เปิด คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เก็บโบราณวัตถุสำคัญระดับชาติกว่า 1 แสนรายการ!
เสร็จสมบูรณ์และเตรียมเปิดให้บริการแล้วสำหรับ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่นักศึกษา นักวิจัย และประชาชน เพื่อเข้าศึกษาโบราณวัตถุได้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2566 ซึ่งตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย
ด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่ใช่แค่เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็น “คลังเพื่อการศึกษา” หรือ Study Collection การบริการจึงมีด้วยกัน 2 รูปแบบ แบบแรกคือการให้บริการศึกษาค้นคว้าในห้องฐานข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ห้องสมุด และแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้ในพื้นที่บริการทั่วไป ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือการศึกษาโบราณวัตถุแบบเฉพาะซึ่งต้องแจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่ชั้นในโดยการดูแลของเจ้าหน้าที่
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังมีภาพถ่ายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจัดเก็บไว้มากกว่าหนึ่งแสนรูปและพร้อมให้บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้โดยผู้ศึกษาไม่ต้องถ่ายภาพโบราณวัตถุด้วยตนเอง
รูปแบบของอาคาร คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้นในรูปทรงไทยประยุกต์และมีพื้นที่ใช้สอยรวม 30,000 ตารางเมตร การออกแบบห้องคลังต่างๆเป็นแบบคลังเปิด หรือ Visible Storage ที่ผู้ชมสามารถมองเห็นได้จากภายนอกผ่านผนังกระจก ปัจจุบันจัดเก็บโบราณวัตถุรวมจำนวน 113,849 รายการโดยจัดวางตามประเภทวัสดุในห้องคลังต่างๆ จำนวน 10 ห้อง ได้แก่ ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้นซึ่งมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากจัดอยู่บริเวณชั้น 1, ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาและแก้วจำนวน 2 ห้อง บริเวณชั้น 2 ฝั่งตะวันออก, ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทโลหะจำนวน 3 ห้อง ที่ชั้น 2 ฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณชั้น 3 ประกอบด้วยห้องคลังโบราณวัตถุประเภทไม้จำนวน 2 ห้อง และห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหนังสัตว์ ผ้า กระดาษ กระดูก งา เขาสัตว์ อีก 2 ห้อง
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บ ให้บริการการศึกษาและดูแลรักษาโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพปลอดภัย พร้อมให้บริการหมุนเวียนไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร หรือนิทรรศการพิเศษในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ
โบราณวัตถุจำนวนกว่า 1 แสนรายการมาจากหลายแหล่งประกอบด้วย จากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และการนำส่งมาเก็บรักษาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง ๆ , จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากร, จากการรับมอบ รับบริจาค และจัดซื้อจากหน่วยงานและภาคประชาชน, จากคดีลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย และ จากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้ออกแบบช่องทางเข้าชมบรรยากาศห้องคลังโบราณวัตถุและโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในมุมมอง 360 องศา แบบเสมือนจริงผ่านทางแอพพลิเคชั่น Virtual Smart Museum อีกทั้งยังได้พัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผ่านแอพพลิเคชั่น FADiscovery ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลความสนใจของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติผ่านกำไลข้อมืออัจฉริยะ (Wristband) หรือแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยระบบจะจดจำเส้นทาง บันทึกความสนใจในการเข้าชมของแต่ละคนและประมวลผล จากนั้นระบบจะส่งชุดข้อมูลความรู้ที่แต่ละคนสนใจกลับไปยังผู้เข้าชมทันทีแบบรายบุคคล (Individual Experience)
Fact File
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าชม www.facebook.com/nationalmuseumstorage หรืออีเมล์ registraonm@gmail.com
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.