วิธีเตรียมสมองให้ฟิต ลดเหนื่อยล้าหลังหยุดยาว

ผ่านช่วงเทศกาลกันมา หลาย ๆ คนคงได้ไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ กลับมามีแรงทำงานต่อ แต่แน่นอนว่าบางคนก็มีภาวะเบื่อหน่าย แค่เปิดคอมพิวเตอร์มาก็รู้สึกไม่อยากทำงานแล้ว ยิ่งหลังกลับมาจากการพักผ่อน ต้องมาอยู่หน้าจอตลอดทั้งวันก็จะรู้สึกเกิดความเหนื่อยล้า และสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเครียด หรือทำให้เกิดอาการ ที่เรียกว่าความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue)

ความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue) คือ

สภาวะความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล มีผลกระทบมาจากการใช้งานอุปกรณ์เครื่องมือดิจิทัลมากเกินไป เช่น ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน หรือการทำงานหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน จนทำให้รู้สึกอ่อนล้า หมดพลังงาน หมดไฟ เริ่มความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์ไม่มั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue)

  • แสงสีฟ้าจากการมองหน้าจอ : ‘แสงสีฟ้า’ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เพราะผลการศึกษาของ Harvard Health ได้อธิบายไว้ว่า ความยาวคลื่นสีฟ้าจะกระตุ้นให้สมองเกิดความสนใจ ซึ่งมีประโยชน์ในตอนกลางวัน แต่จะส่งผลกระทบในตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ ต่อเนื่องไปถึงสภาวะด้านอารมณ์ และยังส่งผลให้เกิดอาการปวดตาจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานอีกด้วย
  • ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม : ร่างกายของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อนั่งทำงานทั้งวัน และยิ่งการนั่งทำงานที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน พร้อมท่านั่งที่ผิด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย เช่น อาการปวดหลัง ข้อเข่าเสื่อม และยังทำให้ร่างกายไม่หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินหรือฮอร์โมนประโยชน์อื่น ๆ ที่มาจากการออกกำลังกาย แน่นอนว่าการขาดสารเหล่านี้ส่งผลต่อระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่สูงขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้
  • การถูกรบกวนทางดิจิทัล : จากสถิติโดย Gartner พบว่า พนักงานที่ Work from Home จะเกิดปัญหาการถูกรบกวนมากกว่าพนักงานที่ทำงานแบบออฟไลน์ถึง 2.54 เท่า โดยเฉพาะการแจ้งเตือนจากข้อความ อีเมล หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ตลอดเวลา ซึ่งหากเมินเฉยก็อาจทำให้พลาดข้อมูลข่าวสารไปได้ ทำให้สูญเสียทั้งสมาธิ และเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว
  • รู้สึกต้องทำงานตลอดเวลา : หรือที่เรียกว่า Always-on mindset กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพทางจิตใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อเวลาทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เหมือนว่าระยะเวลาทำงานเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน จนเกิดเป็นแรงกดดันและสร้างความรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น

ซึ่งเราสามารถจัดการความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue) ของตัวเองได้ง่าย ๆ เพียงทำงานทีละอย่าง เพื่อลดความเหนื่อยล้า การปรับท่านั่ง การพักออกไปทำอะไรอย่างอื่น หรือการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อความสดชื่นในการทำงาน

สิ่งที่ควรทำตอนตื่นเพื่อให้ร่างกายสดชื่น พร้อมทำงาน

  • ตื่นแล้วอย่างีบต่อเด็ดขาด เพราะการงีบหลับหลังตื่นนอนจะทำให้รู้สึกขี้เกียจ และทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงานระหว่างวัน
  • เปิดเพลงให้ดัง เพิ่มจังหวะสนุก ๆ จะช่วยให้สดใสในตอนเช้า อีกทั้งช่วยกระตุ้นไฟในสมอง ทำให้สารต่าง ๆ อย่างโดฟามีน ออกมากระตุ้นอารมณ์ต่าง ๆ
  • อาบน้ำเย็นให้ร่างกายสดชื่น ปลุกสมองให้ตื่นขึ้นได้
  • รับประทานอาหารเช้า นอกจากดีต่อสุขภาพกายแล้ว อาหารเช้ายังช่วยเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อสมองได้ทั้งวัน และช่วยให้อารมณ์สดใสได้ด้วย
  • ดื่มน้ำ เพราะการดื่มน้ำหนึ่งแก้วทันทีหลังจากตื่นจะช่วยทำให้กระบวนการเผาผลาญร่างกายดีขึ้น และยังทำให้สมองสดชื่นด้วย

สิ่งที่ควรทำระหว่างวัน ให้รู้สึกไม่เหนื่อยล้า

  • หลีกเลี่ยงการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่ายขึ้น และนั่นจะใช้เวลามากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียวถึง 40% ซึ่งการทำงานทีละอย่างจะเป็นการดีต่อสมองมากกว่า
  • จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน (To do list) แนะนำว่าให้เขียนด้วยมือ แทนที่จะพิมพ์หรือจดลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นสมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ และทำให้จดจำได้มากขึ้นอีกด้วย
  • พักสายตาระหว่างทำงาน เพราะการเพ่งสายตาไปที่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ การพักสายตาจึงจะช่วยให้กล้ามเนื้อตาผ่อนคลาย และสามารถทำงานได้ดีขึ้น
  • พยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ การที่ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ จะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้สมองเฟรช ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เนื่องจากกาแฟนั้นทำให้ร่างกายขับปัสสาวะบ่อยและทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

แม้ว่าหลังไปเที่ยวพักผ่อนมาจะช่วยให้ร่างกายได้พัก แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกกลับมามีแรงพร้อมจะทำงาน เพราะในบางคนนั้นอาจจะต้องปรับตัวหลังหยุดยาว ต้องกลับมานั่งอยู่หน้าจอมากขึ้น เพราะฉะนั้น อย่าลืมที่จะพักสายตาจากหน้าจอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เพื่อให้ร่างกายได้พัก ไม่รู้สึกเหนื่อยล้ามากเกินไป และไม่ส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพการทำงาน ที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของตัวคุณเองด้วยเช่นกัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.