ไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี จัดประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่”
หลายครั้งที่เรามักจะหยอกล้อคนอื่นด้วยความคึกคะนอง เพียงเพื่อเรียกเสียงหัวเราะสร้างความสนุกสนานให้กับคนรอบข้าง โดยไม่รู้ตัวว่าได้สร้าง “บาดแผลในใจ” ให้กับคนที่ถูกกระทำ ซึ่งจริง ๆ แล้ว นั่นคือการ “บูลลี่” (Bully) ที่หลายคนรู้จักกันดี
แม้สังคมไทยจะเริ่มตระหนักถึงปัญหาการ “บูลลี่” แต่พบว่าสถานการณ์กลับมีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกันของเด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าสูงมาก! และที่น่าห่วงใย คือ ในสถานศึกษาที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะความหวาดกลัวให้กับเด็ก ๆ ที่สำคัญดูเหมือนว่าจะยังไม่มีวิธีหยุดวงจรนี้ได้อย่างจริงจัง
โดยจากการสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน ของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อปี 2563 พบว่าร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ และวิธีการที่ใช้มากที่สุดคือ การตบหัว ล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ถูกเหยียดหยาม และอื่น ๆ เช่น ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสี นินทา เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางจิตใจและร่างกาย อีกทั้งเชื่อมโยงไปถึงผลการเรียนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และที่เลวร้ายกว่านั้น หากเด็กแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหว อาจนำไปสู่การสูญเสียที่ไม่อาจหวนคืน ดังนั้น การ “บูลลี่” จึงไม่ใช่แค่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป
โครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” เดินหน้าส่งเสริมทักษะให้กับเยาวชนไทยในทุกมิติ ให้กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมถึงเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น ตระหนักถึงปัญหาการบูลลี่ของเด็กไทย จึงได้จัดประกวดโครงงาน ในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” เพื่อเปิดเวทีสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีมสร้างสรรค์โครงงานเพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ โดยกระตุ้นจิตสำนึก และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มแก้ไขจากการบูลลี่ในโรงเรียน เพื่อชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาและนำผลงานที่ชนะเลิศออกเผยแพร่ นำไปปรับใช้เพื่อลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและสังคมต่อไทย
จึงขอเชิญคุณครู อาจารย์ และน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา สมัครเข้าร่วมประกวดประเภททีม ๆ ละ 5-7 คน เพื่อส่งโครงงานเข้าร่วมประกวด โดยโครงงานที่น้อง ๆ จะได้เป็นส่วนสำคัญในการหยุดยั้งวงจรบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามที่นักเรียนให้ความสนใจ อาทิ ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้ปกครอง โรงเรียน ประเทศชาติ เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าว หวังให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ การวางแผนและการทำงานเป็นทีม อย่างเป็นระบบ โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย (มัธยมต้น 10 ทีม และมัธยมปลาย 10 ทีม) จะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 บาทต่อโครงงานที่ผ่านรอบคัดเลือก เพื่อนำโครงงานที่คิดไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน และนักเรียนจะได้นำผลการทำโครงงานในระยะเวลา 3 เดือนกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการ จากกรมสุขภาพจิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงาน กสทช. อาจารย์มหาวิทยาลัย และครีเอทีฟมืออาชีพ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินเพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา เพื่อเชิดชูเกียรติต่อไป
ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน สถาบันการศึกษาสามารถส่งน้อง ๆ เยาวชน สมัครเข้าร่วมประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” ประจำปี 2566 และเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้คุณครูสามารถส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติม ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ศึกษาดูรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครได้ที่ www.เท่อย่างไทย.com หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 06 2070 0088, 06 2070 0099
ติดตามกิจกรรมดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbfoundation.org
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.