อันตรายจากการ “นอนคว่ำ” ที่คุณอาจไม่เคยรู้
ใครที่ชอบนอนคว่ำ อาจจะต้องอ่านสักนิด ว่าทำไมการนอนคว่ำอาจอันตรายกว่าที่คิด
เชื่อว่าแต่ละคนล้วนแล้วแต่ก็มีท่านอนประจำ ที่นอนแล้วหลับสบายเป็นของตัวเองกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นท่านอนตะแคง ท่านอนหงาย หรือท่านอนคว่ำ แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า ท่านอนคว่ำที่หลายๆ คนอาจจะชอบนอนนี้ จริงๆ แล้วอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่ทุกคนคิด วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอ อันตรายจากการ นอนคว่ำ ให้ทุกคนได้รู้จักกัน
นอนคว่ำ ส่งผลอะไรต่อร่างกาย
-
การหายใจ
หลายคนน่าจะสังเกตเห็นได้อยู่แล้วว่า ท่านอนคว่ำนั้นเป็นท่านอนที่ทำให้เราหายใจได้ไม่สะดวกเอาเสียเลย เนื่องจากคุณได้นอนกดทับอยู่บนแกนกลางของกล้ามเนื้อกะบังลม ที่อยู่ตรงกลางระหว่างหน้าอกและหน้าท้องของคุณ ทำให้คุณไม่สามารถสูดลมหายใจเข้าสู่ปอดได้อย่างเต็มที่ ทำให้หายใจลำบาก และรู้สึกอึดอัดมากขึ้น
นอกจากนี้ การที่เราหายใจไม่สะดวกนั้น ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย มีงานวิจัยที่พบว่า การหายใจตื้นๆ อาจส่งผลให้ระดับความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น ท่านอนคว่ำที่ไปกดทับปอดและกะบังลมจนทำให้เราหายใจไม่สะดวกนั้น จึงอาจทำให้เราเกิดความเครียดมากขึ้น และส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้นด้วยนั่นเอง
-
กระดูกสันหลัง
มีงานวิจัยที่พบว่า ท่านอนคว่ำนั้นเป็นท่านอนที่ไม่ดีต่อสุขภาพของกระดูกสันหลังเป็นอย่างมาก เนื่องจากการนอนคว่ำนั้นจะทำให้เกิดแรงทับอย่างมากที่กระดูกสันหลัง ทำให้ไม่สามารถอยู่ในท่าที่ถูกต้องและเหมาะสมกับรูปร่างของกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง โดยเฉพาะหลังส่วนล่าง ช่วงกระดูกเชิงกราน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการเหน็บชา และปวดเมื่อยตามตัวอีกด้วย
-
ลำคอ
เช่นเดียวกันกับกระดูกสันหลัง ท่านอนคว่ำนั้นจัดได้ว่าเป็นท่านอนที่ไม่เหมาะสมต่อกระดูกสันหลัง และบริเวณคอ เวลาที่เราต้องนอนคว่ำนั้น ใบหน้าจะหันเข้าสู่ที่นอน ทำให้เราจำเป็นต้องหันหน้าออกไปทางอื่น เพราะไม่อาจหายใจได้ การที่เรานอนอยู่ในท่าหันคออย่างนี้นานๆ จะทำให้กระดูกสันหลังและศีรษะไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดคอ และอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงได้ หากยังคงนอนคว่ำอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ
-
คนท้อง
ท่านอนคว่ำนั้นเป็นท่านอนที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการลงน้ำหนักตัวกดทับไปยังบริเวณครรภ์แล้ว ขนาดของครรภ์ที่ใหญ่นั้น จะทำให้เรานอนไม่สบาย และยังอาจเพิ่มแรงดึงกระดูกสันหลังให้กดทับลงมา ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป ขนาดของครรภ์มักจะใหญ่มากเกินไป ทำให้ไม่สมควรที่จะนอนในท่านอนคว่ำ หรือในบางครั้งอาจจะหมายถึงท่านอนหงายอีกด้วย ดังนั้น ท่านอนที่เหมาะสมกับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่สุด จึงเป็นท่านอนตะแคงนั่นเอง
เทคนิคดีๆ หากจำเป็นต้องนอนคว่ำ
แม้ว่าเราอาจจะทราบอยู่แล้วว่าการนอนคว่ำนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ในบางครั้ง เราก็อาจจะจำเป็นต้องนอนคว่ำได้ เช่น หากมีอาการบาดเจ็บที่หลังและด้านข้างลำตัว ทำให้ไม่สามารถนอนหงายและนอนตะแคงข้างได้ ดังนั้น หากเราจำเป็นต้องนอนคว่ำ ก็มีเทคนิคดีๆ ที่สามารถช่วยให้การนอนคว่ำนั้นสบายยิ่งขึ้น ดังนี้
- ใช้หมอนเตี้ยๆ พยายามเลือกหมอนเตี้ยๆ แบนๆ หรือไม่หนุนหมอนเลย เพื่อทำให้ระยะห่างระหว่างลำคอกับที่นอนนั้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- เลือกที่นอนแข็งๆ ที่นอนนุ่มๆ นั้นจะทำให้ตัวของเรายุบลงไปในที่นอน และยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด และหายใจลำบากมากขึ้น ดังนั้นจึงควรพยายามเลือกที่นอนแข็งๆ ที่ไม่ทำให้ตัวเราจมไปกับที่นอน
- รองหมอน ควรหาหมอนมารองบริเวณสะโพก เพื่อช่วยยกให้กระดูกสันหลังนั้นกลับมาอยู่ในระนาบเดียวกัน และอยู่ในท่าทางที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดทับต่อกระดูกสันหลังลงได้ นอกจากนี้ คุณผู้หญิงอาจจะหาหมอนมากอดหนุนในบริเวณหน้าอก เพื่อช่วยลดแรงกดทับลงไปที่เต้านม และช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกได้
อย่าลืมว่าท่านอนที่ดีนั้นสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพในการนอนหลับ และสุขภาพโดยรวมของคุณ ดังนั้น หากเป็นไปได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนอนคว่ำ เราทุกคนควรจะหลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวต่อสุขภาพ ทั้งการหายใจลำบาก อาการปวดหลัง อาการปวดคอ และปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะตามมาได้ในภายหลัง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.