วิชา ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ที่เราควรมีติดตัวเอาไว้ถ้าไม่อยากจน
‘อิสรภาพการเงิน’ วิชาสำคัญสำหรับมนุษย์เงินเดือน เพราะชีวิตมีเรื่องให้ต้องใช้จ่ายมากมาย หากเราชาวมนุษย์เงินเดือนไม่เคยทำความเข้าใจ หรือเข้าใจเรื่องนี้แบบผิด ๆ ต่อให้เราทำงานเก่ง มีความสามารถมากมายแค่ไหน มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็อาจจะตกม้าตายกับเรื่องง่าย ๆ เพราะชีวิตการเงินของเราล้มเหลว
ถ้าอยากใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ มีอิสระอย่างที่ใจฝัน และพิชิตอิสรภาพทางการเงินได้ มาทำความรู้จัก “แนวคิดบันได 4 ขั้นสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน”
แนวคิดบันได 4 ขั้นสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน ฉบับมนุษย์เงินเดือน
เพื่อให้มนุษย์เงินเดือนมีชีวิตทางการเงินที่ดีมั่งคั่ง และมั่นคงขึ้นทีละสเต็ป ยิ่งเติบโตก็ยิ่งใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจ ยิ่งทำตามเป้าหมายได้มากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าใกล้ชีวิตที่มีอิสรภาพทางการเงินมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถยึดถือไว้ใช้ได้ตลอดชีวิต
1. ‘ฉลาดออม ฉลาดใช้’ สร้างรากฐานทางการเงินที่ดี
‘หาได้เท่าไร ใช้จ่ายให้น้อยกว่า และเก็บสะสมไว้เผื่อใช้ในอนาคต’ คือแนวคิดพื้นฐานของการเก็บออมที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรจะยึดถือเป็นนิสัยติดตัวกันเอาไว้ เพราะยิ่งเริ่มต้นออมเงินเร็วเท่าไร ยิ่งมีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น
การเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเรามีข้อดีตรงที่ มั่นใจได้ว่าในทุก ๆ เดือนเราจะได้เงินเดือนเข้าบัญชีมาในจำนวนเท่า ๆ กัน จึงง่ายต่อการวางแผน และกำหนดสัดส่วนการเก็บออมเงินที่พอดีกับชีวิตของเรา แต่ถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าควรจะเก็บออม ใช้จ่าย หรือใช้เงินเพื่อซื้อหาความสุขในสัดส่วนสักเท่าไหร่ดี ลองใช้สูตรออมเงิน 50:30:20 ดูก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับสัดส่วนให้พอดีกับชีวิตของเราก็ได้
- ส่วนแรก 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิต อย่างเช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทาง และค่าอาหารในแต่ละวัน
- ส่วนที่สอง 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับใช้จ่ายกับสิ่งที่เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา อย่างเช่น เสื้อผ้า กระเป๋า การเดินทางท่องเที่ยว หรืออาหารดี ๆ
- ส่วนที่สาม 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการเก็บออมเพื่ออนาคตที่มั่นคง โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 2 กอง เช่น 10 เปอร์เซ็นต์ เก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เก็บเป็นเงินออมระยะยาว
2. ‘รอบรู้เรื่องกู้ยืม’ ไม่ก่อหนี้เกินตัว
หลังจากทำงานไปได้สักพัก มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนมักเกิดความรู้สึกว่าอยากจะมีบ้าน หรือรถเป็นของตัวเอง ถึงแม้การจะได้มาซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ต้องแลกมาด้วยเงินในจำนวนที่ไม่น้อย หรือทำให้เราต้องเริ่มมีหนี้สินจากการกู้ยืม แต่สินทรัพย์เหล่านี้ก็ถือเป็นสมบัติ หรือสินทรัพย์เราได้เมื่อผ่อนหมด และถือเป็นความสุขในระยะยาวของชีวิตเรา
หากเรามีความฝันอยากจะมีบ้านหรือรถเป็นของตัวเอง เราชาวมนุษย์เงินเดือนทำให้เป็นจริงได้ด้วยการเริ่มต้นจากการเช็กไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของเรา จากฐานเงินเดือน หนี้สินที่มีอยู่ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เพื่อที่จะหาบ้านหรือรถที่ตอบโจทย์ชีวิต และทำให้เราผ่อนชำระได้แบบพอดี ๆ ไม่ตึงจนเกินไป
3. ‘ลงทุนเพื่ออนาคต’ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมั่นใจ
เมื่ออายุมากขึ้น หน้าที่การเงินที่เติบโตขึ้น ก็ถึงช่วงเวลาที่มนุษย์เงินเดือนจะต้องคิดถึงเรื่องการวางแผนแต่งงาน สร้างครอบครัว มีลูก หรือแผนเกษียณในอนาคต เมื่อมีเรื่องให้ต้องใช้จ่ายมากขึ้น การลงทุนจึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของมนุษย์เงินเดือน หากเราเริ่มตั้งเป้าหมาย ลงทุนในสินทรัพย์ที่เรามีความรู้เข้าความเข้าใจ และลงทุนในสัดส่วนที่พอดีกับชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนของเราก็จะต่อยอดงอกเงยกลายเป็นกำไรหรือให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพึงพอใจ และเพียงพอที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อทำให้แต่ละเป้าหมายที่วางไว้สำเร็จได้
4. ‘มีความคุ้มครองอุ่นใจ’ ใช้ชีวิตได้เต็มที่
การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบฉบับมนุษย์เงินเดือน นอกจากการวางแผนทางการเงินที่ดี เพื่อให้มีเงินเก็บออมที่ เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคตแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่ควรละเลยก็คือเรื่องของสุขภาพ เมื่อตั้งใจทำงานเก็บออมเงินมาตลอดทั้งชีวิต
การวางแผนทางการเงิน และการวางแผนด้านสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นควบคู่กันไปสำหรับมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ ซึ่งไม่จำเป็นเลยว่าเราจะต้องซื้อความคุ้มครองทั้งหมดเพียงครั้งเดียว แต่เราสามารถทยอยซื้อเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมในแต่ละสเต็ปของชีวิต เช่น เมื่อเจ็บป่วยระหว่างทำงาน เรามั่นใจว่ามีประกันที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ เมื่อถึงวัยสร้างครอบครัว เรามั่นใจว่าหากเกิดอุบัติเหตุหรือเรื่องไม่คาดฝัน เรามีประกันที่ช่วยดูแลคนข้างหลังแทนเราได้ และเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ เราอุ่นใจได้ว่าหากเกิดโรคร้ายแรง ประกันที่มีจะช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลของเราได้อย่างครอบคลุม เท่านี้เราก็จะมีการเงินที่พร้อม และสามารถใช้ชีวิตที่ฝันได้อย่างเต็มที่ และอุ่นใจ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.