป็นพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. และการกู้เงิน 1 ครั้ง และจ่ายเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่โครงการต่อเนื่อง แม้จะมีระยะเวลาการใช้งานเงินดิจิทัล 6 เดือน แต่จะต้องมีการใช้หนี้ต่อเนื่อง 4-5 ปี จึงไม่เข้านัยยะตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53"
 

ส่วนกรณีรัฐบาลอ้างทำงบประมาณไม่ทันนั้น นายสมชาย ระบุว่า กฤษฎีกา ได้มีความเห็นว่า หลังคณะรัฐมนตรีเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนกันยายน2566  ยังได้มีการปรับปรุงร่างงบประมาณจากรัฐบาลก่อน และให้หน่วยรับงบประมาณ ส่งข้อมูล ภายใน 6 ตุลาคม 2566 โดยมีการปรับปรุง และเพิ่มจ่ายรายอีกกว่า 100,000 ล้านบาท ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม2566 ดังนั้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ไม่ทัน 

เมื่อพิจารณาความเห็นของ ป.ป.ช. และกฤษฎีกาแล้ว พบว่าไปในทิศทางเดียวกันหากรับฟังอย่างตรงไปตรงมาไม่ดันทุรัง ก็เชื่อน่าจะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองเพื่อให้ทบทวนโครงการนี้และนำเงิน 500,000 ล้านบาทไปใช้จ่ายให้ตรงเป้า เช่น ป.ป.ช.เสนอให้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 14 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากกลุ่มเปราะบาง และนำเงินที่เหลือไปต่อยอดโครงการในอดีต เช่น คนละครึ่ง การจ้างงานในชนบท หรือจ้างงานนักศึกษาตกงาน ส่งเสริมทักษะให้กับประชาชน เป็นต้น 

นายสมชาย ยังเห็นว่า หลังนายกรัฐมนตรี กลับจากการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม World Economic Forum (WEF) ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม2567 ก็ไม่ควรเดินทางแล้ว และเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เพราะรัฐบาลทำงานมาแล้ว 4 เดือนกว่า แต่การแก้ปัญหา ยังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหาและใช้เวลาให้มาก จะเป็นเซลล์แมนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังไม่มีอะไรให้ไปขาย และควรเร่งทำผลงาน 4 เดือนให้เกิดเนื้องานก่อน เมื่อเกิดเป็นชิ้นงานแล้ว ค่อยนำไปขายให้กับต่างประเทศ และการเป็น CEO บริษัท ไม่จำเป็นต้องไปขายของเอง อาจมอบหมายให้รัฐมนตรีคนอื่น ๆ ไปแทนก็ได้ 
 
นายสมชาย ระบุด้วยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไม่วิกฤต แต่อยู่ในภาวะฝืดเคืองหลังโควิด ถ้ารัฐบาลให้ความสนใจ หรือมุ่งมั่นมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าไทยจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่หากรัฐบาลมัวไปมุ่งเรื่องดิจิทัลวอลเลตหรือจะตราเป็นพระราชบัญญัติ ก็เชื่อว่าจะไม่แล้วเสร็จสมัยประชุมนี้ และอาจมีผู้ยื่นตีความศาลรัฐธรรมนูญให้ถูกตีตกจนกลายเป็นเสียเวลาเปล่า ดังนั้น จึงอย่าดันทุรัง และนำสติปัญญาไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชน เพราะประเทศติดกับดักรายได้ปานลาง และกำลังพัฒนามานานเกินไป
 
"หากรัฐบาลยังยืนกรานเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลต ก็จะซ้ำรอยโครงการรับนำจำข้าวแน่นอน เพราะ ป.ป.ช.ได้มีความเห็นมาแล้วว่า จะเกิดปัญหาขึ้น หากรัฐบาลดื้อดึง ความเห็นเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นพยานในศาล ทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องติดคุก จึงขอให้รัฐบาลชี้แจงให้ประชาชนว่า ไม่สามารถทำได้ และให้ทำเรื่องอื่นแทน เพื่อเร่งแก้ไขเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน" นายสมชาย กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.