กำจัดขยะสุดคูลด้วยหนอนแมลงวันลาย (BSF) บนเกาะสีชังแบบ “Food Loss Food Waste”
ขยะ หรือ Waste เป็นหัวใจของแทบทุกกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในโลกนี้ เพราะขยะเป็นสิ่งใกล้ตัวเราที่สุด มนุษย์หนึ่งคนในทุกวินาทีผลิตขยะได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการส่งมันออกจากตัวเองสู่สภาพแวดล้อม หลายคนคิดว่า “ถังขยะ” อาจคือปลายทางของขยะทุกชิ้นบนโลก เมื่อทิ้งมันลงในนั้นก็จบ แต่ความจริง วงจรของขยะยังไปไกลกว่านั้น….
ในปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 25.70 ล้านตันต่อปีของประเทศไทยเมื่อปี 2565 เป็นขยะที่เกิดจากเศษอาหารถึง 60% มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 8.80 ล้านตัน เกิดคำถามว่า มีวิธีอะไรที่กำจัดขยะจากเศษอาหารได้บ้าง นอกจากการฝังกลบในหลุมขยะและการเผา และยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
ปีนี้ ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “Power Green Camp” โดย บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นปีที่ 18 แล้วถ้าเทียบเป็นคนก็กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่สำแดงพลังด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ค่ายเยาวชนจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะ “สร้างคน” ที่จะเป็นขุมพลังด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป สอดคล้องกับธีม CSR “การพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพคน”
แนวคิดแกนหลักในปีนี้ก็คือเรื่องของ "ขยะ" ในหัวข้อ “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 21 ตุลาคม 2566 ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ได้นำเสนอผลงานของ วิสาหกิจเพื่อสังคม "เบตเทอร์ฟลาย" (Batterfly) และผู้ประกอบการ “Food Loss Food Waste” กิจการที่เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีมูลค่า ด้วยการนำเสนอธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ มาร่วมให้ความรู้กับเยาวชนทั้ง 50 คนที่คัดเลือกมาจากทั่วประเทศ ในเรื่องการกำจัดขยะบนเกาะสีชัง
รู้จัก Betterfly & Food Loss Food Waste
กิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม "Food Loss Food Waste" และ “เบตเทอร์ฟลาย” (Betterfly) เลือกใช้วิธีจัดการขยะจากเศษอาหารด้วยการใช้หนอน ชนิดที่เรียกว่า “Black Soldier Fly” ชื่อย่อว่า "BSF" ชื่อไทยว่า “หนอนแมลงวันลาย” มาเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ย ที่ได้จากมูลหนอน BSF และ อาหารสัตว์ (แมลงตัวเต็มไวจากหนอน) เป้าหมายคือ เพื่อลดการฝังกลบและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในชุมชน
เริ่มดำเนินการในพื้นที่เกาะสีชังเป็นที่แรก และเป็นโครงการแรกของประเทศที่ใช้หนอน BSF มาจัดการขยะอินทรีย์ชุมชน โดยที่คนในชุมชนสามารถนำเศษอาหารเหลือทิ้ง เช่น เปลือกผลไม้ เศษผัก เศษอาหารทะเล และอาหารเหลือทิ้งอื่นๆ มามอบให้ที่โรงเรือนนวัตกรรมสร้างคุณค่า Organic Waste ได้ทุกวัน โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันสามารถจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชนเกาะสีชังไปแล้วเกือบ 7,000 กิโลกรัม
แม้จะเป็นสัดส่วนไม่มากหากเทียบกับปริมาณขยะระดับตันที่ผลิตออกมาในแต่ละวัน แต่ก็เป็นวิธีที่รักษ์โลกมากที่สุดวิธีหนึ่งในวงจรการกำจัดขยะอินทรีย์ และยังสามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อีก
คุณตฤณ รุจิรวณิช ผู้ก่อตั้ง Food Loss Food Waste Thailand ได้เล่าถึงโครงการต่อไปในอนาคตว่า มีความตั้งใจจะขยายสเกลการกำจัดขยะเศษอาหารด้วยหนอน BSF ไปสู่ระดับ Commercial Scale และ Industrial Scale ต่อไปหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นอกจากพื้นที่บนเกาะสีชัง "Betterfly" ก็ได้เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงหนอน BSF ให้กับชุมชนบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ในการแยกขยะอินทรีย์และนำขยะอินทรีย์ที่ได้มาเป็นอาหารหนอน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผลไม้ โรงแรม และประชาชนในพื้นที่
คุณตฤณ เล่าว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม Betterfly เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อธันวาคม พ.ศ.2565 เปิดดำเนินการจริงจังเมื่อกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม Food Loss Food Waste Thailand (บริษัทแคนนาฟลาวเวอร์ จำกัด) และบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ
1. เพื่อลดขยะอินทรีย์ไปที่หลุมฝังกลบบนเกาะสีชังลดจำนวนแมลงวันบ้าน ลดก๊าซมีเทน ลดการเผา
2. เพื่อการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์กลับมาใช้ในการเกษตร
3. สามารถแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะอื่นๆ เพื่อลดขยะทั่วไปและนำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 กล่าวว่า
“ปัญหาขยะในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกระยะของวงจรชีวิตของขยะทุกประเภท ดังตัวอย่างที่สำคัญคือ ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงเลือกโฟกัสกับประเด็นการจัดการปัญหาขยะและการส่งเสริมให้เยาวชนก้าวเข้ามาเป็นกรีนอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อขยายกำลังคนที่สามารถช่วยสื่อสารความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง มีความน่าสนใจและน่าติดตาม
เราเลือกออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาเรียนรู้ปัญหาขยะและแนวทางการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมนำเอาองค์ความรู้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้ามาประยุกต์ใช้ให้หลากหลาย ครอบคลุม และเกิดประโยชน์กับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเรามุ่งหวังว่า เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ จะได้สนุกไปกับประสบการณ์จากค่าย และเกิดแรงบันดาลใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.