5 ปัญหาสุขภาพที่สาวๆ ต้องเผชิญ อาจพาสุขภาพกายและใจพังยับ
ปัจจุบันแรงกดดันจากภาระหน้าที่การงาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความคาดหวังของสังคม ผู้หญิงหลายคนอาจพบว่าตนเอง ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่อาจแสดงออกมาทางร่างกายและอารมณ์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยจำนวนมาก จะประสบกับความเครียดสะสม ส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่อยู่ในวัยทำงาน ต้องพบกับปัญหาสุขภาพจิตที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น เราจึงอยากขอเตือนให้ผู้หญิงยุคใหม่สายทำงานเก่งได้ระวัง! 5 ปัญหาสุขภาพที่ต้องเผชิญ เพราะอาจพาสุขภาพกายและใจให้พังยับเยินกันเลยทีเดียว
1.โรค Burnout
โรค Burnout หรือที่เรียกอีกอย่างว่าอาการหมดไฟในการทำงาน เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับพนักงานออฟฟิศมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากความเครียดสะสม จนองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้ Burnout เป็นโรคร้ายแรงที่อาจส่งผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาเหตุหลักของโรคเกิดจากความเครียดในการทำงาน ซึ่งเป็นภาระงานที่หนักเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า ทั้งทางอารมณ์และร่างกาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้
2.โรคซึมเศร้า
การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอหรือไร้ความสามารถ แต่เป็นผลจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และแม้แต่สุขภาพกาย อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเครียดจากการทำงาน แรงกดดันจากงานที่ต้องใช้ความพยายามมาก ปัจจัยทางสังคม พันธุกรรม และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม การรับรู้ถึงอาการของภาวะซึมเศร้าเป็นสิ่งสำคัญมาก การประเมินสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้างต้องมีเสมอ เพื่อให้ได้รับการรักษาทันเวลาค่ะ
3.แพนิค
โรควิตกกังวล หรือโรคแพนิค เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โรคนี้มักเกิดจากความเครียดและแรงกดดัน ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น เหงื่อออกมาก หายใจถี่ คลื่นไส้ เวียนศีรษะฉับพลัน ควบคุมตัวเองไม่ได้ และอาจถึงขั้นกลัวสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างไม่มีเหตุผล ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตอีกประเภทหนึ่งที่ท้าทายชีวิตของผู้หญิงในวัยทำงานด้วยค่ะ
4.ภาวะ Low Self Esteem
สาวออฟฟิศหลายคน ไม่รู้ว่าตนเองอาจกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงความรู้สึกเศร้า ไม่แน่ใจในตนเอง และไม่เห็นคุณค่าในตนเอง จนกลายเป็นภาวะ Low Self Esteem การตำหนิตนเองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา มองเหตุการณ์ในแง่ลบ และวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่ตลอดเวลา ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ความนับถือตนเองต่ำ อาจทำให้สาว ๆ บางคนไวต่อคำวิจารณ์มากเกินไป เกิดเป็นความวิตกกังวลและกลัวการถูกปฏิเสธจากสังคม ในขณะเดียวกัน อาจมีปัญหาในการปฏิเสธผู้อื่น เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการขาดความมั่นใจและความเชื่อมั่นในตนเองที่สะสมมาเป็นเวลานาน
5.ความเครียดสะสม เรื้อรัง
การใช้ชีวิตที่มีความเครียดและความคาดหวังสูง มักนำไปสู่ความเครียดสะสมจนเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปที่หลายคนประสบโดยไม่รู้ตัว อาจส่งผลเสียต่อทั้งประสิทธิภาพในการทำงานและความสัมพันธ์ สัญญาณของความเครียดสะสม คือ การเปลี่ยนแปลงอารมณ์และรูปแบบการใช้ชีวิตแบบสิ้นเชิง เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก รู้สึกเงียบและเก็บตัว สูญเสียความสนใจในชีวิต รู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวังง่าย และความต้องการทางเพศลดลง หากปล่อยทิ้งไว้ อาจกลายเป็นภาวะอันตรายที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางกาย จึงต้องรู้จักสังเกตสัญญาณเหล่านี้ และจัดการความเครียดทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนด้านสุขภาพ
ปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกอาชีพ และทุกวัย โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เครียดง่ายและลงลึกมาก เมื่อรู้สึกเครียด สิ่งสำคัญคือต้องพูดออกมาและบอกตัวเองว่าพอแล้ว! เพื่อระงับความคิดมากและการทำร้ายตัวเอง นอกจากนี้ ควรเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไปให้ดี ดังนั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตควบคู่ไปกับสุขภาพกาย ให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานและตัวเอง ด้วยความเห็นอกเห็นใจและมีกำลังใจให้กัน พร้อมใช้โอกาสนี้ในการมุ่งเน้นไปที่ความสุขของตัวคุณเองให้มากขึ้นด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.