"โพรไบโอติกส์" กับ "พรีไบโอติกส์" คืออะไร ต่างกันอย่างไร และสำคัญอย่างไรต่อร่างกายของเรา

ในลำไส้ของมนุษย์เรา เต็มไปด้วยจุลินทรีย์มากมาย ซึ่งชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ ล้วนส่งผลต่อภาวะสุขภาพของเรา ทุกวันนี้ “โพรไบโอติกส์” และ “พรีไบโอติกส์” จึงเป็นหัวข้อที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ แม้ชื่อจะฟังดูคล้ายกัน แต่ทั้งสองมีบทบาทแตกต่างกันในเรื่องของสุขภาพ

โพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ คืออะไร

  • โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นแบคทีเรีย หรือยีสต์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นใยอาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ แต่พรีไบโอติกส์สามารถถูกย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มโพรไบโอติกส์ จึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ช่วยให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เติบโต

ทำไมจุลินทรีย์ในลำไส้ถึงมีความสำคัญ

หน้าที่หลักของจุลินทรีย์ชนิดดี คือ การรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วยปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม ต่อสู้กับแบคทีเรียที่เป็นอันตราย รวมถึงช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และควบคุมการอักเสบ

เซลล์ลำไส้เป็นปราการสำคัญที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อก่อโรค จุลินทรีย์ชนิดดีเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันแบบเยื่อเมือก (Mucosal Immune Response) สามารถส่งเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) ได้แก่ กระบวนการจับกินสิ่งแปลกปลอมโดยเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลล์ (Phagocytic Activity of Neutrophils) และ การทำลายสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เพชฌฆาต (Cytotoxic Activity of NK Cells)

มีหลายการศึกษาที่รายงานประโยชน์ของจุลินทรีย์ ในการช่วยบรรเทาโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease, IBD) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome, IBS) ช่วยป้องกันและลดอาการท้องเสียที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ด้วย เพราะจุลินทรีย์แต่ละสายพันธุ์ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกัน  ดังนั้น ความหลากหลายของแบคทีเรียในลำไส้ จึงมีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของโรคอ้วน และเรื่องอื่น ๆ มากมาย

นอกจากนี้ แบคทีเรียในลำไส้ยังสร้างวิตามินเค (Vitamin K) ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการแข็งตัวของเลือด และกรดไขมันสายสั้น (SFA; Short-chain Fatty Acids) ที่เป็นสารอาหารสำคัญของเซลล์เยื่อบุลำไส้ ช่วยให้ผนังลำไส้มีความแข็งแรงป้องกันร่างกายจากสารที่เป็นอันตราย เชื้อก่อโรค อีกทั้งกรดไขมันสายสั้นยังช่วยลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย

อาหารส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้อย่างไร

ปัจจัยที่ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในร่างกายของมนุษย์มีหลากหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม อายุ สิ่งแวดล้อม และอาหาร ซึ่งอาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวันมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อสมดุลของจุลินทรีย์ชนิดดี และชนิดไม่ดีในลำไส้ เริ่มต้นตั้งแต่วัยทารก เด็กที่ได้รับนมแม่จะส่งเสริมแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ที่ส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน

อาหารกลุ่มที่มีน้ำตาลสูงและไขมันสูง ส่งผลต่อสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้จำนวนของแบคทีเรีย Bacteroidetes ลดลงและแบคทีเรีย Firmicutes เพิ่มขึ้น อัตราส่วนของแบคทีเรียทั้งสองกลุ่มนี้ มีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกาย (BMI) ที่สูงขึ้นด้วย รวมถึงสามารถส่งผลต่อปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องเป็นประจำ อาจทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดีเติบโตได้เร็วขึ้น  ในขณะที่แบคทีเรียชนิดที่มีประโยชน์ ไม่มีจำนวนมากพอที่จะป้องกันอันตราย นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ ยังส่งผลเสียต่อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและวัยรุ่น

แหล่งอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์

เราสามารถเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกายได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ 

  • ตัวอย่างอาหารที่อุดมด้วยโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต  กะหล่ำปลีดอง (Sauerkraut) กิมจิ ชาหมักคอมบูชา คีเฟอร์ (Kefir) มิโซะ เทมเป้ เป็นต้น หรือผลิตภัณฑ์ที่ฉลากโภชนาการ ระบุว่า ‘มีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต’ (Live and Active Cultures) 
  • ตัวอย่างอาหารที่อุดมด้วยพรีไบโอติกส์ เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโอ๊ต กล้วย ผลเบอร์รี่ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม หัวกระเทียม ต้นกระเทียม แก่นตะวัน (Jerusalem Artichoke) เป็นต้น

การเสริมโพรไบโอติกส์มีความปลอดภัยแค่ไหน

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม แคปซูล หรือผง การเสริมโพรไบโอติกส์ โดยทั่วไปถือว่าปลอดภัย เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ มีอยู่แล้วตามธรรมชาติและในร่างกายของคุณ แต่ในช่วงสัปดาห์แรกของการเริ่มใช้ อาจมีอาการลำไส้ปั่นป่วนเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย ท้องผูก หรือ ท้องอืด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบางคนการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ อาจต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คนกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยวิกฤตหรือเจ็บป่วยร้ายแรง ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด รวมถึงเด็กหรือทารก ดังนั้น ควรพูดคุยหรือปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะเริ่มอาหารเสริมโพรไบโอติกส์

แหล่งที่มา

  • Lenoir-Wijnkoop I, Sanders ME, Cabana MD, Caglar E, Corthier G, Rayes N, et al. Probiotic and prebiotic influence beyond the intestinal tract. Nutrition Reviews. 2008;65(11):469–89. 
  • Peng M, Tabashsum Z, Anderson M, Truong A, Houser AK, Padilla J, et al. Effectiveness of probiotics, prebiotics, and prebiotic‐like components in common functional foods. Comprehensive Reviews in Food Science and Food Safety. 2020;19(4):1908–33. 
  • Saad N, Delattre C, Urdaci M, Schmitter JM, Bressollier P. An overview of the last advances in probiotic and Prebiotic Field. LWT - Food Science and Technology. 2013;50(1):1–16. 
  • Zhang M, Yang X-J. Effects of a high fat diet on intestinal microbiota and gastrointestinal diseases. World Journal of Gastroenterology. 2016;22(40):8905.
  • Buttriss JL, Stokes CS. Dietary Fibre and Health: An overview. Nutrition Bulletin. 2008;33(3):186–200.
  • Dimidi E, Cox SR, Rossi M, Whelan K. Fermented foods: Definitions and characteristics, impact on the gut microbiota and effects on gastrointestinal health and disease. Nutrients. 2019;11(8):1806.
  • Zmora N, Suez J, Elinav E. You are what you eat: Diet, health and the gut microbiota. Nature Reviews Gastroenterology & Hepatology. 2018;16(1):35–56.

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.