“นกพิราบ” อันตรายกว่าที่คิด พาหะนำโรคที่อันตรายถึงชีวิต
“นกพิราบ” เป็นนกที่เราสามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป เนื่องจากเป็นนกที่ไม่ค่อยกลัวคน และชอบลงมาคลุกคลีอยู่ตามอาคารบ้านเรือนของคนมากกว่าจะอยู่ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม นกพิราบนั้นไม่ได้น่ารักแถมยังอันตรายกว่าที่คิด เนื่องจากเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์ได้หลายโรค มูลของนกพิราบเต็มไปด้วยเชื้อโรค ด้วยนกพิราบที่ลงมาคลุกคลีอยู่ในชุมชนมักจะขับถ่ายจนเกิดความสกปรกไปทั่วบริเวณ หรือมูลของนกที่ติดมาตามตัวนก เวลาที่นกกระพือปีกบิน ก็จะทำให้ละอองของเชื้อโรคฟุ้งกระจายไปทั่ว ดังนั้น นกพิราบจึงเป็นภัยเงียบที่อาจทำให้เราเจ็บป่วยถึงแก่ชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว
ด้วยความที่นกพิราบมักจะลงมาอยู่ในชุมชนใกล้ชิดกับคน จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบให้อาหารนกพิราบ ด้วยความสงสารและเข้าใจว่าเป็นการทำบุญทำทาน แต่การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้นกพิราบเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ เพราะหาอาหารกินง่าย จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากฝูงนกและมูลนกจำนวนมาก กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ การให้อาหารนกพิราบมีความผิดตามกฎหมาย
การให้อาหารนกพิราบในที่สาธารณะ จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 25 ประกอบมาตรา 27 วรรค 2 และมาตรา 74 ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกอบพระราชบัญญัติการสาธารณสุข แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 32 และมาตรา 54 ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนนกพิราบ ป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ และการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากนกพิราบ
นกพิราบเป็นพาหะนำโรคได้หลายโรค ข้อมูลจากโรงพยาบาลเพชรเวช พบว่าเชื้อโรคที่มาจากนกพิราบ สามารถก่อโรคในคนได้มากถึง 7 โรคเลยทีเดียว ได้แก่
1. โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)
เกิดจากเชื้อราคริปโตคอกคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) ที่พบได้ในมูลของนกพิราบ ส่งผลกระทบต่อปอด ปกติจะก่อโรคในแมวและในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน โดยการติดเชื้อ จะเกิดจากการหายใจเอาละอองของเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ คือที่ปอดและสมอง หากติดเชื้อที่ปอด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นเลือด หายใจไม่อิ่ม เลือดกำเดาไหลออกจมูก เจ็บหน้าอก มีไข้
ในกรณีที่ติดเชื้อที่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยจะปวดศีรษะแบบเป็น ๆ หาย ๆ มองเห็นไม่ค่อยชัด มีไข้ ปวดคอ คลื่นไส้อาเจียน ไวต่อแสง รู้สึกสับสน มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เนื่องจากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
2. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา บริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลังจนทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบ การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ไม่สะอาดนัก หรืออาจเกิดจากการรับพยาธิที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบก็ได้ รวมถึงจากการสัมผัสมูลของนกพิราบ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค พบว่าเชื้อคริปโตคอกคัส นีโอฟอร์แมนส์ จากมูลนกพิราบนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สูงถึงร้อยละ 9.09 ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
การติดเชื้อสามารถติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยมักจะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ คอแข็งขยับไม่ได้ ตาแพ้แสง มีอาการสับสน ไม่มีสมาธิในการจดจ่อ เบื่ออาหาร โดยทั่วไปหากติดจากเชื้อไวรัส อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่หากติดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรง จะมีอาการแทรกซ้อนอย่าง ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต สมองพิการ ดังนั้น ความรุนแรงก็คือ อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้
3. โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)
โรคไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อเอเวียน อินฟลูเอนซา ไวรัส (Avian Influenza virus) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลอินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ ชนิด A, B และ C โดยไข้หวัดนกอยู่ในชนิด A อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและชนิดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ โดยปกติแล้วโรคไข้หวัดนกจะเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์ปีกด้วยกันและไม่ติดต่อมาสู่คน ทว่าบางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้ เมื่อคนสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วย เช่น มูล น้ำมูก น้ำลาย หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วย ส่วนการติดต่อจากคนสู่คนมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก
ผู้ป่วยมักมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ซึ่งจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ หายใจเหนื่อยหอบจากปอดอักเสบ และอาจพบเลือดกำเดาหรือมีเลือดออกตามไรฟัน หากมีอาการแทรกซ้อนอาจมีอาการรุนแรงถึงปอดบวมและเกิดระบบหายใจล้มเหลวได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
4. โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)
หรือโรคไข้นกแก้ว เนื่องจากเชื้อชนิดนี้พบครั้งแรกในนกแก้ว เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย ซิตตาซี (Chlamydia Psittaci) แบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อในนกชนิดต่าง ๆ เช่น นกแก้ว นกพาราคีท นกพิราบ นกกระจอก และนกคีรีบูน นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้อนี้ได้ในสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ อย่างเป็ดและไก่งวง รวมถึงพบในสัตว์ที่ใกล้ชิดกับนกหรือสัตว์ปีก เช่น สุนัข แมว ม้า และหมูด้วย โดยคนจะได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสมูลนกหรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของนกที่ติดเชื้อ รวมถึงการสูดดมเอาละอองของมูลนกแห้งหรือขนนกที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป นอกจากนี้คนยังอาจมีโอกาสได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับปากของนกหรือถูกนกกัดโดยตรง
หากติดเชิ้อนี้ ทั่วไปจะคล้ายกับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น ๆ โดยอาการมักจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ไอแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม โรคไข้นกแก้วยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปอดบวมได้เช่นกัน
5. โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (Pneumonitis)
โรคปอดอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือปอดอักเสบจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หากปอดอักเสบจากการติดเชื้อ สาเหตุจะมาจากการรับเชื้อโรคเข้าสู่ปอด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียที่พบมักได้แก่ เชื้อ Streptococcus pneumoniae, เชื้อ Haemophilus influenzae type b, เชื้อ Chlamydia pneumoniae, เชื้อ Legionella spp. และเชื้อ Mycoplasma pneumoniae เชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อ Influenza หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อรา Cryptococcus Neoformans จากมูลนกหรือซากพืชซากสัตว์
การติดเชื้อจะเกิดขึ้นเมื่อเราหายใจและสูดดมเอาเชื้อเหล่านี้เข้าไปในปอด ก็อาจทำให้ปอดอักเสบได้ โดยเฉพาะเชื้อรา Cryptococcus Neoformans จากมูลนกพิราบ ซึ่งจะเริ่มจากอาการปอดติดเชื้อก่อน แล้วอาจค่อย ๆ ลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อราประเภทนี้อันตรายมาก หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้เลย นอกจากนี้ ในนกพิราบยังมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Chlamydia pneumoniae ที่ทำให้เกิดอาการปอดบวมได้อีกด้วย
6. โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)
เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) โดยมีนกพิราบเป็นพาหะของโรค โรคนี้มักเกิดจากการที่เรารับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีสารปนเปื้อนของเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้ การติดเชื้ออาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนถึง 2 วันจึงจะปราฏอาการของโรค ปกติแล้วเชื้อซาลโมเนลลา จะเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนหรือสัตว์และสามารถปนออกมากับอุจจาระได้ ดังนั้น การติดเชื้อส่วนใหญ่จึงเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย เมื่อติดเชื้อแล้ว จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย โดยอุจจาระอาจมีเลือดปน ถ่ายเหลว ปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร หรืออาเจียน
7. โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราฮิสโตพลาสมา (Histoplasma) ซึ่งมักพบในดินที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลของนกหรือค้างคาว ในบริเวณที่พบฝูงนกพิราบจำนวนมาก และนกพิราบถ่ายมูลทิ้งไว้ ก็จะทำให้บริเวณนั้นมีเชื้อราชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ ในผู้ป่วยที่ร่างกายปกติแข็งแรงมักจะไม่แสดงอาการ แต่ผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดการติดเชื้อในปอดรุนแรง เรื้อรัง หรือการติดเชื้อราแพร่กระจายจากปอดไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ
การติดเชื้อ เกิอขึ้นเมื่อเราสูดดมสปอร์ของเชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศ จนก่อให้เกิดการติดเชื้อราตามมาได้ ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจพบอาการเล็กน้อยหลังได้รับเชื้อ จะมีอาการเป็นไข้ ไอแห้ง เหนื่อยล้ามาก ตัวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ หรือเกิดผื่น ทว่าในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวปอดหรือป่วยเป็นโรคปอดอย่างถุงลมโป่งพองอยู่แล้ว อาจเผชิญกับอาการป่วยเรื้อรัง ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง ไอเสมหะเหนียวหรือเป็นเลือด หายใจลำบาก ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ในเด็กทารกและคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจเสี่ยงปอดติดเชื้อราแบบเรื้อรัง หรือเชื้อราอาจแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
การป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากนกพิราบ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบ หรือเข้าไปอยู่ในฝูงนกพิราบเยอะ ๆ รวมทั้งสัมผัสนกพิราบที่ตายแล้ว
- หากมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในบริเวณที่แวดล้อมไปด้วยนกพิราบ หรือมูลของนกพิราบ ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาด ในขณะที่ทำความสะอาดบริเวณที่มีมูลนก ควรสวมถุงมือด้วย
- ไม่ให้อาหารแก่นกพิราบ
- ไล่นกพิราบออกจากที่อยู่อาศัย
- ทำลายรังนกพิราบ พร้อมทั้งทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากนกพิราบ เช่น บุคคลที่ต้องสัมผัสกับมูลนกพิราบ บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่แวดล้อมด้วยนกพิราบ บุคคลที่ชอบให้อาหารนกพิราบ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบ มูลนกพิการ และซากนกพิราบที่ตายแล้วให้มากที่สุด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.