มรดกโลกศรีเทพ ... เมืองพระกฤษณะที่อยู่ในบันทึกพระถังซำจั๋ง?

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน มีการนำเสนอข้อสมมติฐานที่สั่นสะเทือนวงการโบราณคดี  หลายคนอาจจะเคยเรียนกันมาหลายยุคหลายสมัยว่าศูนย์กลางของเมืองทวารวดี นั้นน่าจะอยู่บริเวณภาคกลางหรือจังหวัดนครปฐม ... แต่ก็มีนักวิชาการที่นำเสนอทฤษฎีที่แตกต่างออกไปโดยระบุว่า

 

ทวารวดีที่แท้ หรือศูนย์กลางของทวารวดีอาจเป็นที่ ‘ศรีเทพ’

 

1

‘โตโลโปตี’

 

ปรากฏในบันทึกของพระถังซำจั๋งราว พุทธศตวรรษที่ 12 เมื่อครั้งเดินทางมายังชมพูทวีป เล่าถึงแผ่นดินแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมือง ชิลิฉาตาหลอ  เกียม้อลังเกีย และ อิซางป๋อหลอ หลังจากนั้นนายแซมมวล บีล ได้แปลงคำว่า ‘โตโลโปตี’ ว่า ‘ทวารวดี’

 

และเมื่อมีการถอดภาษาใหม่ จึงได้ความว่า เมืองทวารวดีตั้งอยู่ระหว่าง เมืองศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ) ในประเทศเมียนมา ถัดจาก เกียม้อลังเกีย (ซึ่งมีการสร้างสมมติฐานว่าน่าจะเป็นที่นครปฐม ) และ อีสานปุระ (อิซางป๋อหลอ) ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน

 

ระหว่างเกียม้อลังเกียกับโตโลโปตี นั้นเป็นเรื่องราวที่นักวิชาการเรียกร้องให้เปิดเผยและลงลึกอย่างที่สุด มีหลายทฤษฎีที่ขัดแย้งกับการประกาศของภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว

 

 

เรารู้กันมาแล้วว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาที่ศรีเทพ ( อ่านเพิ่มเติม : ย้อนอดีตการค้นพบเมืองศรีเทพ .. ความหวังของยุคดำมืดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ) ณ ขณะนั้นท่านเชื่อว่า ทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม แม้ต่อมานักวิชาการยุคหลังจะไม่คิดตามนั้น  และบางท่านมีการเอ่ยด้วยซ้ำว่า บางครั้งหลักฐานทางโบราณคดีก็ถูกตีความเพื่อความเป็นรัฐชาติจากชนชั้นนำไปเสียเฉย

 

แม้จะขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ และถึงขั้นว่าชื่อ เกียม้อลังเกีย หายไปจากประวัติศาสตร์อยู่พักหนึ่ง อันนำไปสู่ข้อสรุปว่าทวารวดีอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั่นคือ นครปฐม

 

ต่อมานักวิชาการบางท่านไม่ลดละ ให้ความเห็นว่า เกียม้อลังเกีย มีอีกชื่อว่า เล่งเกียฉู่ ซึ่งสามารถแปลได้ว่า หลักแหล่งของลูกหลานมังกร หมายถึงชุมชนชาวจีนบริเวณแม่น้ำท่าจีน ขึ้นไปยังลำน้ำเมืองโบราณนครปฐม .. เพราะฉะนั้น ทวารวดี จึงควรเป็นเมืองที่ถัดมานั่นคืออยู่ในลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก! นั่นเอง

…..

 

2

เมื่อนักวิชาการหันมาที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก ก็มีหลายแนวคิดนำเสนอ แนวคิดหนึ่งบอกว่าน่าจะอยู่ที่เมืองละโว้ ลพบุรี แต่มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งปรากฎขึ้น นั่นคือ ศูนย์กลางของทวารวดี อาจจะเป็นที่ ‘ศรีเทพ’

 

 

ในปี พ.ศ.2552 ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกกัมพูชาเสนอทฤษฎีนี้ขึ้นมา โดยเหตุผลที่ว่า ทวารวดี มาจาก ทวารกา อันเป็นเมืองของพระกฤษณะ  ซึ่งเป็นร่างอวตารที่ 8 ของพระวิษณุ และที่ศรีเทพนี้ก็มีเทวรูปพระกฤษณะและพระวิษณุ ต่อมาอาจารย์ พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เสนอความเห็นที่สนับสนุนทฤษฎีนี้เช่นกันว่า ศูนย์กลางของกรุงทวารวดีนั้นไม่ใช่เมืองนครปฐมอย่างที่ทุกคนเข้าใจกันในทุกวันนี้!

 

เพราะที่ ‘ศรีเทพ’ เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะ ผู้สถาปนากรุงทวารกา หรือทวารวดี!

 

 

ประกอบกับศรีเทพตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสักซึ่งปลายเส้นน้ำนี้คือพระนครศรีอยุธยา จึงเป็นไปได้ว่านี่จะเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวสยาม และศรีเทพก็มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง

 

ความคลาดเคลื่อนเดียวที่เกิดขึ้นคือ ในเมืองศรีเทพพบศิลปวัตถุที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา แต่เป็นศาสนาพราหมณ์ และห่างไกลจากโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่นๆ ที่ตั้งอยู่รอบอ่าวไทย

 

….

 

ทวารวดี ทำไมจึงสำคัญ? ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ได้รู้ทำให้ประชาชนได้รู้รากฐานของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ศิลปกรรม รวมไปถึงพุทธศาสนาด้วยว่าเป็นเมืองที่รับอิทธิพลจากอินเดียกลุ่มแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ชื่อต่อท้ายของอยุธยา “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” อาจเป็นการนำชื่อบ้านเมืองเดิมต่อและเติมกันมา แสดงให้เห็นถึงที่มาของเมืองก็เป็นได้

 

นอกจากนี้ นักวิชาการยังเสนอว่า อย่ามองทวารวดีเป็นอาณาจักร แต่ให้มองเป็นยุคสมัย เพราะการปกครองของทวารวดีเป็นการรวมกลุ่มหลวมๆ ของนครรัฐ แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์ไหนที่ไหนมีพระบารมีมากกว่าก็จะมีศูนย์กลางอยู่ที่นั่น และกว้างขวางครอบคลุมไปทั่วทั้งไทยและกัมพูชา

 

3

ความยูนีค หรือเอกลักษณ์ของเมืองศรีเทพ ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น

 

เมื่อวานในการประกาศของ ICOMOS หรือ สมาคมวิชาชีพซึ่งดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองสถานที่อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั่วโลก และเสนอคำแนะนำต่อยูเนสโกในเรื่องแหล่งมรดกโลก เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ได้กล่าวถึงประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับ ‘เขาถมอรัตน์’

 

 

เขาถมอรัตน์ ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งภูเขา!

 

ไม่ใช่แค่การประกาศแค่พื้นที่ถ้ำซึ่งพบกับภาพแกะสลักเท่านั้น แต่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ดูแลเข้มข้นทั้งภูเขา!

 

แล้วเขาถมอรัตน์ สำคัญอย่างไร? ในประวัติศาสตร์โลก?

….

 

 

ความน่าประหลาดใจของการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณศรีเทพนั้น พบว่าโบราณสถานในเมืองบางแห่งเช่น ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังนอกระยะที่สอง หันหน้าไปยังทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ อันขึ้นโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มแห่งนี้!

 

เพราะพวกเขาเชื่อว่าภูเขาแห่งนี้คือภูเขาศักดิ์สิทธิ

 

‘ถมอ’ แปลว่า หิน ‘รัตน' แปลว่าแก้ว ความหมายของภูเขาถมอรัตน์ จึงหมายถึง เขาแก้ว อันเป็นจุดแลนด์มาร์คของคนโบราณที่ต้องการมาเยือนศรีเทพ

 

ความพิเศษของที่นี่คือ บนภูเขามีภาพแกะสลักพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ สถูปและธรรมจักร รวมทั้งหมด 11 ภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยการแกะสลักเป็นศิลปะแบบเขมรสมัยก่อนนครวัด และศิลปะแบบทวารวดี!

 

 

ในการประกาศรับรองเมื่อวาน ตัวแทน ICOMOS ได้มีถ้อยแถลงระบุว่า พื้นที่ภูเขาซึ่งเป็นสถานที่พบเห็นโบราณวัตถุของพุทธศาสนาแบบมหายานแกะสลักอยู่นั้น พบเห็นได้แห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!

 

อย่างไรก็ตามการที่ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ก็หันไปทางภูเขาลูกนี้ด้วยแม้จะคนละศาสนา ก็สันนิษฐานว่า ที่นี่เปรียบเหมือนเขาศักดิ์สิทธิ ซึ่งโดยคติความเชื่อนั้นก็มักจะเชื่อว่าเป็นที่ประทับของเทพเจ้าอยู่แล้ว จึงได้ปรากฎการสร้างพระปรางค์ที่หันหน้าไปยังภูเขาถมอรัตน์เช่นกัน

 

และเทือกเขาแห่งนี้ยังสร้างปริศนาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง ด้วยว่าชื่อ ‘ถมอรัตน์’ นั้นไปคล้องกับชื่อมงคลนามของเจ้าเมืองวิเชียรบุรี (สมัยอยุธยา) ซึ่งเรียกสืบมาจนถึงปัจจุบัน .. ก็ให้สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพราะความยากคือเมืองศรีเทพถูกทิ้งร้างไปในพุทธศตวรรษที่ 18  ก่อนอาณาจักรอยุธยาถือกำเนิดราว 200 ปี!

 

 

การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมให้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นอกจากจะเป็นผลดีในเชิงของการอนุรักษณ์และพัฒนาพื้นที่ทางมรดกวัฒนธรรมแล้ว (โบราณวัตถุบนเขาถมอรัตน์เคยถูกขโมยไปและปัจจุบันยังอยู่ในต่างประเทศบางชิ้น)  ส่วนหนึ่งยังเป็นการเรียกให้คนนอกเหนือไปจากวงการวิชาการและโบราณคดี หันมาให้ความสนใจกับที่ตรงนี้

 

 

เพราะหากนักโบราณคดี และนักวิชาการสามารถไขปริศนาและทำความเข้าใจกับ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะความเกี่ยวโยงกับเมืองทวารวดี บางทีนี่อาจจะเป็นการค้นพบ ‘ประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินไทย’ ครั้งสำคัญ ที่เราต้องจับตามอง.

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.