เครียดมากเกินไป หมดไฟก่อนวัยอันควร

“ความเครียด” เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำกัดเพศ หรือวัย แต่การ “เครียดเรื้อรัง” สะสมไปเรื่อย ๆ สามารถส่งผลกระทบกับสุขภาพกาย สุขภาพจิตได้ ซึ่งสาเหตุของความเครียดมีได้มากมาย ตั้งแต่เรื่องการงาน การเรียน เพื่อนฝูง ครอบครัว หรือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านบวกหรือด้านลบ สำหรับบางคน การวางแผนไปเที่ยววันหยุด ก็อาจทำให้เครียดขึ้นมาได้

วัยรุ่น เป็นวัยที่ต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ทั้้งด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึงวิถีชีวิต การเข้าสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ย่อมมาพร้อมกับความเครียด ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หากไม่สามารถปรับตัวให้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ อาจจะทำให้เกิดการท้อแท้ สิ้นหวัง หมดไฟก่อนวัย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเอาใส่ใจติดตามสังเกต และดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยลูกจัดการ ระบายความเครียด

สาเหตุความเครียดของวัยรุ่น “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด”

โดยธรรมชาติแล้ว วัยรุ่นเป็นวัยที่แสวงหาตัวตน การได้รับการยอมรับ ซึ่งบ่อยครั้งสิ่งนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับเพื่อน พี่น้อง หรือบุคคลอื่น ๆ และในสมัยนี้มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งยิ่งเป็นการทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้ง่ายและเด่นชัดยิ่งขึ้น จนสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คิดว่าตัวเองไม่ดีเท่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้ สามารถก่อให้เกิดความเครียด เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่วัยรุ่นต้องเจออยู่แล้ว

สังเกตวัยรุ่นที่บ้าน เข้าสู่ความเครียดมากเกินไปหรือไม่

สุขภาพทางใจ : พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น จากเป็นคนร่าเริง เปลี่ยนเป็นคนเก็บตัว เหม่อลอย ไม่มีสมาธิ เบื่อท้อ เศร้า อาจมีการพูดในเชิงลบ ด้อยค่า กับตัวเอง หรือ ผู้อื่น มากขึ้น รวมถึงการเขียนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ลงโซเชียลมีเดีย

สุขภาพทางกาย : สิ่งที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ พฤติกรรมการกินและการนอนบางคนอาจจะกินมากขึ้น กินจนควบคุมไม่ได้ หรือ บางคนอาจจะเบื่ออาหาร ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไปจนผิดปกติ สำหรับการนอน บางคนอาจจะนอนมากขึ้น แต่ตื่นมาไม่สดใส หรือ บางคนก็อาจจะมีอาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ความเครียดยังสามารถก่อให้เกิดอาการทางกายอื่น ๆ เช่น ปวดหัว ปวดตามตัว ใจสั่น อ่อนเพลีย เป็นต้น

พ่อแม่ รับบท ผู้รับฟัง ไม่ใช่ “ผู้ตัดสิน”

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรตระหนักถึงความสำคัญของการรู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี และควรพยายามเปิดใจฟัง โดยไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ลูกพูดหรือทำนั้น ผิดหรือถูก การที่ลูกมาพูดคุยด้วย เขาอาจจะแค่อยากมีคนรับฟัง โดยไม่ได้อยากได้คำแนะนำ หรือคำสั่งสอน บ่อยครั้ง พ่อแม่มักจะหวังดีอยากช่วย จึงด่วนให้คำแนะนำไป โดยที่ลูกยังไม่ได้รู้สึกว่าได้รับการรับฟัง ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกตัดสิน และรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดออกไป

สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารออกไปว่า พ่อแม่อยู่พร้อมตรงนี้และคอยสนับสนุน ในบางกรณี พ่อแม่อาจจะกระตุ้นให้ลูกคิดถึงแง่มุมต่าง ๆ ของปัญหา ชวนให้ลูกคิด ช่วยร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และวิธีการแก้ไข โดยที่ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วแล้วก็ตาม แต่ควรให้โอกาสลูกได้คิด ได้ตัดสินใจด้วยตนเองด้วย

ความเครียดถือได้ว่าเป็นภาวะที่ต้องให้ความใส่ใจและถึงแม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็นได้เห็นได้ ชัดเจนเหมือนอาการบาดเจ็บภายนอกร่างกาย แต่ก็สามารถส่งผลกระทบได้ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วิธีการดูแลเบื้องต้น

พยายามแยกแยะว่า เรื่องที่เครียดนั้น เป็นเรื่องที่ควบคุมได้หรือควบคุมไม่ได้ การคิดต่อไปเกิดประโยชน์แค่ไหน หากเริ่มรู้สึกว่าจมอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป พยายามดึงตัวเองออกมา ผ่านการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ออกไปเดินเล่น ออกไปเจอเพื่อน ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที เพื่อช่วยบรรเทาความเครียด รวมถึงช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น นอนหลับพักผ่อน ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์แจ่มใสขึ้น รับประทานอาหารมีประโยชน์

หากใครสงสัยว่าตนเองมีภาวะเครียดสะสม เครียดเรื้อรัง และยังจัดการไม่ได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อรับการประเมิน และการดูแลรักษา ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

โดย: นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.