ย้อนความทรงจำรู้จักกับ 6 มรดกโลกของไทย
ท่ามกลางความยินดีของทุกคนที่เกี่ยวข้องของไทย หลังจากคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลก เป็นแห่งที่ 7 ของประเทศไทยเมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566
คำว่า มรดกโลก หรือ World Heritage คือ พื้นที่หรือจุดหลักที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ หรือด้านอื่นๆ ที่มนุษย์หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา เพราะแม้จะเป็นทรัพย์สินของประเทศที่มรดกโลกนั้นตั้งอยู่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติที่จะได้ร่วมชื่นชมและช่วยกันอนุรักษ์สืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง
ในโลกนี้มีแหล่งมรดกโลกเกือบ 2 พันแห่งทั่วโลก ส่วนประเทศไทยเมื่อรวมกับ เมืองโบราณศรีเทพ ที่จ.เพชรบูรณ์ ก็จะเป็น 7 ที่ โดยแบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 และ มรดกโลกทางธรรมชาติ 3
เรื่องของเมืองโบราณศรีเทพเราได้รับรู้ไปพอสมควรแล้ว คราวนี้เราไปทำความรู้จักกับ 6 สถานที่ที่เป็นมรดกโลกของไทยก่อนหน้านี้กัน
มรดกโลกทางวัฒนธรรม
1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของความเป็น “รุ่งอรุณแห่งความสุข” และเป็นรุ่งอรุณของประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งบ้านเมืองในฐานะรัฐอิสระ ด้วยความโดดเด่นนี้เองส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534
คุณค่าและความโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ
- เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
- เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ งดงาม และทรงคุณค่า
ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ 4,810 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ตามถนนสายเอเซีย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในนาม นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)
ผลงานด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์และวรรณกรรม แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของอารยธรรมแห่งชุมชนหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
คุณค่าและความโดดเด่น จนได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลกคือ
- เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
"แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง" เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย โบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่าง ๆ ที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงสังคมและวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจ วิทยาการและศิลปะอย่างแท้จริง และพัฒนาการเหล่านั้นได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมานับพันปี
วัฒนธรรมบ้านเชียงจึงนับว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับพันๆ ปี โดยมีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน รู้จักปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เริ่มแรกคือเมื่อประมาณ 5,600 ปีมาแล้ว รวมทั้งมีการจัดระบบเช่น การฝังศพเป็นประเพณีสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายสมัย นับเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเรื่องการจัดระบบสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เช่น "การผลิตภาชนะดินเผาด้วยฝีมือระดับสูง", "การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ" โดยเป็นการประดิษฐ์คิดค้นที่มีวิธีการเป็นของวัฒนธรรมบ้านเชียงเอง ไม่ได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออินเดียอย่างที่เข้าใจกัน
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้จดทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐ โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้
- เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
มรดกโลกทางธรรมชาติ
1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย มีพื้นที่รวมประมาณ 6,222 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,888,750 ไร่ นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ของประเทศ ที่เป็นตัวแทนแสดงลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ถึง 4 เขต คืออินโด-หิมาลายันทันดา อินโด-เบอร์มิสและอินโดจีน
ที่นี่เป็นตัวแทนระบบนิเวศป่าเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้รับการขึ้นทะเบียน จากยูเนสโก เมื่อปี 2534
ส่วนเกณฑ์ที่ทำให้ ขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก คือ
- เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
- เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
- เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหนาแน่นของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
2. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดรวมกันประมาณ 6,200 ตร.กม. หรือประมาณ 3.8 ล้านไร่ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
ที่นี่มีพื้นที่คุ้มครอง (ProtectedArea)หรือพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
สำหรับผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียน จากยูเนสโก เมื่อปี 2548
คุณค่าความสำคัญที่โดดเด่นของผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่คือ
- เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน
กลุ่มป่าแก่งกระจาน นับเป็น 'มรดกโลก' แห่งที่ 6 ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จาก 'ยูเนสโก' เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564
ที่นี่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแนวเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อีก 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี มีพื้นที่รวมกว่า 2.5 ล้านไร่ หรือราว 4,089 ตารางกิโลเมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร
สถานที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าเต็งรัง มีรายงานพันธุ์พืชและสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นและที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลกในพื้นที่นี้ ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่นกสำคัญ 2 แห่ง และขึ้นชื่อว่ามีนกหลากหลายชนิด รวมถึงสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก 8 ชนิด
คุณค่าความสำคัญที่โดดเด่นของกลุ่มป่าแก่งกระจานคือ
- เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
นั่นคือ 6 สถานที่ที่เป็นมรดกโลกของไทยที่ขึ้นทะเบียนจาก ยูเนสโก้ก่อนหน้านี้ เมื่อรวมกับเมืองโบราณศรีเทพ ทำให้ไทยเรามีแหล่งมรดกโลกรวม 7 แห่ง
ส่วนในอนาคตประเทศไทยมีสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคต นั่นคือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ที่เราส่งให้ยูเนสโก้พิจารณาเมื่อ วันที่ 24 ม.ค. 2566 ตามลุ้นกันว่าเราจะมีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.