“เห็บ-หมัด” อันตรายกับคนมากแค่ไหน เอาออกจากผิวหนังอย่างไรปลอดภัยที่สุด

เห็บหมัดบนสัตว์เลี้ยงสามารถก่ออันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ เป็นทั้งแหล่งเชื้อโรคและทำให้เกิดความไม่สบายใจ การกำจัดเห็บหมัดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของควรดำเนินการเพื่อสุขภาพของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง

"Love me, love my dog" ถ้าเธอรักฉัน เธอก็ต้องรักสุนัขของฉันด้วย น่าจะเป็นประโยคอธิบายความรู้สึกของคนที่รักสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ความรู้สึกอย่างเดียว แต่รวมถึงการดูแลพวกเขาให้ห่างไกลจากเห็บหมัดด้วย การกำจัดเห็บหมัดคือการแสดงความรับผิดชอบและความรักที่เรามีต่อพวกเขา ช่วยให้ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและปลอดภัย

เห็บ-หมัด อันตรายแค่ไหน?

ถ้าแค่พูดว่าเห็บ หรือหมัด อาจจะค่อนข้างกว้างไปสักนิด เพราะไม่ใช่เห็บ และหมัดทุกชนิดจะเป็นอันตรายในทางที่เป็นพาหะนำโรค แต่เห็บบางชนิดสามารถเป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

นอกจากเป็นพาหะนำโรคบางชนิดแล้ว ที่เราเห็นว่าเห็บหมัดกัดผิวหนังของสัตว์เลี้ยงของเรา เพราะเห็บหมัดเป็นสัตว์ที่กินเลือดของสัตว์เลื้อยคลาน นก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร มนุษย์ก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีเห็บหรือหมัดมาเกาะอาศัยอยู่บนผิวหนังของเรา เราก็มีความเสี่ยงที่จะโดนเห็บหมัดกัดได้เช่นกัน

อันตรายที่พบได้บ่อยที่สุดจากเห็บหมัด ก็คือรอบแผลที่เห็บหมัดทิ้งเอาไว้หลังกัดเรา หากเรามีอาการแพ้ แผลที่เห็บและหมัดกัดอาจจะอักเสบบวมแดง มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และในบางกรณีอาจจะอักเสบเรื้อรังไปเป็นเดือนได้ แม้ว่าจะมีการรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ไปหลายเข็ม แต่ด้วยความที่เห็บและหมัดบางชนิดมีขนาดเล็กมาก อาจจะทิ้งอวัยวะบางส่วนเอาไว้บนผิวหนัง จนทำให้ผิวหนังของเราอักเสบอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การแคะ แกะตัวเห็บหรือหมัดออกด้วยนิ้วมือโดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดรอยแผลใหม่ใกล้เคียงที่อาจติดเชื้อแบคทีเรียจากเห็บและหมัดได้มากขึ้น ส่งผลให้แผลอักเสบหนักขึ้นกว่าเดิม หรือติดเชื้อโรคติดต่อต่างๆ ได้

วิธีเอาเห็บ และหมัดออกจากผิวหนัง

จริงๆ แล้วเราอยากแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้นำเห็บ และหมัดออกมาด้วยเครื่องมือแพทย์ จากนั้นทำการรักษารอบแผลที่เกิดจากเห็บ และหมัดกัดอย่างถูกต้องอีกครั้ง แต่หากพอจะมองเห็นว่าเห็บ หรือหมัดตัวนั้นมีขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ชัด สามารถใช้แหนบถอนขนคีบเห็บ หรือหมัดในส่วนที่ใกล้กับผิวหนังให้มากที่สุด จากนั้นค่อยๆ ดึงออกช้าๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถนำเอาตัวเห็บ และหมัดออกมาจากผิวหนังได้อย่างปลอดภัย และไม่เหลืออวัยวะบางส่วนติดอยู่ที่ผิวหนังจนทำให้อักเสบหนักกว่าเดิม

สิ่งที่ไม่ควรใช้ในการช่วยเอาเห็บ และหมัดออกมาจากผิวหนังเลย คือ การใช้บุหรี่จี้ การใช้น้ำยาล้างเล็บราด หรืออาจจะเป็นขี้ผึ้ง น้ำสบู่ และอื่นๆ สารเหล่านี้อาจจะยิ่งทำให้เห็บที่ยังมีชีวิตอยู่รู้สึกระคายเคือง และอาจปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มัดกัดเราได้

นอกจากนี้ หลังจากนำเอาเห็บ หรือหมัดออกมาจากผิวหนังได้แล้ว ไม่ควรบีบ บี้ ขยี้ หรือเจาะตัวเห็บและหมัดเหล่านั้น เพราะของเหลวในตัวของเห็บ และหมัด อาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นโรคได้ ดังนั้นถ้าอยากฆ่าเห็บและหมัด อาจต้องแช่เห็บ และหมัดลงไปในน้ำยาฆ่าเห็บ และหมัดโดยเฉพาะ หรืออาจจะแช่ลงไปในขวดที่มีน้ำเปล่า และปิดฝาขวดให้สนิท เห็บจะตายภายใน 3-7 วัน

วิธีป้องกันเห็บ และหมัด

นอกจากเห็บ และหมัดจะมาจากสัตว์เลี้ยง ยังมากับพื้นที่รกๆ ชื้นแฉะอีกด้วย ดังนั้นนอกจากจะต้องรักษาความสะอาดเจ้าตูบ เจ้าเหมียว และสัตว์เลี้ยงมีขนชนิดอื่นๆ ให้สะอาดปราศจากเห็บ และหมัดแล้ว ยังต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้เข้าไปในที่ๆ มีความชื้นแฉะ เช่น ดงหญ้า ป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณนั้น ควรสวมเสื้อผ้า กางเกงขายาว ถุงเท้าให้มิดชิด และทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเท้า ขา แขน ทันทีที่กลับถึงบ้านหรือที่พัก

  • “โรคลายม์” อันตรายที่ติดต่อผ่าน “เห็บ” จากสัตว์สู่คน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.