“นิ้ง-สิริยากร” ยุวเกษตรกร Gen ใหม่ ปั้นยอดขายทุเรียนลูกสาวกำนันไปถึงหลักล้าน

หลายปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่จำนวนมาก เลือกเดินออกจาก “ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม” เพราะบางคนมองเป็นงานหนัก บางคนมองว่า “ไม่เท่” รวมถึงบางคนมองเป็นงานยากในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สำหรับ นิ้ง-สิริยากร ธรรมจิตร์ บัณฑิตป้ายแดงเจ้าของแบรนด์ทุเรียน “ลูกสาวกำนัน” จ.จันทบุรี นั้น เธอเลือกยืนหยัดกลับมาสานต่อธุรกิจสวนทุเรียนของครอบครัว กลายเป็น New Gen ยุวเกษตรกร ที่มุ่งมั่นให้ธุรกิจเกษตรเติบโตอย่างมีนวัตกรรม

นิ้ง เล่าว่า แต่เดิมเธอเป็นเด็กที่ชื่นชอบงานด้านวิชาการ จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ช่วง ม.6 คุณพ่อของเธอไปเห็นทุนการศึกษา ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เพื่อเข้าศึกษาต่อคณะเกษตรนวัตและการจัดการ (IAM) คณะที่ช่วยให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ที่สร้างรายได้สูง

“ตอนแรกเคยตั้งคำถามว่า ถ้าเรียนด้านเกษตรกรรมเฉยๆ จะไหวหรือไม่ แต่ที่บ้านบอกเราชัดเจนว่า ไม่ได้อยากให้เรากลับมาเพื่อทำสวน แต่อยากให้มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางคณะให้เราเรียนรู้ด้านเกษตรควบคู่กับธุรกิจ ไม่ใช่เรียนแค่ทฤษฎี แต่ให้เราได้เข้าสู่ภาคปฏิบัติจริงๆ ตลอด 4 ปี ทั้งการฝึกงานที่สวนทุเรียนในจังหวัดอื่น การฝึกงานเป็นแอดมินเพจ การเรียนจริง ทำจริง ส่งผลให้เรารู้วิธีเอาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ และการนำเทคโนโลยีมาต่อยอด”

หลังเรียนจบ เธอได้เริ่มบริหารที่ดินที่ได้รับจากคุณพ่อ ขนาดประมาณ 5 ไร่ เป็นสวนทุเรียนของตัวเอง พร้อมทั้งเข้าไปช่วยทำการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับผลผลิตในสวนครอบครัวด้วยการสร้างแบรนด์ทุเรียน “ลูกสาวกำนัน” ขายสินค้าผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม

สิ่งที่เธอได้รับจากการเรียน ทำให้เธอเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น และเลือกพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม เช่น Tiktok จะมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายช่วงอายุและเจเนอเรชัน เธอจึงมีสินค้า ทุเรียนลูกป๊อกแป๊กขนาดมินิ ราคาไม่แรง ไปจนถึงทุเรียน 5 พู เกรดเอ ไว้ Live รองรับทุกกลุ่ม ขณะที่บนเฟซบุ๊ก เธอจะนำเสนอโปรดักท์ 2 เกรด ทั้งเกรดธรรมดาและเกรดพรีเมียม ส่วนบนช่องทาง All Online ของเซเว่น อีเลฟเว่น เธอจะเน้นโปรดักท์เกรดสูงที่สุด ความเข้าใจดังกล่าวส่งผลให้เธอบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การเรียนยังทำให้เธอได้รับทักษะการวางแผนและการบริหารจัดการ เช่น การบริหารจัดการน้ำในปีที่น้ำแล้ง จากเดิมที่ต้องใช้วิธีการลองผิดลองถูก เธอได้เตรียมขุดสระไว้ล่วงหน้า ทำให้สวนของเธอมีผลผลิตเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดที่มีผลผลิตลดลง เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ สวนของเธอ มีรายได้กว่า 6 ล้านบาท โดยปีหน้าตั้งเป้าสู่ยอดขาย 8 หลัก เธอมองว่า หากชาวสวนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ดี ผลผลิตของประเทศก็คงมีมากขึ้น

ซึ่งคณะเกษตรนวัตและการจัดการ พีไอเอ็ม มุ่งสร้างนักจัดการเกษตรมืออาชีพผ่านรูปแบบ Work-based Education บ่มเพาะผู้เรียนให้มีทักษะในด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์การดำเนินงานตลอดโซ่อุปทานเกษตร ได้แก่ การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ การคิดวิเคราะห์แยกแยะเพื่อการจัดการเชิงธุรกิจ และการสร้างคุณค่าทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการที่นำนวัตกรรมด้านการจัดการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรียนเกษตรจบแล้วไปทำเกษตรให้รวย พร้อมขับเคลื่อนความสำเร็จสู่เกษตรกร สังคม และองค์กรได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายเสนีย์ ธรรมจิตร์ คุณพ่อของนิ้ง-สิริยากร เล่าว่า ตัวเขามีกำลัง มีองค์ความรู้ทำให้ทุเรียนมีผลผลิตได้ แต่ขาดเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม พอเห็นทาง PIM ในกลุ่มซีพี ออลล์ มี MOU กับกรมส่งเสริมการเกษตร มีทั้งทุนการศึกษา มีทั้งรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้ได้ปฏิบัติจริง มีนักศึกษามาให้คำแนะนำที่โรงเรียนมัธยมศึกษาของลูก จึงสนใจสนับสนุนให้ลูกต่อยอด

“ภูมิใจที่เห็นลูกเราเรียนที่นี่ แล้วเขาเติบโตขึ้นมาก สินค้าแบรนด์ที่ขายออนไลน์ เขาก็ออกแบบกล่อง ออกแบบแพ็กเก็จจิ้งเอง ทำการตลาด หาช่องทางใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่ม แบ่งกลุ่มลูกค้า ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น พอน้องนิ้งกลับมา เราเองก็ได้เรียนรู้บางเรื่องจากเขาไปด้วย”

ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เล่าว่า ปัจจุบัน ซีพี ออลล์ ได้วางกรอบกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนช่วงปี 2567-2568 ภายใต้แนวคิด “2 ลด 4 สร้าง 1 DNA” ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยในแง่การส่งเสริมและสร้างคุณค่าที่หลากหลายให้แก่สังคมนั้น ดำเนินการผ่านแนวคิด “4 สร้าง” ได้แก่ 1.สร้างคน 2.สร้างงาน 3.สร้างอาชีพ และ 4.สร้างชุมชนอุ่นใจ โดย นิ้ง-สิริยากร ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของความมุ่งมั่นในการ “สร้างคน” สร้าง New Gen ยุวเกษตรกร กลับมาขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของประเทศ

“การสร้างคน เป็นเรื่องหนึ่งที่เรามุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และอีกหลากหลายช่องทาง เพราะเราต้องการช่วยสร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถผ่านการศึกษา เพื่อช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ในแต่ละปีเราจึงมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก รวมถึงจับมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในสาขาที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อนการสร้างคนอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นเราตั้งเป้ามอบทุนการศึกษามากกว่า 37,000 ทุนในปี 2568 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,181 ล้านบาท” นายยุทธศักดิ์ ย้ำ

สำหรับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน “2 ลด 4 สร้าง 1 DNA” ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นการบูรณาการการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแกนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เริ่มจาก “2 ลด” เป็นแกนขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.ลดการใช้พลาสติก 2.ลดการใช้พลังงาน  “4 สร้าง” เป็นแกนขับเคลื่อนด้านสังคม ได้แก่ 1.สร้างคน 2.สร้างงาน 3.สร้างอาชีพ และ 4.สร้างชุมชนอุ่นใจ และ “1 DNA” เป็นแกนขับเคลื่อนด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ DNA ความดี 24 ชั่วโมง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.