“ปวดไหล่-ยกแขนขึ้นไม่สุด” สัญญาณอันตราย “กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่”
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อตามมา ร่างกายเกิดความเสื่อม หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นกับข้อ เช่น ข้อแตก ข้อหัก ร่างกายจะดึงแคลเซียมออกมาเพื่อไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อมนั้น อาทิ บริเวณข้อต่างๆ รวมถึงข้อไหล่ จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก ส่งผลให้กลายเป็นกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งหากมีความผิดปกตินี้เกิดขึ้นที่บริเวณข้อไหล่ อย่าวางใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเร่งรักษา
สาเหตุของอาการปวดไหล่
น.ท.นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ และแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ หรือศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือ FIFA MEDICAL CENTRE OF EXCELLENCE กล่าวเบื้องต้นว่า อาการปวดไหล่ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ปัญหาโครงสร้างของข้อไหล่เอง หรือจากภาวะข้อไหล่ไม่มั่นคง (Instability pain)
- อาการปวดต่างที่ (Referred pain) เช่น จากกระดูกต้นคอ ทรวงอก หรือในช่องท้อง ซึ่งอาการปวดในแต่ละโรคอาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้
- ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดไหล่
- ข้อไหล่หลุด (Shoulder instability)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
- ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear)
- กระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome)
กระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่
โรคกระดูกงอก สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เมื่อกระดูกเกิดความเสื่อม แตก หัก ซึ่งร่างกายจะนำแคลเซียมไปซ่อมแซมและทำให้กระดูกนั้นๆ เกิดเป็นแคลเซียมที่ผิดธรรมชาติ ที่เรียกว่ากระดูกงอก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกระดูกทุกส่วนในร่างกาย
สาเหตุของอาการกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่
กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome) และภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น (Calcific Tendonitis) สาเหตุเกิดได้จาก
- ความเสื่อมของร่างกายและข้อไหล่ เนื่องจากเมื่อสูงอายุร่างกายจะเกิดความเสื่อมรวมถึงกระดูกที่มีโอกาสเกิดการสึกหรอ ร่างกายสร้างหินปูนขึ้นมาจับและพอกขึ้นจนเป็นกระดูกงอก โดยหินปูนจะงอกออกมาจากกระดูกปกติ แล้วมากดเบียดเส้นเอ็นที่อยู่ด้านล่างของกระดูก ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป
- สาเหตุจากการใช้งาน เช่น การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อข้อไหล่มาก ๆ จนทำให้เอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาดและไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจึงพยายามสร้างหินปูนมาเชื่อมบริเวณที่บาดเจ็บ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มาก ๆ เช่น การเล่นเวท เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น
ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก
ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) เกิดจากการเสียดสีกันระหว่างเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่กับปลายกระดูกสะบัก ขณะที่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะบ่อย ๆ จึงทำให้เกิดอาการปวด แบบเป็น ๆ หาย ๆ ยิ่งขณะยกแขนขึ้นสูงหรือกางแขนออก ผลที่ตามมาคือจะมีการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น จนท้ายสุดอาจทำให้เส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาดได้ โดยช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่ด้านหน้าและด้านข้าง ส่วนมากจะมีประวัติปวดไหล่เวลากลางคืน และปวดมากเวลานอนตะแคงทับแขนด้านที่มีอาการ ในระยะที่รุนแรงจะพบเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ทำให้แขนอ่อนแรง ยกแขนขึ้นได้ลำบาก
โรคข้อไหล่ติด
โรคข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) พบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ แล้วเกิดผังผืดในข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง พบบ่อยในกรณีที่กระดูกหักบริเวณแขน ทำให้ผู้ป่วยขยับแขนได้ลดลง ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดข้อไหล่ที่คล้ายคลึงกัน จนไม่สามารถไขว้มือไปด้านหลังได้สุด ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างยากลำบาก จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านข้อไหล่เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่าเกิดจากความผิดปกติใด
การรักษาอาการกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่
การรักษาเริ่มแรก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากอาการ การซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจแบบอื่นเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก หรือตรวจ MRI เพื่อวินิจฉัยภาวะเสื่อมหรือการขาดของเส้นเอ็นบริเวณไหล่ และยังสามารถให้รายละเอียดของกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ได้ดี โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
-
ไม่ต้องผ่าตัด สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ในระยะเริ่มต้น และไม่มีอาการของข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย โดยจะใช้วิธีทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด ร่วมกับลดกิจกรรมที่กระทำต่อข้อไหล่ ออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อฝ่อตัวจากการไม่ได้ใช้งาน บางรายใช้เวลาในการรักษาไม่นาน บางรายรักษาไม่หายทนทรมารต่อความเจ็บปวด หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้นอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
-
การผ่าตัดผ่านกล้อง ปัจจุบันวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้นทำให้การผ่าตัดไม่น่ากลัวเหมือนในอดีต เทคโนโลยีการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก
- การรักษาด้วยคลื่นกระแทกความถึ่สูง (Radial shockwave) เป็นเครื่องบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบและมีการสะสมของหินปูนที่เอ็นกล้ามเนื้อไหล่ เพิ่มประสิทธิภาพในการสลายแคลเซียม และเพิ่มกระบวนการไหลเวียนเลือด คลื่นกระแทกสามารถส่งผ่านจากภายนอกร่างกายเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณไหล่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก
การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ปัจจุบันถือป็นมาตรฐานการรักษาโรคข้อไหล่ที่ยอมรับทั่วโลก เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ ร่วมกับมีปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง เสียเลือดน้อย โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดแบบในอดีต
เทคโนโลยี MIS ผ่าตัดผ่านกล้องยังสามารถกรอกระดูกที่งอกกดทับเอ็นข้อไหล่ ผ่าตัดแต่งเนื้อเอ็นที่ขาดให้เรียบ และเย็บซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาด ถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ โดยคนไข้สามารถทำกายภาพขยับไหล่ได้ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด ลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ต้องเปิดแผลกว้างเพื่อเข้าไปเย็บเส้นเอ็นเล็ก ๆ เส้นเดียวที่หัวไหล่ ซึ่งกว่าแผลจะหายและคนไข้เริ่มขยับได้ต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์ ขณะที่การผ่าตัดผ่านกล้องจะเป็นเพียงการเจาะรูเล็ก ๆ เพื่อส่องกล้องเข้าไปกรอกระดูกที่งอกบริเวณที่เกิดปัญหาได้อย่างตรงจุด คนไข้รักษาตัวในโรงพยาบาลไม่นาน ฟื้นตัวไว ข้อไหล่กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง
วิธีป้องกันอาการกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่
เราสามารถป้องกัน เพื่อลดการเกิดภาวะกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ได้โดย
- ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลไปถึงข้อต่าง ๆ
- รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยเฉพาะโปรตีน พืชผัก ผลไม้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบเต้นหรือแกว่งแขนไปมา เนื่องจากอาจทำให้เอ็นข้อไหล่ทำงานมากขึ้นเกิดการอักเสบหรืออาจฉีกขาดได้
สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือผู้สูงอายุคือ การเดินไปมาพอให้มีเหงื่อออกประมาณ 15 นาที การบริหารยืดข้อไหล่อย่างช้าๆ และยืดให้สุดจะช่วยเพิ่มพิสัยในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ดีขึ้น เช่น การใช้มือไต่ผนัง การรำกระบอง รำมวยจีน เป็นต้น หรือในกรณีที่เป็นนักกีฬาก็จะมีเทคนิคในการวอร์มอัพร่างกายของกีฬาแต่ละชนิด ซึ่งควรปฏิบัติให้ถูกต้องในระยะเวลาพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกปวดข้อไหล่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- อันตรายจาก "ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก" จากการใช้งานหนัก
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.