สัญญาณอันตราย “จอประสาทตาฉีกขาด-หลุดลอก” ความเสี่ยงที่พบได้ทุกช่วงวัย

พบเส้นเลือดในดวงตาผิดปกติ การมองเห็นแย่ลง หรือเห็นเหมือนสายฟ้าแล่บ รีบหาแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

จอประสาทตาฉีกขาด-หลุดลอก อันตรายที่พบได้ทุกช่วงวัย

ศูนย์ตา ชั้น 2 อาคาร A  โรงพยาบาลพญาไท 2 ระบุว่า “จอประสาทตาลอก จอตาลอก หรือ จอตาหลุดลอก (Retinal detachment) คือ ภาวะที่เกิดการแยกหรือลอกตัวของจอประสาทตาออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแล่บหรือแสงแฟลชถ่ายรูป และมีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำๆ คล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ร่วมกับมีอาการตามัว”

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า “โรคจอตาลอกเป็นโรคหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การสังเกตพบอาการและทำการรักษาในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดโอกาสการสูญเสียได้ เมื่อมีจอตาลอกส่วนที่ลอกหลุดจะไม่สามารถรับภาพได้ทำให้เห็นเป็นส่วนมืดเหมือนม่านบังตา บางคนเห็นภาพบิดเบี้ยวมัวเป็นคลื่นเหมือนมองใต้น้ำ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา”

ประเภทของจอประสาทตาฉีกขาด และหลุดลอก

จอตาลอกแบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะพยาธิสภาพได้ 3 แบบ

  1. จอตาลอกหลุดที่มีรูฉีกขาดของจอตา (rhegmatogenous retinal detachment) เป็นแบบที่พบมาก มักพบในคนที่มีน้ำวุ้นตาเสื่อม ซึ่งมีอาการนำคือ จุดดำลอยในตา และแสงวาบในตา ความเสี่ยงมีมากขึ้นในคนที่มีสายตาสั้นมาก เคยมีอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดภายในลูกตามาก่อน
  2. จอตาลอกหลุดจากผังผืดดึงรั้ง (tractional retinal detachment) การลอกหลุดชนิดนี้ส่วนมากเกิดในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาระยะท้าย หรืออาจเกิดได้ในโรควุ้นตาอักเสบ เด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีผังผืดดึงรั้งในตา ฉะนั้นผู้มีความเสี่ยงเช่นคนที่เป็นเบาหวาน ต้องได้รับการตรวจตาตามนัดตลอดชีวิต แม้การมองเห็นจะดี ก็อาจมีโรคจอตาเบาหวานซ่อนอยู่ ทำให้เกิดการสูญเสียสายตาอย่างฉับพลัน และถาวรได้ 
  3. จอตาลอกหลุดแบบน้ำขัง (exudative retinal detachment) จอตาลอกลักษณะนี้จะไม่มีรูฉีกขาดหรือการดึงรั้งที่จอตา ผู้ป่วยอาจมีตามัวเป็นม่านปิดจากบนลงล่าง นอนหงายอาจมัวมากขึ้น ซึ่งเป็นจากการที่มีน้ำเซาะขังใต้จอตา และกลิ้งไปมาได้ตามการเคลื่อนไหวของศีรษะ โรคนี้มีต้นเหตุได้จากหลายโรค เช่นการอักเสบที่จอตาและชั้นคลอลอยด์ใต้จอตา ตาขาวด้านหลังอักเสบ เส้นเลือดในจอตารั่วผิดปกติ หรือโรคก้อนเนื้อ มะเร็งในตา มะเร็งในร่างกายระยะท้ายที่มีการลุกลามเข้าในตา เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยง อาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

อาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ด้วยสาเหตุของโรคนี้ที่มักเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงทำให้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

ปัจจัยเสี่ยง ของอาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

  1. อายุมากขึ้น
  2. สายตาสั้นมาก
  3. มีประวัติจอประสาทตาลอกมาแล้วข้างหนึ่ง หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาลอก
  4. มีการติดเชื้อหรือการอักเสบภายในลูกตา
  5. มีเนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในลูกตาหรือแพร่กระจายมาจากส่วนอื่น
  6. เป็นเบาหวานที่มีโรคของจอประสาทตาแทรกซ้อน
  7. เคยได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุที่ลูกตาอย่างรุนแรง หรือเคยได้รับการผ่าตัดภายในลูกตามาแล้ว เช่น การผ่าตัดต้อกระจก

อาการจอประสาทตาฉีกขาด และหลุดลอกที่สังเกตได้

  • มองเห็นผิดปกติ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ตาแดง หรือตาแฉะใดๆ
  • มองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแล่บ หรือแสงแฟลชถ่ายรูป ในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างในขณะที่อยู่ในที่มือ
  • มองเห็นเป็นจุดดำ หรือเส้นดำๆ คล้ายเงาหยากไย่ ลอยไปมาในลูกตา
  • ตามัว คล้ายหมอกบัง หรือคล้ายเห็นเงาผ้าม่าน หรือเห็นภาพเป็นคลื่น คดงอ
  • หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาจะเริ่มรบกวนการมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลาไม่กี่วัน

วิธีรักษา อาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอกที่สังเกตได้

  1. เลเซอร์ หรือจี้เย็นเพื่อสร้างแผลเป็นทำให้จอตาส่วนนั้นแข็งแรง ป้องกันการหลุดลอก สำหรับผู้ป่วยที่จอประสาทตาฉีกขาดแต่ยังไม่มีการลอกหลุด
  2. ผ่าตัด สำหรับผู้ที่จอประสาทตาฉีกขาดและลอกหลุดแล้ว ซึ่งมีเทคนิคการผ่าตัดหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะการลอกหลุดนั้นๆ
  3. รักษาตามอาการ เช่น หากมีมะเร็งก็ต้องให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม

  • 10 สาเหตุ “ตาแดง” แบบไหนหายได้เอง แบบไหนอันตราย
  • 5 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “ต้อลม”

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.