สังเกตพฤติกรรมผู้สูงวัย ‘โรคสะสมของ’ ระดับไหนต้องได้รับการเยียวยา

มีผลวิจัยระบุว่ายิ่งอายุมากขึ้น ผู้สูงวัยจะยิ่งมีพฤติกรรมเก็บสะสมของมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จะมีพฤติกรรมสะสมของมากขึ้นกว่า 6.2 เปอร์เซนต์

 

การแยกแยะระหว่างคนที่มัธยัสถ์ และใช้สิ่งของให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับพฤติกรรมสะสมของนั้นสามารถแยกได้ง่ายๆคือ

 

‘หากมีการเก็บสะสมของที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ปริมาณมาก’

 

นั่นคือสิ่งบ่งชี้ของพฤติกรรมที่ผิดปกติ หรือหากการทิ้งของบางอย่างสามารถสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจที่มากเกินไป นั่นก็เป็นสัญญาณว่าผิดปกติเช่นกัน

 

ปัญหาของ ‘โรคสะสมของ’ ไม่ได้กระทบต่อสุขภาพจิตเท่านั้นแต่ยังสามารถก่อให้เกิดผลเสียด้านสุขอนามัยอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาความสัมพันธ์ของคนที่บ้าน ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนไปถึงอุบัติเหตุอย่างที่ไม่อาจคาดคิดได้

 

 

ทำไมการกักตุนของถึงแย่ลงในวัยสูงอายุ?

 

พฤติกรรมดังกล่าวจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้นในวัยสูงอายุ  แม้จะไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนมากนั้น แต่สามารถคาดเดาได้ว่า สาเหตุนั้นเกิดจากความซับซ้อนทางอารมณ์บางประการ เช่น ผู้สูงวัยมักจะนำการกักตุนของมาเป็นเครื่องมือในการรับมือกับความรู้สึกบางอย่าง โดยเฉพาะความรู้สึกที่นึกถึงเรื่องราวในอดีต  บางคนอยากจะสะสมของเพราะรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ตนเองควบคุมได้ ไม่เหมือนวัยหรือสังขารที่ร่วงโรยหรือปัญหาในบ้านอื่นๆ ที่บางครั้งผู้สูงวัยก็ถูกกีดกันออกจากการร่วมตัดสินใจ รวมไปถึงสามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้

 

โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมแยกตัวออกไปจากสังคม ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมการสะสมของที่มากขึ้นด้วย เพราะของบางอย่างสามารถเชื่อมโยงตัวผู้สูงอายุกับสภาพแวดล้อมหรือบางสิ่งบางอย่างข้างนอก ในช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกเหงาได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือภาวะซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ก็มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมสะสมของมากขึ้นด้วย

 

 

5 ระดับความรุนแรงของพฤติกรรมสะสมของ

 

โรคสะสมของถูกแบ่งความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับด้วยกัน มีรายละเอียดและจุดสังเกตดังนี้

   1.  ระดับที่วางของเกะกะ  คือระดับน้อยที่สุดของโรค หมายถึงอาจจะยังไม่มีความเสี่ยงที่จะสะสมของ แต่บ้านไม่เป็นระเบียบ ค่อนข้างไม่ถูกสุขลักษณะในบางเรื่อง แต่เจ้าของบ้านหรือผู้สูงอายุรับรู้และยังคงดูแลอย่างสม่ำเสมอ โดยบ้านที่มีสุขลักษณะที่ดีนั้นต้องดูตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ  สามารถใช้บันได ประตูและหน้าต่างได้ทั้งหมด ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีการระบายอากาศที่เพียงพอ สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ๆเหมาะสม และไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

 

    2.  เสี่ยงต่อการเป็นโรคะะสมของ  พฤติกรรมในระยะนี้คือ ทางออกมีของวางขวางไปหมด มีอุจจาระและเส้นขนของสัตว์เลี้ยงตามบางส่วนของบ้าน มีปัญหากับระบบไฟฟ้าและประปา หรือมีจุดขยะล้น จานสกปรก มีเชื้อราเติบโตในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องได้รับการทำความสะอาดเพื่อให้บ้านมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น

 

    3.  เกิดความผิดปกติอย่างชัดเจน  แม้จะเห็นว่าขั้นที่ 2 ก็ดูสร้างปัญหาให้แก่สุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยแล้ว แต่ถ้าหากยังไม่แก้ไข ก็สามารถมีแนวโน้มที่จะผิดปกติได้มากขึ้นไปอีก โดยในระยะสามนี้จะเห็นถึงการกักตุนอย่างเด่นชัด  มีแมลง มด แมลงสาบ หรือเหาอยู่ตามบ้าน กองสิ่งของเริ่มเข้ามารุกล้ำพื้นที่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการพัง เกิดการรั่วหรือแตกหักของสิ่งของภายในบ้าน หรือมีห้องหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมัน  ซึ่งการแก้ไขนั้นคือ เจ้าของบ้านหรือผู้สูงวัยควรได้รับการปรึกษากับแพทย์ได้แล้วในขั้นนี้

 

     4.  ระยะของการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน   ระยะนี้การสะสมของอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างของบ้าน มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและขยะที่มากเกินไป และมีสิ่งของกีดขวางทางเข้าออก รวมไปถึงอาหารเปื่อยและเน่าคาจาน มีกลิ่นจากจุดบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องได้รับการทำความสะอาด ควบคู่กับการปรึกษาทางด้านนักจิตวิทยาโดยด่วน เพราะหากผู้สูงอายุมีพฤติกรรมถึงระยะนี้จะมีความรู้สึกไม่สบายใจหากมีคนบอกให้ทิ้งทรัพย์สินของตน

 

     5. โรคสะสมของอย่างรุนแรง  ระยะนี้คือการสะสมของส่งผลต่อด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสุขอนามัยได้เช่น กักตุนของมากเกินไปจนกระทบกับความสัมพันธ์ บางคนทำให้เกิดการหย่าร้าง หรือขับไล่ออกจากบ้าน ระยะนี้จะมีสภาพบ้านที่ไม่สามารถอยู่ได้ และสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงดูก็อาจจะตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกับผู้อยู่อาศัย เพราะเชื้อรา โรคที่มาจากความสกปรกต่างๆ โครงสร้างบ้านที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น

 

วิธีการช่วยเหลือผู้สูงอายุให้หลุดพ้นจาก ‘โรคสะสมของ’

 

เมื่อเข้าสู่ภาวะโรคสะสมของ สิ่งที่ต้องทำคือไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อใช้วิธีการบำบัดทางจิตเข้าช่วยเหลือ นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมหรือครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

 

สิ่งสำคัญคือต้องรอให้ผู้สูงอายุเปิดใจรับการช่วยเหลือ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำความสะอาดและนำบ้านให้กลับมาน่าอยู่ดังเดิมซึ่งควรจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยที่ต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึง อย่าทำความสะอาดห้องนอนเป็นลำดับแรก เพราะห้องนอนถือเป็นพื้นที่ที่ยากที่สุด เพราะมีความสำคัญมากที่สุด ควรจะเริ่มจากห้องครัวหรือห้องน้ำก่อนตามหลักงานวิจัย นอกจากนี้การเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ก็จะทำให้ผู้สูงวัยไม่เครียดจนเกินไป และในกระบวนการทำความสะอาดจะต้องให้ผู้สูงวัยเป็นผู้ตัดสินเองในทุกขั้นตอน ผู้ที่ช่วยเหลือเป็นเพียงผู้โน้มน้าวเท่านั้น เพื่อให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เสมือนเป็นการบำบัดรักษาอย่างหนึ่งด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.