โซเดียม คืออะไร ทำไมโซเดียมจึงเป็นฆาตกรเงียบที่ควรระวัง

ตอนนี้ใครๆ ก็รู้ว่า "เค็ม" หรือ "โซเดียม" เป็นของไม่ดี การกินเค็มจะทำให้อ้วนและไตพัง แต่ถ้าจะถามว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงไม่ดีต่อร่างกาย อาจจะมีไม่กี่คนที่รู้

วันนี้ Sanook Health เลยมีข้อมูลหนังสือ “ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง” จากโรงพยาบาลพญาไทมาฝาก มาดูกันว่าเพราะอะไร ร่างกายของเราจึงไม่ต้องการโซเดียมในปริมาณมากเกินไป

โซเดียม คืออะไร

โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลว รักษาความดันโลหิต ช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้ปกติ รวมไปถึงการดูดซึมสารอาหารบางชนิด

โดยทั่วไป เราได้รับโซเดียมจากอาหารในรูปแบบของเกลือแกงและน้ำปลา ซึ่งมีรสเค็ม คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 7 กรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่แนะนำ (2,000 มิลลิกรัม)

หน้าที่ของโซเดียมที่มีต่อร่างกาย

หน้าที่ของโซเดียมที่มีต่อร่างกาย คือการรักษาปริมาณน้ำ ช่วยให้การส่งกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทเป็นไปอย่างปกติ รวมทั้งยังช่วยในการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งก็แปลว่าโซเดียมเองก็มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นกัน การขาดโซเดียมจะทำให้ระบบที่ว่ามาทำงานไม่ปกติ และส่งผลเสียต่อร่างกายในที่สุด

การควบคุมปริมาณโซเดียมในร่างกายเป็นหน้าที่ของ “ไต” กรณีที่มีน้อยเกินไป ไตของเราก็จะรักษาโซเดียมเอาไว้ด้วยการดูดน้ำกลับมาจากปัสสาวะ และเมื่อมีโซเดียมในร่างกายมากเกินไป ก็จะขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน

ปัญหามาจากตรงนี้เอง! เพราะในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดโซเดียมได้หมด ก็จะเกิดการคั่งค้าง การที่ร่างกายยังต้องเก็บโซเดียมส่วนเกินนี้เอาไว้ จะทำให้เกิดการดึงน้ำไว้ในร่างกายโดยอัตโนมัติ เพื่อรักษาสมดุลของของเหลว ซึ่งตรงนี้เป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย

ผลที่ตามมาคือจะมีของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากเกินไป ความดันเลือดสูงขึ้น หัวใจทำงานหนัก ร่างกายของเราก็จะปรับให้หลอดเลือดหนาขึ้นและแข็งขึ้น อวัยวะสำคัญที่มีหลอดเลือดไปเลี้ยงก็จะได้รับผลกระทบ เช่น หัวใจ สมอง ไต เป็นต้น

โรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมาก็มีมาก ทั้งความดันเลือดสูง และไตวายเรื้อรัง เฉพาะ 2 โรคนี้ก็ต้องรักษากันไปตลอดชีวิต ยังไม่นับว่าเป็นต้นตอของโรคอีกสารพัด

ด้วยเหตุนี้เอง โซเดียมจึงเป็นฆาตกรเงียบ เพราะโดยมากแล้วเรามักจะไม่รู้ตัวว่าได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หากไม่คิดก่อนกิน และกินตามความเคยชิน

แล้วเราจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

ต้องบอกว่าในความเป็นจริงแล้วเราแทบจะหลีกเลี่ยงโซเดียมในชีวิตประจำวันไปได้เลย เพราะมันอยู่ในอาหารเกือบทุกๆ อย่างที่เรากิน แต่ปริมาณจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเลือกได้

อาหารอะไรบ้างที่มีโซเดียมสูง?

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างอาหารธรรมชาติด้วยกัน เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อ หมู ไก่ จะมีโซเดียมสูงกว่าอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง รวมไปถึงเนื้อปลา ส่วนอาหารแปรรูปหรืออาหารที่มีการเก็บถนอมด้วยกรรมวิธีต่างๆ ล้วนเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารกระป๋อง หมักดอง เนื้อเค็ม ปลาร้า เป็นต้น

ที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือ "เครื่องปรุง" เพราะคนส่วนมากจะเผลอตัวเติมเครื่องปรุงรสจัดเพื่อความอร่อยถูกปาก แต่ลืมไปว่ามันเต็มไปด้วยโซเดียมในปริมาณที่น่ากลัว

ไม่ว่าจะเป็นเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส ทั้งซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ส่วนซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม อย่างเช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ อาจจะมีโซเดียมในปริมาณไม่มาก แต่ก็มีพอสมควร ยังไงก็ต้องระวังไม่ให้กินมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม โซเดียมไม่ได้มีเฉพาะในอาหารรสเค็มเท่านั้น ขนมหวานต่างๆ ที่มีการเติมผงฟูก็มีปริมาณโซเดียมสูงเช่นกัน เช่น ขนมเค้ก คุ้กกี้ แพนเค้ก ขนมปัง เพราะผงฟูที่ใช้ในการทำขนมล้วนมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงแป้งที่ใช้ทำขนมก็มีโซเดียมอยู่ด้วย

จะเห็นว่าอาหารเหล่านี้มักจะเป็นที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เรากินกันบ่อยจนเคยชินกับความเค็ม แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว หากลองงดของเค็มๆ ไม่กี่สัปดาห์ ประสาทรับรสของเราก็จะเคยชินกับอาหารที่มีรสจืดกว่าเดิม และไม่โหยหาอาหารรสจัด หรือรสเค็มอีกเลย

นอกจากจะได้รสชาติที่แท้จริงของอาหารแล้ว ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันเลือดสูงและโรคไตวายก็ลดลงด้วย

ภาพจาก Gettyimamges

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.