ชวนเที่ยว 18 พิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์ ไม่ต้องมีความรู้เรื่องหมอก็สนุกได้
สิ่งหนึ่งที่คน (ที่อาศัยอยู่ใน) กรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้กันก็คือ ภายในอาณาเขตเล็ก ๆ ของเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงานสูง ๆ แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกจริตนักท่องเที่ยวต่างชาติ และห้างสรรพสินค้าจำนวนมากที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ความจริงแล้วมีพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ซ่อนตัวกระจัดกระจายอยู่จำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์เฉพาะด้าน “ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข” พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เชิงลึกทางด้านวิชาการแพทย์ของแต่ละภาควิชา ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้าชมอยู่มากมาย และไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ก็สามารถเข้าไปชมได้อย่างสนุกสนาน โดยหลายแห่งสามารถเข้าชมได้ฟรี และหลายแห่งก็ต้องเสียค่าเข้าชม แต่บอกเลยว่าราคาไม่ได้สูงมากสำหรับผู้เข้าชมชาวไทย ที่สำคัญยังคุ้มค่ามากที่ได้เข้าไปศึกษาความรู้ด้านการแพทย์ เข้าไปเห็นวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยด้วยตาตัวเอง Tonkit360 จึงได้รวบรวมพิพิธภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ที่น่าสนใจ มาป้ายยาให้ได้ไปเที่ยวกัน
พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน
ใครที่อยากเรียนหมอต้องไม่พลาด เพราะที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงสิ่งแสดงทางกายวิภาคของมนุษย์ ซึ่งแต่ละผลงานนับว่าเป็นผลงานระดับโลกที่หาดูได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นกายวิภาคของอวัยวะ ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย กระดูกและข้อต่อ เส้นประสาททั้งร่างกาย หลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย การเจริญเติบโตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงระยะคลอด หรือแม้แต่ร่างกายมนุษย์ตัดตามขวางตลอดตัว และโครงกระดูกของบุคคลสำคัญในวงการแพทย์
ที่อยู่ ชั้น 3 ตึกกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน
คนที่ชื่นชอบซีรีส์-ภาพยนตร์พล็อตสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม หรือสารคดีคดีปริศนา อาจถูกใจที่นี่เป็นพิเศษ เพราะที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน แห่งนี้ เป็นแหล่งรวมความรู้ชั้นยอดที่จะทำให้การชมสารคดีและบันเทิงคดีต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจและได้อรรถรสเพิ่มขึ้น เนื่องจากงานนิติเวชศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญมากในการนำวิชาแพทย์และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อหาสาเหตุการตายอย่างผิดธรรมชาติ ที่นี่จัดแสดงเกี่ยวกับนิติพยาธิวิทยา ชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ตายด้วยโรคตามธรรมชาติ และตายโดยผิดธรรมชาติ เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ การจัดแสดงยาเสพติดชนิดต่าง ๆ วัตถุพยานหลักฐานจากศพจากคดีต่าง ๆ กะโหลกศีรษะที่ได้จากการทดลองยิงเพื่อศึกษาทิศทางบาดแผล รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 8
ที่อยู่ ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10701
วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส
พยาธิวิทยา (อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-วิด-ทะ-ยา) เป็นศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยโรคจากอวัยวะเนื้อเยื่อ เซลล์ และสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ พยาธิแพทย์จึงเป็นแพทย์วินิจฉัยโรค ไม่ใช่แพทย์รักษาผู้ป่วยโดยตรง ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติพยาธิวิทยาในประเทศไทย ห้องจำลองการปฏิบัติงานทางพยาธิวิทยาที่ตึกเสาวภาคย์ แสดงระบบการทำงานของหัวใจปกติและโรคหัวใจ พัฒนาการและความพิการแต่กำเนิดของทารกและโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในชายและหญิง พร้อมแนวทางการรักษาและป้องกัน โดยจัดแสดงด้วยสิ่งแสดงจริงพร้อมหุ่นจำลองประกอบ
ที่อยู่ ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10701
วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา
ปรสิตวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตซึ่งทำให้เกิดโรคกับคน หรือเป็นตัวนำโรคมาสู่คน และศึกษาเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์หลายชนิดด้วยกันในภาวะปรสิต (ฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์จากการเป็นโฮสต์ ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการไปอาศัยอยู่กับโฮสต์ เป็นเหตุที่ทำให้โฮสต์อ่อนแอและเกิดโรคในโฮสต์) ปรสิตวิทยาจึงจัดว่าเป็นวิชาที่สำคัญมากวิชาหนึ่งในการศึกษาแพทยศาสตร์ ที่นี่จึงจัดแสดงเกี่ยวกับพยาธิจากผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน โปรโตซัวทางการแพทย์ แมลงนำโรคและสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ
ที่อยู่ ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10701
วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารเเละวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบก
เป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์สายแพทย์ทหาร ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในพระที่นั่งภายในพระราชวังพญาไท ด้านหน้าห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ มีอนุสาวรีย์อนุรักษ์กำลังรบ ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดเท่าคนจริง แสดงถึงวีรกรรมและภารกิจหลักของเหล่าทหารแพทย์ ส่วนการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกเกี่ยวกับประวัติกรมการแพทย์ทหารบก ห้องต่อมา นำเสนอภารกิจและวีรกรรมเหล่าทหารแพทย์ และห้องสุดท้าย จัดแสดงเกี่ยวกับการลำเลียงผู้ป่วยบาดเจ็บและอุปกรณ์การแพทย์ในอดีต
ที่อยู่ กรมการแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถ.ราชวิถี พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
วันและเวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.30-14.30 น. ปิดวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร เดิมใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เครื่องยาไทยและประวัติเภสัชกรรมไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาหาความรู้ของผู้เรียนและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสมุนไพร ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างสมุนไพรทั้งของไทยและต่างประเทศ รูปเคารพ ตำรายา เครื่องมือในการผลิตยาสมัยโบราณ รวมไปถึงข้อมูลวิวัฒนาการในการผลิตและการใช้ยาของไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับยาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
ที่อยู่ ชั้น 3 อาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
วันและเวลาทำการ เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. เว้นวันหยุดราชการ (หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์)
พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย
พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย จัดตั้งขึ้นโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติการแพทย์แผนไทยจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงเรื่องราวตามหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ต้นกำเนิดวิชาชีพเภสัชกรรม วิวัฒนาการเภสัชกรรมแผนตะวันออกและภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิวัฒนาการเภสัชกรรมไทยแผนตะวันตก วิวัฒนาการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ประวัติการศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย วิวัฒนาการวิชาชีพและบทบาทของเภสัชกร รวมถึงกำเนิดและบทบาทของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่อยู่ ชั้น 3 อาคารเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขที่ 40 ซ.สันติสุข (สุขุมวิท 38) เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10110
วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์-ศุกร์ 10.00-16.00 น.
พิพิธภัณฑ์กุมารศัลยศาสตร์
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาด้วยตนเองในด้านศัลยศาสตร์และกุมารศัลยศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์สำหรับแสดงประวัติความเป็นมาในด้านกุมารศัลยศาสตร์ แบ่งจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จัดแสดงตัวอย่างพร้อมการบรรยายในเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ การตรวจโรค การวินิจฉัยโรคในระดับต้น และระดับใช้กล้องจุลทรรศน์ และส่วนที่สอง เป็นการรักษาโรค สถานที่สำหรับจัดแสดงอุปกรณ์ด้านการวิสัญญี โคมไฟ และเครื่องมือสำหรับการผ่าตัด เตียงผ่าตัด ซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี ก่อนถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่
ที่อยู่ ชั้น 7 ตึก สก. ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 9.00-15.30 น. (ผู้สนใจเข้าชม กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า)
พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นระลึกถึงหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนด้านการรักษาฟัน ช่องปาก ใบหน้า ในโอกาสแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525 ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมสิ่งอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการด้านทันตกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เครื่องมือเครื่องใช้ทางทันตกรรมตั้งแต่สมัยอดีต ลักษณะฟันของคนไทย รวมถึงอุปกรณ์โบราณหายากที่เก็บมาจากคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่คลินิก อาคาร 5 ถนนราชดำเนิน โรงพยาบาลตำรวจ และสถานประกอบการรุ่นแรกของเมืองไทยบริเวณถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายวัสดุทันตกรรมและรักษาผู้ป่วยโดยทันตแพทย์ชาวจีนรุ่นแรก ๆ
ที่อยู่ ชั้น 1 อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
วันและเวลาทำการ เปิดวันพุธและวันศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. (ผู้สนใจเข้าชม กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า)
พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living museum) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดสากล ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายในมีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 7 ส่วน คือ “สถาปนาสันติธรรม” จัดแสดงประวัติความเป็นมาของคณะกรรมการกาชาดสากลและสภากาชาดไทย “บูรณาการสถานศึกษา” ภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล “โอสถบริรักษ์” ภารกิจในการผลิตเซรุ่มและวัคซีน เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ “อภิบาลดรุณ” ข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “บุญเกษม” ภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ “บำเพ็ญคุณากร” ภารกิจในการบรรเทาทุกข์โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และ “อมรสาธุการ” นำเสนอยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย รวมทั้งของที่ระลึกต่าง ๆ ที่มอบให้ผู้มีอุปการคุณ
ที่อยู่ สภากาชาดไทย ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
วันและเวลาทำการ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.00 น.
พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทยแห่งแรกในประเทศไทย ที่รวบรวมประวัติการพยาบาลไทยตั้งแต่เริ่มก่อเกิดวิชาชีพการพยาบาลไทย และพัฒนาการของวิชาชีพในด้านต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์ของเนื้อหาและการจัดแสดงที่ทันสมัยผ่านเทคนิคหลายรูปแบบ เช่น บอร์ดนิทรรศการ วีดิทัศน์ ฉากจำลอง และเทคนิคแบบ Sequence ที่เล่าเรื่องด้วยแสงและเสียง นอกจากนี้ยังมี “ฐานข้อมูลจดหมายเหตุทางการพยาบาล” เพื่อให้บริการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการพยาบาลของประเทศไทย สำหรับผู้ที่สนใจหรือค้นคว้าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล
ที่อยู่ ชั้น 4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ใกล้ท่าน้ำวังหลัง) โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
วันและเวลาทำการ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-15.30 น. (กรุณานัดหมายล่วงหน้า)
พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย
พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจงานแพทย์แผนไทยและภูมิใจในภูมิปัญญาไทย โดยมีหัวใจสำคัญคือการนำเสนอแก่นแท้ของภูมิปัญญา ปรัชญาการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยเพื่อให้คนเห็นเรียนรู้เข้าใจเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทย 9 หลัง โดยรอบอาคารแวดล้อมด้วยสวนสมุนไพร บางต้นเป็น “ต้นไม้พูดได้” ที่ผู้สนใจสามารถกดปุ่มเพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ได้
ที่อยู่ สถาบันการแพทย์แผนไทย ภายในกระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
วันและเวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม)
พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย
ตั้งอยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี เพื่อต้องการให้ตระหนักถึงความสำคัญของถุงยางอนามัย ที่มีประโยชน์ในการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก จัดแสดงถุงยางอนามัยแบบต่าง ๆ จากหลากยี่ห้อที่ขายในประเทศ นำเข้า และส่งออกมากกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ถุงยางอนามัยยุคแรกที่คนไทยรู้จักในนามถุงยางอนามัยมีชัยสายรุ้ง รวบรวมวิวัฒนาการ การพัฒนาคุณภาพ ตั้งแต่รูปลักษณ์ สีสัน การแต่งกลิ่น รูปแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัย ด้วยเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีที่แม่นยำ น่าเชื่อถือ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมข้อมูลสถิติ ผลการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัย ให้คำแนะนำวิธีเลือกซื้อ การเลือกขนาดที่เหมาะสม วิธีใช้ที่ถูกต้อง รวมถึงการเลือกใช้สารหล่อลื่นเพิ่มเติม
ที่อยู่ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ (อาคาร 9 ชั้น 8) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 88/7 บำราศนราดูร ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม)
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เริ่มต้นจากการบริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ ของคัทสุมิ คาตามูระ จากการแนะนำของศาสตราจารย์คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว ในปี พ.ศ.2554 โดยลงนามในสัญญาบริจาคกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์นี้เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยการใช้พลาสติกเหลวแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อ ทำให้ไม่เน่าสลาย และสามารถคงสภาพได้นาน โดยจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์แบบ 3 มิติ
ที่อยู่ ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์ เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330
วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์ เวลา 10.00-16.00 น., พุธ เวลา 09.30-12.00 น. และศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น.
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
เป็นพิพิธภัณฑ์จัดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นำเสนอเรื่องราวที่ทรงคุณค่ายิ่ง ทั้งทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย-วังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างทางรถไฟสายใต้และวิถีชุมชนบางกอกน้อย นอกจากนั้นยังแสดงถึงกำเนิดแห่งโรงพยาบาลศิริราชและโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ประวัติการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ณ “ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์” ที่นำเสนอจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลศิริราช “โซนจำลองการผ่าตัด” ร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่าตัดในห้องผ่าตัด “ห้องสยามรัฐเวชศาสตร์” รู้จักการแพทย์แผนไทย ศาสตร์อันลึกซึ้งที่ไม่ลึกลับ เรียนรู้ได้ เข้าใจได้ และยังช่วยให้ดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี “ร้านโอสถวัฒนา” รวบรวมสมุนไพรไทยหลายร้อยชนิดในร้านขายยาโบราณ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์หลากหลายพัฒนามาเป็นการผลิตยาด้วยเทคนิคที่ทันสมัย “พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์” จุดกำเนิดของวงการศัลยศาสตร์ไทย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี
ที่อยู่ สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช อาคารอนุรักษ์ สถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เลขที่ 2 ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบันและคลินิกเอกชนรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย บนถนนเจริญกรุง รวมถึงที่มาของคำว่า เบอร์ลิน (Berlin) ซึ่งเป็นชื่อของอาจารย์ชาวเยอรมัน ผู้ประสาทวิชาด้านแพทยศาสตร์ให้กับนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ และนำมาตั้งเป็นชื่อคลินิกเอกชนรักษาผู้ป่วย ด้วยชื่อว่า ห้างขายยาเบอร์ลิน (Berlin Dispensary) ในพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน จึงนำเสนอเรื่องราวตามลำดับเวลาตั้งแต่ต้นตระกูลและประวัติของนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ การก่อตั้งห้างขายยาจากคลินิกสู่บริษัทผลิตยา จนเป็นบริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตรี้ จำกัด
ที่อยู่ 359 ถ.เจริญกรุง (แยกเสือป่าตัดกับถนนเจริญกรุง) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
วันและเวลาทำการ เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
หน่วยงานในสังกัดสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นแหล่งศึกษา วิจัย สํารวจ รวบรวมตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ในตํารับยาแผนไทย สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาสามัญประจําบ้าน สมุนไพรหายากใกล้สูญพันธุ์ ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยจัดเก็บในรูปแบบตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ดอง และตัวอย่างเครื่องยา ตามรูปแบบพิพิธภัณฑ์พืชสากล จัดทํามาตรฐานและพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพรด้วยวิธีการทางอนุกรมวิธานพืช กายวิภาคศาสตร์ พฤกษเคมี และชีวโมเลกุลของพืช เพื่อรองรับการอ้างอิงมาตรฐานสมุนไพรเพื่อการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ
ที่อยู่ สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เลขที่ 693 อาคารสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย ถนนบำรุงเมือง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
วันและเวลาทำการ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.
พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช
ตลอดเวลาร้อยกว่าปีที่ ศัลยศาสตร์ศิริราช เป็นศูนย์รวมหมอผ่าตัดระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รับรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนมาก เพาะบ่มศัลยแพทย์มามากกว่า 1,000 คน ทำให้ศัลยศาสตร์ศิริราชประกอบด้วยสาขาวิชามากที่สุดถึง 10 สาขา ที่พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราชแห่งนี้ จึงจัดแสดงเรื่องราวของศัลยศาสตร์ศิริราช ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ศัลยศาสตร์ในประเทศไทย สู่ยุคเทคโนโลยีขั้นสูง รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการผ่าตัดด้านต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์วงการศัลยกรรมไทย ประวัติศาสตร์ของชุดผ่าตัด เครื่องมือและองค์ประกอบพื้นฐานของการผ่าตัด ภายในพิพิธภัณฑ์รวม สิ่งแสดงที่น่าสนใจกว่า 100 รายการ
ที่อยู่ อาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.