มะเร็งจะไม่น่ากลัวอีกต่อไปด้วยนวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง “CAR-T cell”
ในปี 2020 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการประเมินพบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งราว 19.3 ล้านคน เป็นผู้ป่วยในทวีปเอเชียราว 9 ล้านคน ยุโรป 4 ล้านคน อเมริกาเหนือ 2 ล้านคน อเมริกาใต้ 1.4 ล้านคนแอฟริกา 1.1 ล้านคน และโซนโอเชียเนียอีกราว 2 แสนคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สูงมากถึงเกือบ 10 ล้านคน
ส่วนไทยเรา จากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยปี 2565 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า แต่ละปีไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คนหรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทยคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
และการรักษามะเร็งทุกวันนี้กลายเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีรายละเอียดอันซับซ้อนด้วยเทคนิค ศาสตร์และศิลป์ขั้นเทพที่จะเอาชนะโรคร้ายที่เขย่าขวัญมนุษย์มานานแสนนานทั้งในระดับยีนส์และพันธุกรรม แถมตัวมันเองก็ยังพัฒนา กลายพันธุ์ไปได้หลายร้อยรูปแบบ
น่ายินดีที่ในวันนี้เราค้นพบอีกหนึ่งวิธีขั้นเทพใหม่ล่าสุดที่จะสามารถรักษามะเร็งได้ด้วยภูมิคุ้มกัน หรือ “เซลล์” ของเราเอง ไปหาคำตอบกับ นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับการรักษามะเร็งด้วยนวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง “CAR-T cell” ที่จะเป็นโอกาสใหม่ในการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งไทย
ล่าสุดไม่นานนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้โชว์ผลสำเร็จของการวิจัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชาวไทยด้วยCAR-T cell การจัดตั้งสถานที่ผลิตเซลล์ภายในโรงพยาบาลได้รับการรับรองแห่งแรกในประเทศและนวัตกรรมการผลิต CAR-T cell ที่ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 10 เท่า โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น
ไปรู้จัก CAR-T cell กัน!
- CAR-T Cell คือ การรักษาด้วยเซลล์บำบัดมะเร็ง โดยการนำเอาเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ มาตัดแต่งพันธุกรรมที่สามารถฆ่ามะเร็งในร่างกายผู้ป่วย
- CAR-T Cell ที่ใช้รักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาโดยพาหะไวรัสซึ่งมีราคาแพง และยัง เกิดผลข้างเคียง
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วิจัยการรักษาด้วย CAR-T Cell โดยไม่ใช้ไวรัส ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด Lymphoma สำเร็จเป็น แห่งแรกของเอเชีย ลดค่าใช้จ่ายจากปกติ 15-20 ล้านบาท เหลือเพียง 1-2 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาต่อไปได้ในอนาคตหากค่าใช้จ่ายอยู่ในขอบเขต ที่รัฐสามารถสนับสนุนหรือประกันสุขภาพครอบคลุมได้
- ตอนนี้ผลการทดลองมนุษย์เฟส 1 สำเร็จแล้ว พบว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การรักษาสูงกว่า 50-80% โดยเริ่มจากวิจัยเพื่อรักษามะเร็งในระบบเลือด
- ผลการวิจัยใน ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ และคาดการณ์ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่เกิน 1 ปี จากการรักษา หลังจากรับ CAR-T Cell หนึ่งครั้ง ผลคือมะเร็งหายจนเกือบหมด และมีอาการคงที่กว่า 14 เดือน
ความเป็นมาการรักษาโรคมะเร็งและการรักษามะเร็งแนวใหม่ใช้“ภูมิคุ้มกันบำบัด”
มะเร็งมีหลากหลายรูปแบบและการรักษามะเร็งก็มีหลากหลายมากๆ มีการรักษาแบบไหนบ้างและมันได้ผลกับมะเร็งประเภทไหน อัตราการรักษารูปแบบไหนที่ได้ผลสูงสุด?
การรักษาหลักๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การผ่าตัด คนทั่วไปจะคุ้นเคยกับวิธีนี้ เพราะเมื่อมีก้อนมะเร็งก็ต้องผ่าตัดออก จากนั้นก็มีรังสีรักษาการฉายรังสี ต่อมาก็เป็นยุคที่เราเริ่มค้นพบยาเคมีบำบัด ก็จะเริ่มมีการใช้ยาเคมีบำบัด พัฒนาเป็นสูตรยาเคมีบำบัดต่างๆ หลังจากยาเคมีบำบัดก็จะมีกลุ่มยามุ่งเป้า ซึ่งพุ่งเป้าการรักษาไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ การรักษา3-4 อย่างนี้เป็นการรักษาหลักมะเร็งมาช้านาน ผลการรักษาก็ค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็มีคนไข้อยู่กลุ่มหนึ่งหรือว่ามะเร็งบางชนิดที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาทุกวิธีที่ว่ามาทำให้ปัจจุบันเริ่มมีความสนใจและพัฒนาการรักษาแนวใหม่ขึ้นมา เรียกว่าการใช้ “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง” หมายถึงภูมิคุ้มกันของคนที่เป็นโรคหรือว่าเซลล์ของคนที่เป็นโรคเอง คือวิธีการที่เอาภูมิคุ้มกันของเราเองมาใช้สู้กับมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีใหม่ จากก่อนนี้เราจะเห็นได้ว่า การผ่าตัดให้ยา หรือว่าการฉายรังสี คือการไปโฟกัสที่ตัวมะเร็ง หรือเอาอะไรบางอย่างไปทำลายเซลล์มะเร็งในตัวคนไข้ หรือเอายาที่เป็นพิษไปทำลายเซลล์มะเร็ง
“เราฉายรังสีไปที่ก้อนมะเร็งเพื่อให้เซลล์มะเร็งมันตาย เราผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออก ทั้งหมดนี้เป็นหลักในการรักษาที่เราใช้กันมานาน แต่ว่าหลักการใหม่ในการรักษามะเร็งตอนนี้ก็คือการอาศัยภูมิคุ้มกันของเราเองนี่แหละ” นพ.กรมิษฐ์กล่าว
ภูมิคุ้มกันบำบัดก็มีอยู่หลายชนิด ตั้งแต่การใช้แอนติบอดี้ในการปลดล็อคการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ได้ Nobel Prize ไปเมื่อปี 2017 การใช้วัคซีนรักษามะเร็ง ซึ่งมีหลักการคล้ายๆกับ การใช้วัคซีนในโรคติดเชื้อ แต่ว่าแทนที่จะเป็นการติดเชื้อ เราไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันให้มันรู้จักมะเร็งและสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ และสุดท้ายก็คือการใช้เซลล์บำบัดหรือว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันในการบำบัดมะเร็ง เพราะว่า เซลล์ภูมิคุ้มกันหน้าที่หลักคือหน้าที่ในการตรวจตรา และมีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งอยู่แล้วเราก็เอาความสามารถนี้มาใช้ในการรักษามะเร็ง ทั้งหมดนี้เรียกว่า“ภูมิคุ้มกันบำบัด”
แต่งานที่ นพ.กรมิษฐ์และทีมวิจัยจุฬาฯทำหรือโฟกัสอยู่ ก็คือการใช้ “เซลล์ในการบำบัดมะเร็ง”
ว่าแต่ CAR-T cell มันคืออะไร มันคือส่วนไหน?
คาร์ทีเซลล์เป็นทั้งเซลล์และยีนส์บำบัด จัดอยู่ในกลุ่มการรักษาแบบเซลล์บำบัด
กล่าวโดยสรุป “คาร์ทีเซลล์ ก็คือการนำเอา “ทีเซลล์” หรือว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนไข้ออกมา แล้วทำการดัดแปลงพันธุกรรมเซลล์นี้ด้วยการเพิ่มความสามารถของมัน (ทำให้มันกลายเป็น “ซูเปอร์ทีเซลล์”) ให้มันสามารถรู้จักแล้วก็จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง เพราะโดยทั่วไปตัวทีเซลล์พวกนี้มันจะคอยตรวจตราและคอยหาเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว เรียกว่าเอามันมาอัพเกรด เอามันมาเพิ่มพลัง ให้สามารถต่อสู้กับศัตรูที่เก่งกว่าได้ เพราะว่าเจ้าตัวมะเร็งเองมันก็จะคอยหลบเซลล์ภูมิคุ้มกันพวกนี้อยู่ การที่เราเอาทีเซลล์พวกนี้มาดัดแปลงให้มันสามารถจำเพาะกับตัวมะเร็งตัวนั้น ก็จะทำให้มะเร็งไม่สามารถหลบตัวทีเซลล์นี้ได้อีก” คุณหมอกรมิษฐ์อธิบายให้ฟังชัดๆ
เทคโนโลยีนี้เราเรียกว่า “Chimeric Antigen Receptor T-Cell” หรือว่าทีเซลล์รีเซ็พเตอร์ลูกผสม เรียกย่อๆ ว่า CAR-T cell จะเข้าใจง่ายกว่าเพราะยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย
CAR-T cell มีทั้งวิธีการที่ใช้ไวรัสและไม่ใช้ไวรัส!
และด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า PiggyBac transposon ทำให้ต้นทุนลดต่ำลงกว่าการใช้ไวรัสมาก
นพ.กรมิษฐ์อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เวลาที่เราจะดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์วิธีที่เราจะดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์ได้มีวิธีการหลักๆ อยู่ 2 วิธีคือ การใช้ไวรัสเป็นพาหะและแบบที่ไม่ใช้ไวรัส
การใช้ไวรัส คือการเอาไวรัสนำยีนที่เราสนใจ (ก็คือยีนที่มันจำเพาะกับตัวมะเร็ง) เข้าไปในตัวทีเซลล์ และทีเซลล์จะแสดงออก ถึงตัวที่สามารถจะไปจับเซลล์มะเร็งขึ้นมาได้ เรียกว่า ก่อนที่จะอัพเกรดก็ทำให้มันเรียนรู้ ใช้ไวรัสเป็นตัวรีเซ็พเตอร์กับเซลล์มะเร็งที่เราต้องการเข้าไปในตัวทีเซลล์ และทีเซลล์ก็จะแสดงออกตัวรีเซพเตอร์นี้ขึ้นมา แทนที่มันจะต้องไปเรียนรู้นะว่าไอ้นี่คือมะเร็ง ก็ไม่ต้องเรียนรู้แล้วเพราะเราสอนมันแล้วว่า ถ้าไปเจออันนี้ก็คือเซลล์มะเร็งที่เราต้องการ นี่คือแบบที่ใช้ไวรัส
CAR-T cell แต่เดิมวิธีที่ใช้ดัดแปรงพันธุกรรมก็คือการใช้ไวรัสดัดแปลงแต่ว่าปัญหาสำคัญของการใช้ไวรัสเรื่องแรกก็คือ ต้นทุนในการใช้ไวรัสดัดแปลงพันธุกรรมค่อนข้างสูง เพราะว่าการที่จะเอาไวรัสมาดัดแปลงเซลล์ของคนไข้ แล้วก็เอาเซลล์นี้กลับเข้าไปให้คนไข้ มันก็ต้องใช้ ไวรัสที่คุณภาพสูง มีการควบคุมคุณภาพมาอย่างดี ทำให้ต้นทุนในการใช้ไวรัสสูงมาก
อีกอย่างก็คือการควบคุมคุณภาพของเซลล์ที่มีการดัดแปลงด้วยไวรัส ต้องมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะ เพราะว่ามีการใช้ไวรัสเข้าไปในเซลล์ ก็ต้องทำให้แน่ใจว่ามันไม่เกิดการกลายพันธุ์ มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่เราไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นการใช้ไวรัสจึงมีรายละเอียดเยอะ ทั้งการควบคุมคุณภาพของตัวไวรัสเองและการควบคุมคุณภาพของเซลล์ที่เราดัดแปลงด้วยไวรัส มันจึงเป็นคอขวดที่สำคัญของการรักษาด้วย CAR-T cell
CAR-T cell ที่มีการรักษาในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วในต่างประเทศ ในการรักษาโรคมะเร็ง มีต้นทุนการรักษาอยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาทเป็นแบบที่ใช้ไวรัส สิ่งที่ทำให้ต้นทุนสูงก็คือ 60% ของต้นทุนเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไวรัส
ที่มาของ CAR-T cell แบบไม่ใช้ไวรัส
“นี่คือจุดสำคัญเลยที่ทำให้ทีมวิจัยของเรา พบว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ว่ามันมีราคาสูงมาก ไม่มีทางเลยที่ประเทศกำลังพัฒนา หรือว่า คนทั่วไปจะเข้าถึงการรักษาได้ในราคา 15-20 ล้านบาท เราก็เลยพัฒนาวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมให้ได้ CAR-T cell แบบที่ไม่ใช้ไวรัสขึ้นมา ซึ่งสามารถทำให้ลดต้นทุนได้ถึง 5-10 เท่า ตอนนี้เหลือประมาณ 1 ล้านบาท ก็จะใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไขกระดูกในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง”
ทุกวันนี้ CAR-T cell ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือว่าได้รับการรับรองแล้วก็คือการใช้ CAR-T cell ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาว
โดยทั้วไปโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นกลุ่มโรคมะเร็งแบบหนึ่งที่มีการตอบสนองกับยาเคมีบำบัดค่อนข้างดี แต่มันจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อคนไข้ไม่ตอบสนองกับยาเคมีบำบัด หรือว่ามีโรคกลับเป็นซ้ำหลังจากทำการรักษามาตรฐาน ในคนไข้กลุ่มนี้ถ้ามีโรคกลับเป็นซ้ำแล้วหรือว่า ไม่ตอบสนองกับการรักษามาตรฐาน โอกาสที่เค้าจะตอบสนองกับการรักษาอื่นๆ ในปัจจุบันมันมีน้อยกว่า 10% ไม่ว่าจะเป็นยามุ่งเป้าแอนติบอดี้อื่นๆหรือแม้แต่การรักษาด้วย การปลูกถ่ายไขกระดูก โอกาสที่จะทำให้โรคของเขาสงบหรือว่าโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปมันน้อยกว่า10% แต่ว่าคาทีเซลล์เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองและการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวมันเปลี่ยนไปแบบ หน้ามือเป็นหลังมือ
สรุปคือ เมื่อการรักษาแบบอื่นเอาไม่อยู่ หรือ ไม่มีทางรักษาแล้ว แต่ตอนนี้เมื่อมีการรักษาแบบ CAR-T cell ทำให้จากโอกาสที่มีการตอบสนองน้อยกว่า 10% และโอกาสที่จะมีชีวิตรอดมากกว่าหนึ่งปีในคนไข้ที่ไม่ตอบสนองกับยาเคมีบำยัดหรือมีโรคเกิดซ้ำแทบจะไม่มีเลย
จากการศึกษาในต่างประเทศ เหตุผลที่ทำให้การรักษาแบบ CAR-T cell ได้รับการขึ้นทะเบียน เพราะคนไข้กลุ่มนี้ พอเอามารับคาทีเซลล์โอกาสตอบสนองในกลุ่มที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 50-70% ในกลุ่มที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว 80-90% มันไม่มีการรักษาอะไรในโลกนี้ที่สามารถรักษากลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาแบบใดแล้วได้ขนาดนี้ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐกับยุโรป Fast Track ขึ้นทะเบียนตัว CAR-T cell ตัวนี้
เรียกว่าในยุคแรก CAR-T cell ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีการพิสูจน์แล้วว่า ใช้ได้ผลดีมากในมะเร็งเลือด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 10% ของมะเร็งทั้งหมด
ตอนนี้สิ่งที่นักวิจัยกำลังทำก็คือการพัฒนาเทคโนโลยี CAR-T cell ที่ทำให้มันสามารถใช้กับมะเร็งก้อนได้ด้วยนอกจากมะเร็งเลือด
นพ.กรมิษฐ์ อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ยากของมะเร็งก้อนก็คือ ตัวมะเร็งที่มันเป็นก้อนนอกจากตัวมันเอง ก็มีสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวก้อนด้วยอย่างมะเร็งเม็ดเลือดหรือว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ในเลือดที่ไหลเวียน มันไม่ได้อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมัน ดังนั้นการที่ตัวคาร์ทีจะเข้าไปทำลายมันจึงไม่ยากมาก
“เราทำให้มันรู้จักมะเร็ง ด้วยความสามารถของ T cell สามารถทำลายเซลล์มะเร็งพวกนี้ได้แล้ว แต่ตัวมะเร็งที่เป็นก้อน นอกจากตัวก้อนมันเองที่มันจะมีความซับซ้อนแล้ว ตัวมันเองอาจจะมีหลายๆ แบบอยู่ในตัวเดียวกันก็ได้ หรือมีหลายๆ หน้าตาอยู่ในตัวก้อนนั้น นอกจากมีหลายๆ แบบแล้วยังมีตัวสิ่งแวดล้อมรอบๆ ก้อนอีก มะเร็งมันต้องพยายามปกป้องตัวเอง มันก็พยายามที่จะมีชีวิตรอดเหมือนกัน จึงพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต และไปกดการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ทำให้ในปัจจุบันการวิจัย CAR-T cell ในรุ่นแรกๆ การรักษาโรคมะเร็งก้อนผลจึงยังไม่ดีเหมือนกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพราะว่า เราจำเป็นต้องทำให้ CAR-T มันเอาชนะตัวสิ่งแวดล้อมรอบๆ ก้อนเนื้อที่มันมากดการทำงานของ CAR-T cell ได้”
นี่จึงนับเป็นก้าวต่อไปที่ท้าทายกับการเอาชนะโรคร้ายนี้
“การพัฒนา CAR-T cell เพื่อการรักษาโรคมะเร็งก้อน อยู่ในการวิจัยของเรา ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนา CAR-T ตัวนี้ ที่มีผลดีทั้งในหลอดทดลองและเริ่มเห็นผลดีในสัตว์ทดลองแล้ว เราคิดว่าจะมีการเริ่มจะเข้ามาทดลองในมนุษย์ได้อีกในไม่ช้า”
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ Cellular Immunotherapy Research Unit Chulalongkorn University ตางลิงก์ที่แนบมานี้
https://www.facebook.com/profile.php?id=100093333761422&mibextid=LQQJ4d
ขอบคุณข้อมูลจาก:
นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
https://www.chula.ac.th/news/109494/
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.