4 วิธีรับมือจากความสูญเสีย

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า การสูญเสียคนรักเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต ความรู้สึกเศร้า เสียใจ โหยหา และสิ้นหวังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้หลายคนเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม หลังจากช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตในทางลบเป็นอย่างมาก โดยสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนหลังการสูญเสียบุคคลที่รักมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น

อาการทางความรู้สึก

  • เศร้า มึนชา ช็อก โกรธที่ตัวเองไม่สามารถป้องกันการตายนั้นได้ โกรธที่ผู้ตายทิ้งตัวเองไป โกรธที่หมอไม่สามารถรักษาผู้ตายได้ ความโกรธที่น่ากลัวที่สุดคือ การโกรธตัวเอง จนบางคนคิดอยากฆ่าตัวตายตามผู้ตายไป
  • สิ้นหวัง รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ตาย
  • ความวิตกกังวล กลัวว่าจะอยู่โดยไม่มีผู้ตายไม่ได้
  • รู้สึกโดดเดี่ยว
  • รู้สึกโหยหา
  • หมดอาลัยตายอยาก
  • บางคนอาจมีความรู้สึกโล่งอก เช่น กรณีผู้ตายเจ็บป่วยทุกข์ทรมานมานาน เมื่อเขาจากไป คนข้างหลังอาจเกิดความรู้สึกโล่งใจที่เห็นเขาหมดทุกข์

อาการทางกาย

  • แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้าอ่อนแรง หมดพลัง
  • อาการทางความคิด
  • ไม่อยากจะเชื่อว่าเขาเสียไปแล้ว
  • คิดหมกมุ่นวนเวียนถึงผู้ตาย
  • มีอาการสับสน
  • บางคนอาจมีหูแว่วเสียงผู้ตาย เห็นภาพหลอนเป็นภาพผู้ตาย

อาการทางพฤติกรรม

  • นอนไม่หลับ
  • กินไม่ได้
  • เหม่อลอย ใจลอย
  • แยกตัวจากสังคม
  • ฝันถึงผู้ตาย
  • เรียกหาผู้ตาย โดยอาจเรียกในใจหรือเรียกออกเสียง
  • ไปยังสถานที่ที่ทำให้นึกถึงผู้ตาย นำสิ่งของของผู้ตายติดตัว ใส่เสื้อผ้าหรือใช้สิ่งของของผู้ตาย

ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการสูญเสีย แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วอาการเหล่านี้ยังไม่ลดลงหรือเป็นมากขึ้นจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อรับมือที่จะก้าวข้ามผ่านความสูญเสียและยอมรับความจริงจะช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสามารถช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ
4 ขั้นตอนการรับมือเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ขั้นที่ 1 ยอมรับความจริงว่ามีการสูญเสียเกิดขึ้น

ต้องยอมรับความจริงว่า “เขาตายไปแล้วไม่สามารถมาเจอกันได้อีก” แต่ถ้ายังไม่ยอมรับการสูญเสียก็สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้ เก็บข้าวของผู้ตายไว้ ทำเหมือนการสูญเสียเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือพยายามติดต่อกับวิญญาณผู้ตาย

ขั้นที่ 2 รับรู้ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย

ความเจ็บปวดจากการสูญเสียเป็นเรื่องปกติ การพยายามเลี่ยงหรือเก็บกดความรู้สึกไว้จะยิ่งทำให้กระบวนการก้าวข้ามความสูญเสียเป็นไปได้ช้าลง ดังนั้น ต้องยอมรับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น ระบายความรู้สึกออกมาด้วยการพูด การเขียน หรือร้องไห้

ขั้นที่ 3 ปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีคนรัก

ขึ้นอยู่กับผู้ตายเคยมีภาระหน้าที่ใด ผู้ที่ยังอยู่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อให้ได้และปรับการดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่มีบุคคลอันที่เป็นที่รักแล้ว

ขั้นที่ 4 ความรู้สึกสูญเสียเบาลงและเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่

หลายคนพอสูญเสียคู่ครองจะไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ อาจคิดว่าเป็นการไม่ซื่อสัตย์กับผู้เสียชีวิต กลัวสูญเสียคนใหม่อีก กลัวมีปัญหากับลูก หรือคิดว่าไม่สามารถรักใครได้อีกแล้ว ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า “การรักคนใหม่ไม่ได้ทำให้ความรักที่มีต่อคนเก่าลดลงเลย”

ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการตัวเองหลังสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ว่ายังคงมีความรู้สึกเสียใจนานเกิน 3-6 เดือน หรือมีความเสียใจเรื้อรังจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ เช่น เก็บตัวไม่ออกไปพบใครนานนับเดือน อยากตายตามคนที่เรารักไป นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง ละเลยสุขอนามัยจนร่างกายอ่อนแอ แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการรักษาและคำแนะนำอย่างเหมาะสม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.