อย่าละเลย “หนี้กยศ.” กู้มา ต้องจ่ายคืน!

เกือบทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาไทยน่าจะรู้จัก “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” (กยศ.) ไม่มากก็น้อย หรือแม้แต่ตอนนี้ บางคนก็ยังมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ของกยศ. อยู่

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนของรัฐที่ให้นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้กู้ยืมเงินเพื่อไปใช้จ่ายค่าศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนค่าครองชีพจนเรียนจบปริญญาตรี ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “เงินกู้” ไม่ใช่ “ทุนการศึกษา” ผู้กู้จึงต้องใช้หนี้คืนหลังจบการศึกษา โดยมีช่วงปลอดดอกเบี้ย 2 ปี นั่นคือ หากชำระหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 2 ปีหลังเรียนจบ ผู้กู้จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับทางกยศ. เลยแม้แต่บาทเดียว แต่ถ้าทำเช่นนั้นไม่ได้ กยศ. ก็มีระยะเวลาให้ผ่อนชำระหนี้นานถึง 15 ปี โดยจะกำหนดเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในแต่ละปี และเสียดอกเบี้ยเงินกู้เพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น

แต่ที่ผ่านมา กยศ. โดนลูกหนี้มากถึงร้อยละ 80 ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด หักหลังไม่ยอมจ่ายหนี้คืน ซึ่งนั่นไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ เลย ส่งผลให้กยศ. ขาดสภาพคล่อง จากการที่รุ่นพี่ไม่ยอมจ่ายคืนโดยอ้างเหตุผลสารพัด จึงทำให้ไม่มีเงินให้รุ่นน้องกู้เรียน

ใครก็ตามที่กำลังนิ่งดูดายกับการหนีหนี้ จึงเท่ากับเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว เพราะรุ่นต่อ ๆ ไปก็จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อไปเป็นทุนสำหรับการศึกษาต่อ ดังนั้น การไม่จ่ายหนี้คืน นอกจากจะทำให้รุ่นน้องทำเรื่องกู้ยาก เงื่อนไขในการกู้โหดขึ้น จำนวนเงินที่ได้รับแต่ละเดือนอาจไม่เพียงพอ จนถึงขั้นที่กยศ. ไม่มีเงินให้กู้อีกต่อไป รวมไปถึงรูปแบบการทวงหนี้ในอนาคตก็จะเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการกับลูกหนี้ด้วย โดยไม่อ่อนข้อให้เหมือนที่ผ่านมา

เมื่อรุ่นพี่เคยทำได้ จึงน่าหวั่นใจไม่น้อยว่าจะเกิดการส่งต่อกันแบบรุ่นต่อรุ่น และปลูกฝังต่อ ๆ กันว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายคืน เพราะในเมื่อรุ่นพี่ยังชักดาบได้ ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ ซึ่งหากคิดแบบนี้กันทุกคนก็จะเกิดผลเสียตามมาอย่างใหญ่หลวง

ในขณะที่ลูกหนี้ซึ่งมีความรับผิดชอบ ก็จะพยายามใช้หนี้คืนจนครบ แม้รายได้ไม่มากและมีภาระ บางคนไม่สามารถปลดหนี้ในช่วงปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรกได้ ก็ต้องทำใจจ่ายดอกด้วย หรือบางคนไม่ชอบเป็นหนี้นาน ๆ ก็รีบทำงานเก็บเงินใช้หนี้ให้หมดในช่วงที่ร่างกายยังแข็งแรงดี ด้วยการผ่อนคืนด้วยจำนวนเงินที่มากกว่าขั้นต่ำที่กยศ. กำหนด

วิธีการเก็บเงินเพื่อจ่ายหนี้คืนกยศ. ก็ทำไม่ยากถ้าคิดที่จะทำ เมื่อเงินเดือนออกก็ให้แบ่งเก็บเลย อาจเริ่มจากลองคำนวณเงินต้นว่าอยากให้หนี้หมดภายในกี่ปี แล้วใน 1 ปี เราสามารถชำระเงินคืนได้เท่าไหร่โดยไม่เดือดร้อน จากนั้นค่อยหารออกมาเป็นเงินที่ต้องเก็บในแต่ละเดือน ถ้ามีจิตสำนึกและวินัยมากพอ ก็จะสามารถปลดหนี้ได้หมดตามระยะเวลา

ในช่วงนี้ สถานการณ์ COVID-19 ทำให้หลายคนตกงาน กยศ. ก็เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทำให้หลายคนขาดรายได้ จึงมีมาตรการ “ลด พัก ผ่อนผัน งด/ชะลอ” เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดได้ที่ มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืม จากสถานการณ์ COVID-19)

ลด

  • ปรับลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5 % ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
  • ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน จากจำนวนที่เคยแจ้งหัก ให้กับผู้กู้ทุกรายที่ทำงานในหน่วยงานเอกชน
  • ปรับลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีในครั้งเดียว ทั้งผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว
  • ปรับลดเบี้ยปรับ 75% ให้เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี

พัก

กยศ. ให้ผู้กู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถพักชำระหนี้ได้ 2 ปี ทั้งนี้ต้องเป็นผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี

ผ่อนผัน

กยศ. ให้ผู้กู้ยืมที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ผ่อนผันการชำระหนี้ได้ ทั้งกลุ่มผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน และกลุ่มผู้มีรายได้ถดถอย

งด/ชะลอ

งดการขายทอดตลาดสำหรับทรัพย์ที่ทางกยศ. ยึดได้จากผู้กู้ยืม/ผู้ค้ำประกันตลอดปี 2563 รวมถึงชะลอการบังคับคดี

จะเห็นได้ว่า กยศ. ยินดีช่วยเหลือผู้กู้เต็มที่เพราะรู้ดีว่าผู้ที่ต้องกู้เงินเรียนมีสถานภาพการเงินอย่างไร แต่ผู้กู้ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า “เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องใช้คืน เพราะนี่คือความรับผิดชอบของเรา”

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.