ประชาธิปัตย์จี้สภาฯแก้ปัญหาทุเรียนเร่งออกกฎหมายควบคุมคุณภาพ

นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน โดยมี สส.จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงนามเสนอญัตติดังกล่าว จำนวน 20 คน
 

ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปี 2565 มูลค่าส่งออกจำนวน 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นพืชผลการเกษตรที่ส่งออกทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว

ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่ มีทั้งที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และที่ปลูกโดยนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ทำให้ต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงานภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร  

อย่างไรก็ตาม ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ หากใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงใช้การขอความร่วมมือ การออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัด โดยอิงมาตรฐานทางวิชาการ ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับ พ.ร.บ. มาบังคับใช้โดยเฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายทั่วไป อาทิประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 47 ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด

ทั้งนี้หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนเป็นการเฉพาะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภาครัฐไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนโดยเฉพาะมาบังคับใช้เพื่อการส่งเสริม การพัฒนา การแก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจรเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับต้น ๆ และประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง เหนือประเทศคู่แข่ง  แต่ปัจจุบันจึงยังไม่มีกองทุนทุเรียนไทย ที่สามารถหักเงินจากการส่งออกทุเรียนเข้ากองทุน เหมือนยางพาราที่มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน  มีเงินทุนมาศึกษาวิจัย พัฒนา เกี่ยวกับทุเรียนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 นี้ จะให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ให้มีความมั่นคงต่อไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.