ทำไม RSV ถึงต้องเฝ้าระวัง?

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ชื่อของ RSV (Respiratory Syncytial Virus) กลับมาขึ้นแท่นเชื้อไวรัสที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ปกครองที่มีเด็กเล็ก เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง สามารถแพร่ระบาดและก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็กโดยเฉพาะในช่วงวัยสองปีแรก โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคในปีที่ผ่านมา[1] พบการติดเชื้อไวรัส RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ด้วยสัดส่วนถึง 52% และในกลุ่มเด็กอายุ 3-5 ปี หรือวัยอนุบาล อีกราว 34% ซึ่งรวมแล้วพบการระบาดในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี นั้นสูงเกินกว่า 80% เลยทีเดียว

แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ต่ำ ไอ หรือคัดจมูก แต่ถ้าเกิดในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์) หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไม่เพียงเท่านั้น RSV ยังส่งผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว ในขณะเดียวกันเด็กที่เคยป่วยจากการติดเชื้อไวรัส RSV จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในระบบทางเดินหายใจ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดลมไวหรืออาการคล้ายโรคหืด และมีโอกาสพบการหอบซ้ำได้ในช่วง 1 ปีแรกมากกว่าปกติ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคปอดเรื้อรังในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน[2]

นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กโดยตรงแล้ว ไวรัส RSV ยังส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ยังไม่มียารักษาเฉพาะทาง จึงต้องใช้วิธีการรักษาแบบประคองอาการ และผู้ปกครองยังต้องแบกรับค่าเสียโอกาสไปจนถึงทรัพยาการต่างๆ ระหว่างการดูแลบุตรหลานที่ป่วย

รศ. พญ. หฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัส RSV ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันที่สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แน่นอนว่าเด็กๆ ควรได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการตามวัย ทำให้ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ RSV ซึ่งเป็นไวรัสตามฤดูกาลนั้นเพิ่มขึ้น ปีนี้พบสถานการณ์การระบาดของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV ในเด็กสูงขึ้นมากและพบอาการรุนแรงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อาจเนื่องมาจากปีที่แล้วเด็กๆ ไม่ได้ออกนอกบ้านทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติลดน้อยลงไป ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV ในเด็กที่ผ่านการรับรองในประเทศไทย ดังนั้น การป้องกันและดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิดจึงจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ และ ทารกเกิดก่อนกำหนด รวมถึงสมาชิกในครอบครัวเองก็ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเป็นผู้นำเชื้อมาสู่เด็กเล็กได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กทารกซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว”

เนื่องจากอาการเบื้องต้นของ RSV มีความคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป วิธีการสังเกตอาการของ RSV จึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มด้วย อาทิ การป่วยในช่วงฤดูกาลระบาด หรือมีอาการหายใจเหนื่อยหอบร่วมด้วย เพราะเป็นลักษณะที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ RSV มักรุนแรงที่สุดในวันที่ 3-4 นับจากวันที่เริ่มมีอาการ มักพบอาการหายใจแรง หายใจลำบาก มีเสียงครืดคราดในลำคอหรือทรวงอกอย่างชัดเจน มีเสมหะจำนวนมาก เริ่มเหนื่อยซึมและกระสับกระส่าย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลโดยทันที เพราะหากไม่รีบเข้ารับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะรุนแรงจนต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจหรือรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ได้

ไวรัส RSV สามารถติดต่อผ่านฝอยละอองของสารคัดหลั่ง (droplet) ไม่ว่าจะเป็นการไอจามใส่กันโดยตรง หรือใช้มือที่สัมผัสเชื้อมาจับจมูก ปาก และเยื่อบุตา จึงสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ที่เด็กเล็กรวมตัวกัน เช่น ศูนย์เด็กเล็ก สนามเด็กเล่นในร่ม หรือสระว่ายน้ำ ดังนั้น วิธีป้องกันที่สามารถทำได้เองคือการรักษาสุขอนามัย ปลูกฝังให้เด็กหมั่นล้างมือด้วยสบู่และไม่เอามือจับหน้า พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลระบาด หากเริ่มมีอาการป่วยควรให้เด็กพักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ออกไปอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เป็นต้น สำหรับผู้ปกครองและสมาชิกในบ้าน ควรเลี่ยงการสูบบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะทั้งควันบุหรี่และมลพิษทางอากาศอย่าง PM2.5 ล้วนส่งผลต่อการทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจของเด็ก และส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะโรคได้รุนแรงยิ่งขึ้น

“เด็กที่เคยติดเชื้อไวรัส RSV มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกแม้จะเป็นสายพันธุ์ย่อยเดียวกันก็ตาม ทำให้เด็กเล็กยังคงมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาไวรัสชนิดนี้แบบเฉพาะทาง ดังนั้น ในช่วงฤดูกาลระบาดนี้ ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการรับมือกับภาระโรคที่รุนแรงหากได้รับเชื้อ โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยง” รศ. พญ. หฤทัย กล่าว

[1] กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

[2] ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.