ล่องเรือลอดซุ้มจาก สัมผัสวิถีสโลว์ไลฟ์และโลว์คาร์บอน ที่บางกอบัว
บางกอบัว อีกฟากฝั่งของกทม.
บางกอบัวเป็นชุมชนเล็กๆ ในเขตบางกระเจ้า อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับบางกระเจ้าดี แต่ไม่รู้ว่าในพื้นที่แห่งนี้ยังมีชุมชนเล็กๆ ที่เข้มแข็งด้วยวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ซุกซ่อนอยู่
สิทธิพงษ์ ภูถาวร ประธานชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว ได้เล่าย้อนให้เราฟังถึงวิถีชุมชนในอดีตที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีชุมชนบางกอบัว
“เมื่อก่อนเราใช้เรือในการสัญจร ไม่มีรถ ใช้เดินหรือพายเรือ เป็นวิถีเก่าๆ ของเรา เพราะบ้านน้ำท่วมบ่อย ก็ใช้เรือ พอทำเขื่อนมาน้ำก็ไม่ท่วมแล้ว วิถีก็จะเปลี่ยนเป็นการใช้รถในการเดินทาง แต่ในมุมของการท่องเที่ยวเราก็คิดว่าเราควรย้อนยุคดู เป็นการท่องเท่ียววิถีคลอง พานักท่องเที่ยวนั่งเรือผ่านอุโมงค์ต้นจากซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคลองเราที่สวยงาม
เมื่อก่อนตอนที่เราไม่ได้ใช้คลอง ไม่มีเรือ คลองก็ตัน ต้นจากก็รกมาก ขยะก็เยอะ เราทำเองคนเดียวก็ไม่ไหว เลยรวบรวมสมาชิกเริ่มต้น 4-5 ท่าน เริ่มจากพายเรือรับนักท่องเที่ยว พอมีรายได้เข้ามา ก็ต้องมาตัดแต่ง เก็บขยะ เพราะถ้าคลองไม่สวย เขาก็ไม่มีนักท่องเที่ยวและไม่เกิดรายได้ การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ ตอนแรกเรานัดกันเดือนละครั้ง ไปตัดแต่งจาก เก็บขยะ แต่หลังๆ เขาก็จะรู้ว่าต้องทำยังไง เหน็บมีดไปด้วย พอพายไปก็ตัดไป หลังๆ ก็ไม่ต้องนัดแล้ว” การล่องเรือไปกลับจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที เมื่อล่องไปจนสุดคลองก็จะพบกับจุดชมวิวที่เห็นฝั่งริมน้ำของเขตคลองเตย เป็นกรุงเทพฯ ในอีกมุมหนึ่งที่น้อยคนจะเคยได้เห็น
นอกจากการพายเรือลอดซุ้มจากซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวบางกอบัว ที่นี่ยังมีกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับวิถีของคนในชุมชนหลายอย่าง อาทิ การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชนเกิดเป็นลวดลายสีต่างๆ ที่ไม่เหมือนผืนไหนในโลก หรือมาลองนวดประคบจากสมุนไพรธรรรมชาติก็ได้เช่นกัน ใครหิวก็มีอาหารที่พลาดไม่ได้ และสามารถหาทานได้ที่นี่ที่เดียว อย่างเช่น แกงกูดมะพร้าวกุ้ง แล้วก้มีเมี่ยงกลีบบัวพริกเกลือ บวกกับน้ำตะลิงปลิงเย็นชื่นใจ ต่อด้วยการปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตริมคลอง สัมผัสชุมชนแบบซอกซอนก็สามารถทำได้เช่นกัน
เที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์และโลว์คาร์บอน สุขใจและไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
“ บางทีมีคนจะจองมาเที่ยวก็จะถามเลยว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทยนี่แหละ ส่วนบริษัททัวร์นี่ถามทุกรายเลย บางที่ก็จะทำแพ็กเกจเอาไปขายและเชื่อมกับตลาดยุโรปด้วย” คุณสิทธิพงษ์ตอบคำถามของเราที่ถามว่านักท่องเที่ยวตระหนักการปล่อยคาร์บอนเพียงใดในปัจจุบันนี้ เพราะคาร์บอนเหล่านี้คือตัวการสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงในปัจจุบัน
“ ชุมชนของเราตระหนักอยู่แล้วเบื้องต้นเรื่องการปลดปล่อยแต่ไม่ได้เรียนรู้มาก จน findfolk (บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) เข้ามาชวนคิดชวนคุย จึงรู้ว่าผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง เราจึงทำงานร่วมกันได้ร่วมกับอพท. ด้วย ก็มีการลงมาสำรวจพบว่า ชุมชนของเรามีการปลดปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 70 กิโลคาร์บอน เราจึงอยากจะลองปรับลดดู ตอนแรกคิดไม่ออกว่าทำยังไง เพราะก็คิดว่าลดไปหมดแล้ว เราจึงชวนพี่ๆ ในชุมชนมาช่วยกันเสนอแนวคิดว่าจะปรับลดอะไรได้บ้าง”
จากแนวคิดที่เกิดขึ้น ชุมชนซึ่งประกอบไปด้วยจำนวนสมาชิก 25 ครัวเรือน และแบ่งกลุ่มดูแลกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพายเรือ กลุ่มมัดย้อม หรือกลุ่มอาหาร ก็กลับไปคิดทบทวนว่าแต่ละกลุ่มจะทำอะไรได้บ้างเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ
- กลุ่มพายเรือ - ใช้ไม้พายแทนเครื่อยนต์ ซึ่งเป็นที่มาของกิจกรรมท่องเที่ยวแบบใหม่คือนักท่องเที่ยวสามารถพายเรือร่วมไปกับชาวบ้านได้ นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นจากเพิ่มเติม และเก็บขยะในลำคลอง
- กลุ่มมัดย้อม - จากที่ใช้เตาไฟต้ม เปลี่ยนเป็นย้อมเย็น จึงไม่ได้ใช้พลังงานจากถ่านเหมือนแต่ก่อน และใช้วัสดุจากธรรมชาติมาย้อม ซึ่งทำให้ได้สีสันหลากหลายเพิ่มมากขึ้น
- กลุ่มอาหาร - เมื่อก่อนจะตักทีละชามใหญ่ๆ แต่เปลี่ยนเป็นชามเล็กแต่สามารถตักได้หลายครั้ง สามารถลดของเสียได้ และซื้อวัตถุดิบจากชุมชนที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็กลายเป็นการกระจายรายได้ไปด้วยอีกทาง
“ การที่เราทำท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ทำให้เราได้กลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ จากบริษัทต่างๆ ที่เขาต้องหากิจกรรมที่ลดคาร์บอนให้กับบริษัท หรือบริษัทไหนอยากทำกิจกรรม CSR ก็มีบ่อย ซึ่งกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของเรา”
นักท่องเที่ยวรักษ์โลก ชาวบ้านรักษ์ชุมชน
ชุมชนบางกอบัวเริ่มต้นการท่องเที่ยววิถีชุมชนมา 6 ปี และเริ่มดำเนินการเป็นการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอนเข้าปีที่ 2 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนลงได้เหลือ 39 กิโลคาร์บอน จากแนวคิดที่อยากจะทำธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนโดยไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม ทางชุมชนจึงมีการคำนวนกันว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวอยู่ประมาณ 3,500 คนต่อปี และต้องใช้คาร์บอนอยู่ที่ 14 ตัน จึงได้ดำเนินการซื้อคาร์บอนจากทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมาชดเชย จนทำให้การปล่อยคาร์บอนในชุมชนบางกอบัวเป็น 0 ในปีนี้
“ พอซื้อมาเราก็กลับไปถามว่าที่บ้านเรามีต้นไม้เยอะเลย ถ้าไม่ซื้อเราจะทำยังไงได้บ้าง ก็เป็นเหตุว่าต้องเริ่มสำรวจว่ามีการกักเก็บคาร์บอนในชุมชนที่เท่าไหร่ เพื่อนำมาชดเชย เราจึงลองวัดดูว่าเท่าไหร่ เราทดลองที่สวนรุกขชาติบนพื้นที่สามไร่ของชุมชน คำนวนออกมาเรียบร้อยได้ที่ 54 ตัน ซึ่งต่างจากที่เราต้องใช้คือ 14 ตัน ก็แสดงว่าเราสามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยตัวชุมชนของเราเอง ปีต่อไปเราจึงสามารถเอาตัวนี้ไปชดเชยได้ ทำให้สมดุลในชุมชนของเราเป็น 0 โดยที่ไม่ต้องซื้อ ซึ่งคาร์บอนเครดิตของเราก็ยังเหลือ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนว่าเราจะสามารถนำไปขายได้มั้ยในอนาคต"
นั่นจึงเป็นที่มาของหมุดหมายใหม่ของชุมชนบางกอบัว คือการเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่สามารถขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งคุณสุทธิพงษ์มองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนได้อีกหนทางหนึ่ง
“ คือตอนนี้เรารู้ว่ากักเก็บคาร์บอนได้จากต้นไม้ เราก็ไม่อยากตัดต้นไม้ เพราะค่าการกักเก็บมันลดลง และตรงไหนโล่งก็อยากปลูกเพิ่ม เรามองว่าเป็นกลเม็ดให้ปลูกพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ผมก็เกิดแนวคิดว่าจะทำยังไงให้ไปถึงการขายคาร์บอนเครดิตได้ เพราะถ้าชาวบ้านเห็นว่าปลูกต้นไม้ขายคาร์บอนได้ คนก็อยากปลูก บางทีต้นไม้ใหญ่ๆ อาจดูไม่มีประโยชน์กินไม่ได้ เช่น ลำพู แต่ถ้ามันขายคาร์บอนเครดิตได้ เขาก็ไม่อยากตัด และอาจจะปลูกเพิ่มในที่สุด ... ผมอยากให้บางกระเจ้ามีสีเขียวเพิ่มขึ้นมากกว่านี้”
สำหรับชุมชนไหนที่อยากจะเริ่มการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอนอย่างเช่นชุมชนบางกอบัว คุณสิทธิพงษ์ก็แนะนำว่าควรจะเริ่มจากการคัดแยกขยะก่อน
“เราเห็นว่าขยะไปส่งอบต.ทีเยอะมาก ทำยังไงให้มันลดลง เราก็ไปเชื่อมกับวัดจากแดง ซึ่งทำเรื่องขยะรีไซเคิล ก็ได้ความรู้จากพระอาจารย์ เช่น ขวดพลาสติกทำจีวรได้ ถุงพลาสติกทำน้ำมันเติมเครื่องจักร โฟมเอาไปทำทุ่นดักขยะหรือกระถางต้นไม้ ขวดแก้วก็บดเป็นทรายกรองน้ำเค็มเป็นน้ำจืด พอเราคัดแยกดีๆ อย่างขยะอินทรีย์ก็ให้สัตว์เลี้ยงและเป็นปุ๋ย พอคัดแยกดีๆ ก็แทบจะไม่เหลือขยะเลย”
สำหรับใครที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตริมคลอง และท่องเที่ยวแบบไม่ทำร้ายโลกได้อย่างสบายใจ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวในพ.ศ.นี้ .. ชุมชนบางกอบัว ถือว่าเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่ห้ามพลาด ไปเติมสีเขียวให้เต็มหัวใจกันได้.
ขอขอบคุณ
คุณสิทธิพงษ์ ภูถาวร ประธานชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.