“เขาคลังใน” คลังสมบัติทางโบราณคดีสมัยทวารวดีที่ศรีเทพ
เชื่อว่าคนไทยหลายท่านคงจะตื่นเต้นและดีใจไม่ต่างกับผม ที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา และทำให้ศรีเทพกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันที่จะมาที่นี่ให้ได้สักครั้งหนึ่ง
เมื่อทุกท่านเดินทางมาถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เมืองในทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะมีบริการรถรางนำชมหรือถ้าหากท่านใดชื่นชอบการปั่นจักรยานก็สามารถปั่นจักรยานรอบเมืองและใช้เวลาเดินชม ถ่ายรูป หลุมขุดค้นและตัวโบราณสถานได้อย่างเต็มที่ ครั้งนี้ผมเลือกปั่นจักรยานครับ
เมื่อเราปั่นจักรยานมาถึงพื้นที่กลางเมืองใน เราจะพบตัวโบราณสถานสำคัญ 3 แห่ง คือ เขาคลังใน ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพ โดยครั้งนีเผมจะเน้นที่ตัวโบราณสถาน “เขาคลังใน” เพราะจุดนี้ถือเป็นหลักฐานการเริ่มต้นสังคมเมืองของศรีเทพในสมัยทวารวดี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ เมื่อประมาณพันสองร้อยปีที่แล้ว
จากการศึกษาโบราณสถานเขาคลังใน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2447 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่เมืองศรีเทพและได้มีพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” กล่าวถึงตัวโบราณสถานกลางเมืองว่า
“ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถานและมีโคกดินปนศิลาแลงซึ่งแสดงว่าเคยเป็นโบราณสถาน”
ต่อมาในปี พ.ศ.2521 กรมศิลปากรขุดแต่งเขาคลังใน โดยพบลักษณะงานสถาปัตยกรรม คือ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก กว้างประมาณ 44 เมตร ยาว 76 เมตร สูง20 เมตร จากการขุดแต่งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกได้พบร่องรอยการก่อเรียงศิลาแลงเป็นแนวยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งอาจจะเป็นแนวขอบฐานชั้นนอกสุดหรือเป็นแนวขอบทางเดินของโบราณสถาน ถัดขึ้นไปเป็นลักษณะการก่อเรียงศิลาแลงตั้งสูงขึ้นไปจนถึงยอดและมีอิฐกระจาย นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุหลายชิ้น อาทิ เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น ชิ้นส่วนปูนปั้นลายกนกและลายก้นหอย ชิ้นส่วนมือเทวสตรีทำจากศิลาทรายสีเขียว ถ้วยตะคันดินเผา เศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ (ศรีทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์,หน้า 43-44) จากนั้นกรมศิลปากรก็ได้มีการขุดค้น ขุดแต่ง รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์เขาคลังในเรื่อยมา
จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี กล่าวได้ว่า ที่ตั้งของ เขาคลังใน ตั้งอยู่กลางเมืองในที่มีลักษณะเป็นคูน้ำคันดินรูปทรงค่อนข้างกลมล้อมรอบอันเป็นลักษณะการสร้างเมืองแบบทวารวดีที่เป็นการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูก การที่เขาคลังในตั้งอยู่กลางเมืองอาจสะท้อนให้เรารับทราบเกี่ยวกับคติศูนย์กลางของจักรวาลซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแนวคิดการสร้างมหาธาตุประจำเมืองโดยเฉพาะบ้านเมืองที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
ตัวโบราณสถานมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกคล้ายคลึงกับแผนผังของโบราณสถานหมายเลข 18 วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี มีทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก ตรงฐานทำเป็นลักษณะของฐานเขียง ชั้นเขียงและประดับเส้นลูกแก้วขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่า “ฐานบัววลัย”
ถัดขึ้นมา เป็นประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบกประดับอยู่ตามห้องต่างๆ โดยประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบกที่ศรีเทพนั้นมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบกในวัฒนธรรมทวารวดีที่อื่น คือ ศีรษะของคนแคระนั้นมีลักษณะศีรษะของสัตว์มงคลผสมอยู่ เช่น ช้าง สิงห์ ลิง สีหน้าท่าทางมีอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกหนัก หรือ ยิ้ม หรือ แสดงท่าทางเหาะ มีการประดับเครื่องประดับต่างๆ เช่น ต่างหูขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของวัฒนธรรมทวารวดีผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดคงเป็นจินตนาการของช่างที่ศรีเทพที่ต้องการใส่ความเป็นเอกลักษณ์ งานช่างศิลปะ เชื่อท้องถิ่น และอารมณ์ของศิลปินลงไป
คนแคระนั้นมีความหมายเชิงบวกทั้งผู้ที่ปกปักรักษาตัวศาสนสถาน ความอุดมสมบูรณ์ (จากลักษณะร่างกายของคนแคระ คือ ลักษณะพุงพลุ้ย) ร่ำรวยเงินทอง พบในศิลปะอินเดียมาตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณจนถึงสมัยคุปตะ ในศรีลังกา ศิลปะสมัยอนุราชปุระ มีการทำประติมากรรมคนแคระเป็นทวารบาลตั้งอยู่ด้านหน้าซ้ายขวาของประตูทางเข้า คือ ปัทมนิธิและสังขนิธิ เฉกเช่นเดียวกับหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์หรือปุรณฆฏะ
นอกจากนี้ยังมีงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาที่สวยงาม อาทิ ลายกระหนกผักกูด ลายดอกกลมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ และลวดลายเหล่านี้ยังปรากฏบนงานศิลปวัตถุหลายชิ้น เช่น ธรรมจักร อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13 จัดแสดงอยู่ด้านหน้าเขาคลังใน โดยธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแผ่และยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ยังมี ลายก้านขดมัดเป็นช่อๆ ซึ่งไปคล้ายคลึงกับศิลปะที่ปราสาทบันทายสรี กัมพูชา ราวพุทธศตวรรษที่15-16 สำหรับตรงกลางและส่วนยอดของเขาคลังในพังทลายลงมาไม่สามารถศึกษารูปแบบของตัวเจดีย์ด้านบนได้ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงหม้อน้ำหรือทรงปราสาท ก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของเขาคลังใน เมืองศรีเทพ ที่ทุกท่านสามารถไปเห็นได้ด้วยตาตัวเองและจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ สวยงามของโบราณสถานแห่งนี้จากข้อมูลทางโบราณคดีที่ทำให้ทุกท่านเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งศาสนา ศิลปะ แนวคิดจากศิลปะอินเดีย ทวารวดี เขมร รวมถึงคนศรีเทพเองก็มีรูปแบบแนวคิด ความเชื่อ รวมถึงงานศิลปะที่เป็นของตัวเองและนี่คือความลงตัวและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีที่ศรีเทพที่ไม่เหมือนใคร มาศรีเทพ มาดูเขาคลังในกันนะครับ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.