เมื่อสมาร์ตโฟนเป็น “ศัตรู” ในห้องเรียน UN จึงสนับสนุนให้ “แบน”
ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็มีสมาร์ตโฟนไว้ใช้งาน ด้วยไลฟ์สไตล์หลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนไปหลังการมาของโซเชียลมีเดีย รวมถึงราคาของสมาร์ตโฟนที่ไม่ได้แพงมาก ใครต่อใครก็สามารถเข้าถึงได้ไม่ยากเย็นนัก ซึ่งใคร ๆ ที่ว่านี้ก็มีทั้งผู้ใหญ่ วัยแรกเริ่มทำงาน วัยทำงาน วัยกลางคน วัยเกษียณ รวมไปถึงเด็กนักเรียน ตั้งแต่วัยอนุบาล ประถม มัธยม ที่ต่างก็มีสมาร์ตโฟนที่พ่อแม่อนุญาตให้พกติดตัวไว้สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ แถมบางคนใช้สมาร์ตโฟนแพงกว่าผู้ใหญ่วัยทำงานด้วยซ้ำไป ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่คนวัยต่าง ๆ ในสังคมจะมีสมาร์ตโฟนไว้ใช้งานอย่างน้อยคนละเครื่อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กนักเรียนแล้ว การมีสมาร์ตโฟนใช้งานอาจถูกมองเป็น 2 แง่ ทั้งในแง่ที่จำเป็นและออกจะเกินความจำเป็น ในแง่ของความจำเป็น ก็คือการใช้ฟังก์ชันปกติของโทรศัพท์ ติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง โทรออก-รับสาย ในยุคที่ไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญให้ใช้งาน ส่วนในแง่ที่เกินความจำเป็นก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะการมีสมาร์ตโฟนที่ปัจจุบันทำได้แทบทุกอย่างอยู่กับตัว บ่อยครั้งที่เด็กนำออกมาใช้งานแบบไม่รู้จักเวล่ำเวลา จดจ่อหรือเสพติดการใช้งานต่าง ๆ มากเกินไป ทำให้ไม่สนใจการเรียน ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง และที่สำคัญก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต เกิดความอ่อนไหวด้านอารมณ์กับเด็กโดยไม่รู้ตัว รวมถึงปัญหาการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต
ปัญหาสมาร์ตโฟนกับเด็ก ๆ ในห้องเรียน
สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ เด็กสมัยใหม่เกิดและเติบโตมาพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี โดยเฉพาะคนในช่วงวัยตั้งแต่ Gen Z ลงไป ช่วงอายุแรกเริ่มในการได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของคน Gen Z จะมีอายุที่ต่ำกว่าคนในช่วงวัยอื่น ๆ ในสมัยนั้น คน Gen Z ที่อายุประมาณ 10-12 ปีเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีมาใหม่ ในขณะที่คน Gen Y ปลาย ๆ ที่อาจจะอายุมากกว่าคน Gen Z ต้น ๆ แค่ไม่กี่ปี พวกเขาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งแพร่หลายช่วงที่พวกเขาอายุประมาณ 15-16 ปีเข้าไปแล้ว พวกเขาทันยุคแอนะล็อกมากกว่าคน Gen Z ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านมาเป็นดิจิทัล ส่วนคนที่ Gen สูงกว่านี้ก็ไม่ต้องพูดถึง พวกเขาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ตอนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่กันหมดแล้ว
นั่นทำให้เด็กรุ่น Gen Z จะคุ้นเคยกับการมีสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตใช้ในห้องเรียนมากกว่าเด็ก Gen Y ที่แม้ว่าจะอายุมากกว่าแค่ 2-3 ปีเท่านั้น คน Gen Y หลายคนหันมาเริ่มใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในห้องเรียนก็สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ Gen Z จำนวนมากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การเรียนมาตั้งแต่วัยมัธยม ทั้งเลกเชอร์วิชาเรียน หรือถ่ายภาพกระดานที่ครูสอนเก็บเป็นภาพไว้ในอุปกรณ์เหล่านั้น
หลังจากกาลเวลาผ่านมานานนับ 10 ปี บัดนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาขึ้นจากเมื่อสมัยก่อนหลายเท่า ช่วงอายุของเด็กที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ก็ยิ่งลดต่ำลง เด็ก 5-6 ขวบก็ใช้สมาร์ตโฟนเป็นแล้ว เพราะเด็กบางคนถูกเลี้ยงให้โตมากับมือถือและยูทูบ ถึงจะอ่านหนังสือยังไม่ค่อยคล่อง แต่ก็จำได้ว่าต้องกดตรงนี้เพื่อเข้าไปตรงนั้น ทำให้เด็กถูกผูกติดอยู่กับสมาร์ตโฟนมากกว่าเดิม และดูเหมือนว่าสมาร์ตโฟนและเทคโนโลยีทั้งหลายจะถูกหลอมละลายให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาจะขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ทั้งเพื่อกิจกรรมความบันเทิงและเพื่อเป็นอุปกรณ์การศึกษา
มีเด็กหลายคนใช้สมาร์ตโฟนให้เป็นประโยชน์ในด้านการเรียน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนในชั้นเรียน เพราะเด็กหลายคนเสพติดการใช้งานสมาร์ตโฟนชนิดที่วางแทบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เกมมือถือ ดูหนังดูซีรีส์ อ่านการ์ตูน หรืออะไรก็ตามที่ใช้งานเพื่อความบันเทิง การใช้สมาร์ตโฟนในห้องเรียนแบบนี้ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่สนใจเรียน ไม่ยอมเรียนหนังสือ เนื่องจากความสนใจทั้งหมดอยู่ที่สมาร์ตโฟนเท่านั้น และไม่เพียงแต่ใช้งานคนเดียวและทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนของตัวเองลดลง แต่บ่อยครั้งที่มันยังขัดจังหวะการเรียนการสอนในชั้นเรียน รบกวนสมาธิของเด็กคนอื่น รวมไปถึงสร้างโอกาสในการโกงข้อสอบ อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กด้วย
เพราะการเสพติดมือถือไม่ใช่เรื่องเล็กแม้แต่กับผู้ใหญ่ มันเป็นปัญหาที่คุกคามชีวิตอย่างมาก แรกเริ่มเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราค่อย ๆ ติดมือถือทีละนิด ๆ จากการที่ใจจดจ่ออยู่แต่กับการเช็กโทรศัพท์ ตอบ-ส่งข้อความตอบโต้กับผู้อื่น เข้าไปอ่านเรื่องราวดราม่าต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียเพราะกลัวจะตกข่าว พลาดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับโพสต์ต่าง ๆ หรือติดตามดูชีวิตของคนอื่นแล้วเปรียบเทียบกับตัวเอง คอยเช็กอยู่ตลอดว่าภาพหรือวิดีโอหรือแคปชันของตนเองมีคนเข้ามากดไลก์หรือคอมเมนต์อะไรบ้าง หรืออาจจะเป็นได้ทั้งผู้กระทำหรือเหยื่อในกรณีของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตก็ได้เช่นกัน เกิดปัญหาความมั่นคงทางอารมณ์ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่นั่งเทียนคิดกันขึ้นมา เพราะมีงานวิจัยนานาชาติที่เชื่อถือได้หลายชิ้นที่ชี้ชัดว่าเมื่อเด็กนักเรียนติดสมาร์ตโฟน จะส่งผลให้ผลการเรียนรู้ของเด็กตกต่ำลง เพราะเด็กขาดความสนใจต่อบทเรียน ขาดสมาธิในการเรียนรู้ ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และครู แสดงให้เห็นถึงการไม่รู้จักเวล่ำเวลาที่จะใช้งานสมาร์ตโฟน อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและทำให้เด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งมันเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศมีแนวคิดที่จะควบคุมการใช้งานสมาร์ตโฟนของเด็กในโรงเรียนด้วยการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เพื่อที่จะให้นักเรียนกลับมาสนใจบทเรียนและทำกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย
องค์การสหประชาชาติก็สนับสนุนให้ “แบน” มือถือในห้องเรียน
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กนักเรียนไทย แต่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนทั่วโลก เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เร็วมาก บวกกับการที่เด็กในช่วงวัยนี้เติบโตมากับมือถือแทบทั้งสิ้น การใช้มือถือสมาร์ตโฟนจึงไม่ใช่แค่ปัญหาเล็ก ๆ ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่กลายเป็นวาระระดับโลก ที่องค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติ (UN) ยังต้องเข้ามามีบทบาท โดยมีรายงานขององค์การสหประชาชาติที่แนะนำว่า ควรมีการห้ามใช้สมาร์ตโฟนในโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันส่งผลเสียต่อการศึกษาของเด็ก รวมถึงเกิดปัญหาห้องเรียนหยุดชะงัก และเพื่อช่วยปกป้องเด็ก ๆ จากการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตด้วย
โดยยูเนสโก (UNESCO) หน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ มีหลักฐานว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการศึกษาที่ลดลง และการใช้เวลาบนหน้าจอนาน ๆ จะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก และที่สำคัญ มือถือไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในห้องเรียนมากถึงขนาดนั้นด้วย แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ หลายคนอาจจะใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์การเรียน แต่คนสมัยก่อนที่เขาไม่มีใช้เขาก็ยังเรียนหนังสือจบกันมาได้ ดังนั้น ก็แค่ย้อนกลับไปใช้สมุดกับหนังสือแบบที่เด็กรุ่นก่อน ๆ เขาเรียนกัน
เพื่อที่จะควบคุมให้มือถือเป็นสิ่งต้องห้ามในห้องเรียน นั่นหมายความว่าเราอาจต้องเมินข้อดีต่าง ๆ ของการใช้สมาร์ตโฟนในห้องเรียน หรืออาจจะมีการยกเว้นเป็นกรณี ๆ ไป อย่างที่ผ่านมา สมาร์ตโฟนไม่ได้ถูกใช้แค่เป็นอุปกรณ์ในการเรียน แต่ยังเป็นสื่อการเรียนการสอนในยุคก้าวทันเทคโนโลยีด้วย อย่างเช่นการใช้เป็นสื่อการสอนของครู เพื่อไม่ให้ห้องเรียนเคร่งเครียดจนเกินไป การทำ quiz สนุก ๆ ต่าง ๆ ให้เด็กได้มีส่วนร่วม ก็ให้ทั้งความรู้และความสนุกสนานได้ รวมถึงการสร้างชุมชนเล็ก ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างการที่ครูสร้างกลุ่มรายวิชาต่าง ๆ เพื่อใช้สื่อสารกับนักเรียนโดยตรง ก็ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น และยังเป็นแหล่งการหาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในระหว่างการเรียนการสอนด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการใช้สมาร์ตโฟนเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากกว่า เพราะมันอาจทำให้เราสูญเสียประชากรคุณภาพได้จากพิษภัยของการใช้มือถือในห้องเรียนที่เป็นศัตรูมากกว่ามิตร จึงเป็นที่มาให้องค์การระดับโลกเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน “การแบน” โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน อีกทั้งยังระบุอีกว่ามี 1 ใน 4 ประเทศในโลกที่ได้ทำแล้ว กับการ “แบน” มือถือในห้องเรียน
โดยยูเนสโกได้สำรวจ 200 ประเทศ และพบว่า 1 ใน 4 ได้ห้ามการใช้มือถือในโรงเรียนแล้ว ไม่ว่าจะผ่านกฎระเบียบทางการหรือเป็นเพียงคำแนะนำก็ตาม คือฝรั่งเศสซึ่งประกาศใช้นโยบายดังกล่าวในปี 2018 และเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีแผนจะเริ่มใช้ข้อจำกัดตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่ได้มีกฎห้ามทั่วประเทศ แต่จะมีกฎเฉพาะไปตามแต่ละโรงเรียน อย่างในอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม มีรัฐบาลหลายรัฐที่คิดว่าจำเป็นที่จะต้องห้ามแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างในฝรั่งเศส ที่อนุญาตให้เด็กนำมือถือมาโรงเรียนได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ช่วงระหว่างเริ่มเรียนถึงหมดคาบเรียน รวมถึงเวลาพักกลางวันก็ห้ามเล่นเช่นกัน ทว่าเด็ก ๆ สามารถใช้มือถือติดต่อกับผู้ปกครองได้หลังเลิกเรียนแล้ว
โดยออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการยูเนสโก กล่าวว่า “การปฏิวัติทางดิจิทัลมีศักยภาพเหลือคณานับ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตือนว่าควรมีการควบคุมอย่างไรในสังคม จะต้องให้ความสนใจเช่นเดียวกันกับวิธีการใช้ในการศึกษา” นอกจากนี้ เธอได้กล่าวเสริมว่า “การใช้งานเครื่องมือดิจิทัลจะต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งนักเรียนและครู ไม่ใช่เพื่อให้เกิดผลเสียต่อพวกเขา ต้องรักษาความต้องการของผู้เรียนเป็นอันดับแรกและสนับสนุนครูผู้สอนด้วย ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่สามารถแทนที่ด้วยการเชื่อมต่อทางออนไลน์”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.