เปิด 3 มาตรการกำหนดโทษ 'เหตุยิงพารากอน' เท่าทันยุคหรือหวั่นซ้ำรอย

จากเหตุยิงที่พารากอน ที่มีอายุเพียง 14 ปี ทำให้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวกฎหมายสำหรับเด็กและเยาวชนที่จะมาใช้กับผู้กระทำความผิดไปต่างๆ นานา แต่ข้อเท็จจริงของเรื่องราวทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร? แม้ข่าวคราวจะเงียบหายไปพร้อมกับสถานการณ์โลกที่คุกรุ่น รวมไปถึงการได้รับข่าวว่าตัวผู้กระทำความผิดอยู่ในสถานพินิจ และพ่อแม่ไม่ขอยื่นประกันตัวนั้น แท้จริงขั้นตอนดังกล่าวยังอยู่ในขั้นก่อนฟ้อง! ยังมีระยะทางอีกมากกว่าจะไปถึงบทสรุปของการกระทำผิดครั้งนี้ ซึ่งมีข้อกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจน

 

PostToday จึงขอไขข้อกระจ่างผ่านบทสัมภาษณ์ อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน

 

ฐานคิดของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน อ้างอิงอนุสัญญาสิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2535!

 

ก่อนที่จะรู้กันว่าคดียิงพารากอนน่าจะมีแนวทางอย่างไรทางกฎหมาย สิ่งที่ประชาชนควรรับรู้ก่อนคือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนมีฐานคิดที่ต่างจากการพิจารณาคดีของผู้ใหญ่

 

‘ฐานคิดซึ่งเป็นหลักการสากลตามอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งมีฐานคิดว่า ต้องแยกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กออกจากผู้ใหญ่ เพราะมองว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของมนุษยชาติ และควรจะได้รับการคุ้มครอบจากครอบครัวและสังคม’ อาจารย์ณัฏฐพรอธิบายถึงที่มาที่ไปของกฎหมาย ก่อนจะลงลึกถึงคำอธิบายว่าทำไมต้องต่างกัน

 

‘ลักษณะการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนจะมีข้อแตกต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ คือเด็กจะมีการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่น ควบคุมตัวเองได้ต่ำและมีวุฒิภาวะน้อย ความยับยั้งชั่งใจหรือลักษณะการตัดสินใจต่างๆ อาจจะมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องมาจากปัจจัยของครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กตามวงจรชีวิต ดังนั้นด้วยการกระทำความผิดของเขา จึงเป็นอะไรที่มีข้อจำกัด

 

แตกต่างจากผู้กระทำผิดผู้ใหญ่ ที่สามารถตัดสินใจได้อิสระ และมีวิจารณญาณ คิดไตร่ตรองและตัดสินใจได้ โดยตัวลำพัง ถ้าใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน อาจจะไม่ได้มีความยุติธรรมในมุมของเด็ก นอกจากนี้ถ้าลงโทษแบบผู้ใหญ่ เด็กก็จะได้เข้าไปอยู่ในคุกผู้ใหญ่ อาจจะทำให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมการกระทำความผิดในคุกผู้ใหญ่  ซึบซับการกระทำความผิดและเมื่อออกมาก็อาจเป็นอาชญากรเต็มตัวได้'

 

จากฐานคิดดังกล่าวจึงทำให้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายของเด็กและผู้ใหญ่ มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

 

‘กลุ่มผู้กระทำความผิดกลุ่มที่เป็นเด็ก จึงมีการใช้ลักษณะกระบวนการยุติธรรมที่เน้นการแก้ไข ฟื้นฟู พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางสังคม เน้นให้พวกเขาสำนึกผิด และกลับคืนสู่สังคมอย่างเป็นพลเมืองดีอีกครั้ง

 

ส่วนกระบวนการยุติธรรมของผู้ใหญ่จะเน้นการลงโทษ เพื่อให้สาสมกับความผิด เรียกว่า การแก้แค้นทดแทน และมีการป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำด้วย คือ ตัดไม่ให้เกิดการกระทำความผิดอีก เช่น จำคุกหรือประหารชีวิต’

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ณัฏฐพร ได้ให้ข้อสังเกตว่า สำหรับผู้กระทำความผิดที่มีอายุตั้งแต่ 15 -18 ปีนั้น แม้จะถูกพิจารณาโดยใช้กระบวนการยุติธรรมที่เน้นการแก้ไข ฟื้นฟู มากกว่าการลงโทษให้สาสมกับความผิด แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า ก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือตัดออกจากสังคมช่วงหนึ่งไม่ต่างจากผู้ใหญ่

 

‘ การแก้แค้นทดแทนหรือลงโทษให้สาสมกับความผิดเราจะนึงถึงการจำคุกใช่มั้ยครับ จำกัดสิทธิเสรีภาพให้อยู่ในพื้นที่จำกัด  สำหรับเด็กกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็มีลักษณะเดียวกันเหมือนกัน คือ ศาลจะมีคำสั่งให้ฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรม และมีการกำหนดระยะเวลา

 

สำหรับในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟูนั้น ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่ามีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดบ้าง และจะมีการวางแผนบำบัดฟื้นฟูไว้อย่างรอบด้าน จะดูทั้งปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ และภาวะทางจิตสังคม  เช่น เด็กมีภาวะออทิสติกส์ ขาดการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือมีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติ เด็กมีภาวะติดสารเสพติด ครอบครัวมีความรุนแรงหรือไม่ โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือไม่ ศาลก็จะนำสิ่งเหล่านี้มาวางแผนและจัดทำการฝึกอบรมควบคู่กับให้เด็กได้รับการศึกษาและฝึกอาชีพ

 

 

เหตุยิงพารากอน เมื่อผู้กระทำความผิดอายุแค่ 14 ปี กฎหมายทำอะไรได้บ้าง?

 

‘ ผู้กระทำความผิดอายุ 14 ปี ตามข้อกฎหมาย กำหนดให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ก็ถือว่าไม่ถึงขั้นพ้นโทษไปเลย แต่จุดที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมก็คือ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74’

 

แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 จะมองว่า ผู้ที่กระทำความผิดอายุเกิน 12 แต่ไม่เกิน 15 ปี ที่เรียกว่า วัยรุ่นตอนต้น นั้นมีลักษณะของการกระทำที่รู้สำนึกแล้ว มีการคิดไตร่ตรองและรู้ว่าผลการกระทำคืออะไร ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างไร ซึ่งต่างจากเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ซึ่งยังมีพัฒนาการด้านความคิดและสติปัญญาไม่สมบูรณ์  แต่ผลทางอาญากลับมองว่าไม่ต้องรับผลทางกฎหมายเหมือนกลุ่มเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี

 

‘ ผมขอเจาะไปที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 ที่กำหนดวิธีการสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ก็จะกำหนดไว้ 3 มาตรการอย่างเคร่งครัด คือ

  • มาตรการแรก ว่ากล่าวตักเตือนบิดามารดาที่ดูแลและปกครองเด็ก
  • มาตรการที่ 2 คือ มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดา หรือในกรณีที่อยู่กับคนอื่น และใช้มาตรการป้องกันไม่ให้เด็กก่อเหตุซ้ำ คือ มีข้อกำหนดให้ผู้ปกครองทำข้อกำหนดว่าต้องดูแลไม่ให้เด็กทำความผิดซ้ำ ถ้าทำผู้ปกครองจะต้องวางเงินต่อศาลจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปีนี้ ก็คือใช้เงินในการบังคับผู้ปกครอง
  • มาตรการที่รุนแรงที่สุดคือ มาตรการที่ 3 กรณีนี้ศาลสามารถสั่งให้เด็กไปอยู่ในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมได้จนถึงอายุ 18 ปี  

 

อาจารย์ณัฏฐพรอธิบายว่า จากมาตรการดังกล่าวที่กำหนดขึ้นเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน เพราะมาตรการที่ใช้ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และทำให้สังคมตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่า กฎหมายมีบทลงโทษที่สาสมกับความผิดหรือไม่ และเป็นการคุ้มครองผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนมากไปกว่าผู้ที่เสียหายจากเหตุการณ์นี้หรือไม่

 

‘ นี่คือข้อสังเกตสำคัญ … ส่วนมาตรการที่ 3 ศาลก็ต้องปล่อยเด็กไปอยู่กับพ่อแม่ มีข้อสังเกตว่า เมื่อเด็กอายุครบ 18 ปี ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาหรือประเมินพฤติกรรมเด็กว่า เมื่อเด็กครบกำหนดแล้ว พฤติกรรมของเด็กดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ทำได้แค่เพียงปล่อยตัวไปตามกฎหมายอาญามาตรา 74 นี้'

 

คำถามคือ การแก้ไขและฟื้นฟูที่กฎหมายตั้งใจจะให้เกิดขึ้นกับตัวเด็ก จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?

ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีเด็กจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริงหรือไม่ กระบวนการฟื้นฟูนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาอีก และทำได้เพียงแค่ปล่อยตัวไป

 

' สุดท้ายด้วยกฎหมายมาตรา 74 นี้ ก็มีข้อจำกัดบางประการ ที่ทำให้สังคมรู้สึกว่ากฎหมายไม่ได้ลงโทษได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และไม่ได้ตัดเด็กที่มีพฤติกรรมร้ายแรงออกจากสังคม ก็จะทำให้สังคมรู้สึกไม่ปลอดภัย และแน่นอนว่ารู้สึกไม่ยุติธรรมด้วย’

 

 

หมายความว่า วิธีการนี้ เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองทำผิดหรือไม่?

 

‘ ในมุมของผม วิธีการสำหรับเด็กในส่วนมาตรา 74 นี้ ไม่รัดกุมพอ สำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมอุกอาจ และร้ายแรงต่อสังคม’ อาจารย์ณัฏฐพร ให้ความเห็นอย่างชัดเจน

 

‘ ด้วยข้อจำกัดที่พูดไปข้างต้น ก็กลายเป็นว่าเด็กได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองแบบเดิม … ควรต้องมีการประเมินด้วยว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง มีความพร้อมในการดูแลเด็กหรือไม่  ถ้าพ่อแม่มีปัญหา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ ก็ต้องประเมิน ถ้ารับตัวไปแล้วดูแลไม่ได้ เด็กก็จะไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สำนึก และหวนไปกระทำความผิดซ้ำได้ ซึ่งมันมีหลักการในทางจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่นมีผลวิจัยว่า

 

ยิ่งเด็กกระทำผิดอายุน้อยมากเท่าไหร่ จะยิ่งกระทำความผิดซ้ำมากเท่านั้น

 

แน่นอนว่าถ้าทำตั้งแต่ตอนวัยรุ่นตอนต้น และมาตราการกฎหมายไม่รัดกุมพอ พ่อแม่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะดูแลให้กลับเนื้อกลับตัวได้ แน่นอนว่าเสี่ยงต่อการกลับมาทำความผิดซ้ำ และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม

 

สรุปคือ ผมค่อนข้างกังวลกับมาตรา 74 ตรงนี้’

 

อันที่จริงแล้วตอนที่ทาง PostToday ติดต่ออาจารย์เพื่อขอสัมภาษณ์นั้น เรามีประเด็นถามที่ค้างอยู่ในใจว่า

กฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น

ยังคงมีประสิทธิภาพและเท่าทันสภาพสังคม หรือเด็กในยุคนี้หรือไม่?

 

ในมุมผมวัยรุ่นตอนต้นปัจจุบัน มีกระบวนการคิดตัดสินใจ มีวิจารณญาณรู้สำนึกคล้ายกับวัยรุ่นตอนกลางหรือตอนปลายแล้ว  ถ้าเราไปดูกฎหมายมาตรการทางอาญาของเด็กที่ทำความผิดในวัย 15-18 ตามมาตรา 75 ศาลจะพิจารณาความรู้สึกผิดชอบทั้งปวงว่าควรลงโทษเด็กหรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่ก็จะใช้มาตรา 74 ถ้าศาลเห็นว่าควรลงโทษ เพราะอุกอาจ ก็จะใช้มาตรการทางอาญาแต่จะลดอัตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่ง’

 

 

แนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เท่าทันกับสังคมและเหตุการณ์

 

อาจารย์เสนอ 2 แนวทางที่มองไว้ว่าหากมีการแก้ไขข้อกฎหมายควรทำอย่างไร

 

‘ ในมุมผม ถ้าพฤติการณ์ของเด็กมีลักษณะคล้ายวัยรุ่นตอนปลาย ถ้าจะพิจารณาข้อกฎหมาย อาจจะมีการยุบรวมได้หรือไม่ คือใช้มาตรการ 75 ศาลสามารถดูจากพฤติกรรมการทำความผิดว่ารู้สำนึกหรือไม่ ถ้าไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลเห็นสมควรลงโทษได้ทางอาญา โดยไม่ต้องใช้วิธีการสำหรับเด็ก นี่อาจจะเป็นแนวทางการแก้ไขกฎหมายในอนาคตเพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบัน

 

หรือไม่ก็เป็นในลักษณะที่ว่า แก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติม โดยการนำพยานหลักฐานมาหักล้างข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ถ้าข้อกฎหมายมองว่า เด็กที่อายุ 12-15 ไม่ต้องรับโทษ หมายความว่า เรามองว่าเด็กทำโดยไม่รู้สำนึก เพราะฉะนั้นถ้าเด็กรู้สำนึกในการทำ รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำคืออะไร ไตร่ตรองไว้ก่อน กฎหมายอาจจะบัญญัติไว้ได้ว่า อัยการอาจจะนำหลักฐานนี้มาหักล้างว่าเด็กรู้สำนึกและใช้มาตรการทางอาญาที่เหมาะสม เช่น อาจจะกำหนดให้เด็กฝึกอบรมในสถานกักกัน และคุมประพฤติที่เข้มข้นมากกว่านี้’

 

ท้ายนี้ อาจารย์ณัฏฎพรย้ำว่า แนวทางที่เสนอนั้นก็เพื่อการควบคุมและจัดการกับเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคม นอกจากนี้ยังสามารถทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยด้วย นอกจากการดูแลและคุ้มครองเด็กเพียงอย่างเดียว.

 

ขอขอบคุณ

อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.