9 เรื่องเบื้องหลัง เทศกาลกินเจ ประเพณีกินผักประจำเดือน 9
เทศกาลกินเจ เป็นประเพณีที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญมากไม้แพ้เทศกาลอื่นๆ โดยเฉพาะในชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วและจีนฮกเกี้ยนขนาดใหญ่อย่างเยาวราช ตลาดน้อย ภูเก็ต นครสวรรค์ หรือที่ตรัง เราจะได้เห็นการจัดงานเทศกาลกินเจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่และมีรายละเอียดของประเพณีที่แตกต่างกันออกไป เทศกาลกินเจ หรือที่บางจังหวัดเรียก กินผัก หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก จะจัดตรงกันทุกปีในช่วงเดือน 9 ตามปฏิทินจีน เป็นระยะเวลา 9 วัน ซึ่งการกินเจนอกจากจะมาพร้อมกับเรื่องการรักษาศีลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีมุมของเกร็ดประวัติศาสตร์ความเชื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจซ่อนอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับ 9 เกร็ดประวัติศาสตร์ตำนานเทศกาลกินเจที่ Sarakadee Lite รวบรวมมาไว้ในบทความนี้
01 ความหมายที่แท้จริงของ กินเจ
การถือศีลกินเจเป็นประเพณีตามความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน สืบทอดมาจากลัทธิเต๋า ความหมายคำว่า เจ หรือ แจ มาจากภาษาจีน แปลว่า “ไม่มีคาว” และคำว่า เจ ก็ยังมีความหมายในทางพุทธสายมหายาน หมายถึง อุโบสถ ทำให้ การกินเจ ในความหมายดั้งเดิม แปลว่า การกินอาหารก่อนเวลาเที่ยง หรือก็คือการถืออุโบสถ และด้วยความที่การถืออุโบสถของจีนส่วนมากจะไม่กินเนื้อสัตว์ ทำให้มีความเข้าใจต่อๆ กันมาว่าการกินเจคือการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง และก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของอาหารพิธีการตามกาลเวลา เช่น ไม่กินผักฉุนอย่างหอม กระเทียม กุยช่าย ผักชี และก็มีบางความเชื่อที่ว่าคนกินเจสามารถกินหอยนางรมได้ เป็นต้น
ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกพิธีกินเจว่า เก้าโหว่ยเจ และเรียกผู้เข้าร่วมพิธีว่า เจอิ๊ว หมายถึง ผู้ร่วมพิธีในชุดนุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจในโรงเจ 9 วัน ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) การเริ่มพิธีกินเจจัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 นั่นก็มาจากความเชื่อ เก้าอ๊วงฮุดโจ้ว หรือ กิ๊วอ๊วงฮุดโจ้ว ที่กล่าวว่า เทพผู้ถือบัญชีมนุษย์ จะเสด็จลงมาตรวจสอบพร้อมจดบันทึกการกระทำความดีความชั่วของมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุให้การกินเจคู่กับการถือศีล ให้มนุษย์สั่งสมกรรมดี โดยการถือศีลในช่วงกินเจมีหลักใหญ่ๆ คือ ละเว้นการเบียดเบียนชีวิตต่อทั้งคนและสัตว์ บริจาคทาน ถือศีล การรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การขอขมาลาโทษต่อสิ่งที่ตนกระทำผิด
02 ตำนานกำเนิดกินเจจากเมืองกังไส
ต้นกำเนิดของพิธีกินเจนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่มีการสืบทอดเรื่องราวเล่าต่อกันมาเป็นตำนาน แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยหนึ่งในตำนานที่มีการเล่าขานกันมากที่สุดคือ ประเพณีกินเจแห่งเมืองกังไส หรือก็คือมณฑลเจียงซีนั่นเองเรื่องมีอยู่ว่าครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุภัยธรรมชาติรุนแรงในพื้นที่เมืองกังไส เซียนหรือเทพบนสวรรค์องค์หนึ่งจึงคิดช่วยเหลือ แต่มีข้อแม้ว่าต้องดูก่อนว่าผลบุญของมนุษย์ว่ามีมากน้อยเพียงใด
เทพสวรรค์จึงได้ทดสอบด้วยการลองใจเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองกังไสซึ่งสร้างคฤหาสถ์ใหม่เสร็จแล้ว แต่ยังไม่เข้าอาศัยทันที เขาได้ตั้งปณิธานทำบุญทำทาน 100 วันแก่คนยากจน โดยยินดีให้ทุกสิ่งตามคำขอก่อนย้ายเข้าคฤหาสถ์หลังงาม เมื่อทำทานมาได้ถึง 95-96 วันแล้ว มีชายขอทานป่วยเป็นโรคเรื้อนมาขอพักอาศัยในคฤหาสถ์หลังนั้นในช่วงวันที่เหลือ เศรษฐีก็ยอมทำตามคำขอ โดยระหว่างอยู่ในคฤหาสถ์ ชายขอทานกลับทำผนังห้องต่างๆ เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำเหลืองน่าสะอิดสะเอียน แต่เศรษฐีก็ไม่ไล่เขาออก เมื่อครบกำหนดเศรษฐีจึงได้ย้ายเข้ามาอาศัยในคฤหาสน์ และพบว่าผนังที่เคยเปรอะน้ำเหลืองกลับกลายเป็นภาพสวยงาม ส่วนกลิ่นน้ำเหลืองก็กลายเป็นกลิ่นกำยานอบอวล เพราะชายขอทานคนนั้นคือเทพเซียนจำแลงกายมานั่นเอง เหตุการณ์นี้พิสูจน์ถึงจิตใจที่ดีงามของชาวเมืองกังไส เทพสวรรค์จึงชี้ทางช่วยเหลือ โดยบอกวิธีสะเดาะเคราะห์ให้ชาวเมืองประกอบพิธีกินผัก ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ รำลึกถึงวิญญานบรรพบุรุษ เพื่อช่วยปกป้องคุ้มภัย อันเป็นต้นกำเนิดประเพณีกินเจจากตำนานในเมืองกังไส
บรรยากาศเทศกาลกินเจในภาคใต้ที่มีการอัญเชิญและแห่เทพเจ้า
03 ตำนานกินเจของชาวฮกเกี้ยน
อีกตำนานการกินเจเชื่อว่าเริ่มต้นที่มณฑลเอ้หมึง ในสมัยกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องที่มีหน้าฉากเป็นพิธีกรรมทางศาสนาบังหน้าการเมือง (ราชวงศ์ซ้องปกครองจีนในช่วงปี พ.ศ.1503-1822) ว่ากันว่าหลังเกิดเหตุกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องทำอัตวินิบาตกรรม ระหว่างเสด็จหนีภัยสงครามจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะไต้หวัน เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ซ้อง ราชวงศ์หยวนได้ขึ้นมาครองบัลลังก์ แต่ชาวฮกเกี้ยนที่อยู่ในแผ่นดินยังรำลึกถึงบูรพกษัตริย์ราชวงศ์ซ้อง และได้จัดพิธีรำลึกแบบลับๆ โดยมีฉากหน้าเป็นพิธีทางศาสนาถือศีลกินเจ ถือเป็นจุดเริ่มของประเพณีกินเจในตำนานของชาวฮกเกี้ยน ซึ่งใช้ สีเหลือง ซึ่งสีประจำราชสำนักเป็นสีหลักในการประกอบพิธีกรรมเพื่อรำลึกถึงราชวงศ์ซ้อง และเป็นที่มาว่าทำไมจึงใช้ธงสีเหลืองและสีเหลืองเป็นสีหลักของเทศกาลกินเจ
ส่วนหนึ่งของพิธีก่อนเริ่มเทศกาลกินเจ
04 ตำนานกินเจกับ เทพผู้ถือบัญชีมนุษย์
อีกหนึ่งตำนานของการกินเจถูกผูกโยงกับสมัยพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ยิ่นฮ่องสี (ยิ่นฮ่องสี แปลว่า ผู้เป็นเจ้าแห่งมนุษย์) ซึ่งถือว่าเป็นผู้วิเศษมี 9 องค์พี่น้อง เชื่อว่าเมื่อทั้ง 9 องค์สวรรคตจากโลกมนุษย์แล้วก็ไปจุติเป็น ดาวจระเข้ 9 ดวงเรียงกัน ชาวจีนนับถือเป็นเทพ 9 องค์โดยเรียกว่า เก้าอ๊วงฮุดโจ้ว หรือ กิ๊วอ๊วงฮุดโจ้ว หมายถึง เทพผู้ถือบัญชีมนุษย์ ซึ่งจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อตรวจสอบพร้อมจดบันทึกการกระทำความดีความชั่วของมนุษย์ในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เพื่อประกอบการพิจารณาบันดาลให้มนุษย์มีชะตากรรมตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละคน เป็นที่มาของประเพณีถือศีลกินเจทำบุญทำทานสั่งสมกรรมดี
และนั่นจึงเป็นที่มาของ พิธีอัญเชิญกิ้วอ๊วงฮุดโจ๊ว โดยจะทำหนึ่งวันก่อนเริ่มงานประเพณีกินเจ ตรงกับในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 เพื่อให้ลงมาประทับใน ตั๊ว ซึ่งอยู่ภายในเขตโรงเจ การประกอบพิธีนิยมทำกลางแจ้ง อาจจะเป็นด้านหน้าโรงเจ ส่วนบนโต๊ะพิธีวางกระถางธูป เทียนคู่ เครื่องเซ่น ที่เรียกว่า เจไฉ่ และ ปวยแท่ง ไม้รูปคล้ายเรือสองแท่งประกบคู่กัน เพื่อเสี่ยงทาย ในวันทำพิธี พระสงฆ์ นิกายมหายาน เริ่มพิธีสวดมนต์ และโยนปวยคู่เสี่ยงทาย ถ้า ปวยตกพื้น อันหนึ่งคว่ำ อันหนึ่งหงาย แสดงว่า กิ้วอ๊วงฮุดโจ้ว เสด็จลงมาประทับที่ตั๊วแล้ว ผู้ทำพิธีจุดธูปปักในกระถางธูปบนโต๊ะเพื่ออัญเชิญไปประทับบนแท่นบูชาด้านในโรงเจ จากนั้นมีการชักธงผ้าสีเหลือง ขึ้นสู่เสาสูงหน้าตั๊ว จุดไฟในตะเกียงน้ำมันแขวนไว้บนยอดเสา ตลอด 9 วัน 9 คืนของพิธีกินเจ
06 ทำไมกินเจต้องห้ามกินพืชผักกลิ่นฉุน 5 อย่าง
หลักการสำคัญในทางธรรมของการกินเจ คือ การกินที่ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ไม่มีคาว งดการกินเลือด กินเนื้อสัตว์ อาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์รวมถึง นม นมข้น ไข่ เพราะถือว่าไข่หากรอเวลาจะฟักเป็นตัว ถือเป็นการกินเนื้อสัตว์ทางอ้อม เป็นการชำระใจให้บริสุทธิ์ ส่วนในด้านสุขภาพนั้นการงดเนื้อสัตว์ ช่วงกินเจ 1 ครั้งในรอบหนึ่งปี ถือว่าเป็นการชำระกาย แม้การกินเจจะกินได้แต่ผัก แต่ก็มีข้อห้ามกินพืชผักกลิ่นฉุน ได้แก่ ต้นหอม หัวหอม กระเทียม กุ้ยช่าย รวมถึงผักชี และบางความเชื่อก็ห้ามโหระพา ตามความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่าพืชผักเหล่านี้มีสารพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกายคน เช่น ต้นหอมหรือหัวหอม ทำลายธาตุน้ำส่งผลไตทำงานไม่ปกติ กระเทียมทำลายธาตุไฟทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ กุ้ยช่ายทำลายธาตุไม้มีผลต่อตับเป็นต้น ทั้งนี้อาหารเจยังห้ามเครื่องเทศกลิ่นแรงเพราะถือว่าเป็นอาหารกระตุ้นกำหนัด เป็นอุปสรรคต่อการรักษาศีล
บะหมี่หวาน อาหารเจขึ้นชื่อประจำตลาดน้อย
07 อาหารเจต้องแยกภาชนะ
อีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลกินเจที่หลายคนปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ การแยกภาชนะและเครื่องครัวสำหรับอาหารเจโดยเฉพาะ โดยความเชื่อนี้เล่าว่ามาจากตำนานสมัยราชวงศ์ไต้เหลียง มีกษัตริย์นามว่า พระเจ้าบูตี่ ทรงนับถือสมภารรูปหนึ่งอย่างมาก และรับสั่งให้พระมเหสีจัดอาหารถวายสมภารทุกวัน พระมเหสีไม่พอพระทัยกับภาระนี้จึงกลั่นแกล้งสมภารด้วยการทำซาลาเปายัดไส้หมูและเนื้อวัวถวาย แต่ท่านสมภารรู้ทัน จึงให้ลูกศิษย์นำซาละเปาใส่ย่ามไปวางไว้ที่หน้าประตูวัด ต่อมาเพียงชั่วเวลาไม่นานก็มีต้นหอม กระเทียม และผักชี งอกขึ้นมาบริเวณนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ในช่วงเทศกาลกินเจไม่กินต้นหอม กระเทียม และผักชี และมีการแยกภาชนะเพื่อไม่ให้มีการปะปนกับอาหารทั่วไป
08 กินเจไม่ใช่แค่กินผัก อยากได้ผลบุญต้องรักษาศีล 8
ในทางพุทธมหายาน คำว่า เจ มีความหมายว่า อุโบสถ หมายถึงการถือศีลลงอุโบสถของพระสงฆ์นั่นเองข้อปฏิบัติที่แท้จริงของผู้กินเจจึงไม่ใช่แค่กินผัก ปราศจากเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องถือศีลอุโบสถ หรือ ศีล 8 ควบคู่กัน โดยการละเว้นอาหารที่มาจากสัตว์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาศีลเท่านั้น
09 ธงเจ เตือนใจ
ในช่วงเทศกาลกินเจเราจะสังเหตเห็นธงสีเหลืองเขียนอักษรจีนสีแดงตรงกับภาษาไทย ว่า “ใจ” โดยการใช้ สีเหลือง หมายถึงสีของผู้ทรงศีล (ในตำนานต้นกำเนิดกินเจของชาว ฮกเกี้ยน สีเหลืองอิงกับสีของสถาบันกษัตริย์) ส่วน สีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อของชาวจีน การปักธงเจเพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจว่าการกินเจนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมชำระกายใจให้บริสุทธิ์
อ้างอิง
นิตยสารสารคดี เดือนพฤศจิกายน 2539พฤศจิกายน 2531 เมษายน 2538 และตุลาคม 2537
คลังความรู้ เวบไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา “เจกับมังสวิรัติ”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.