วิธีวางแผนภาษี สำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน

“การวางแผนภาษี” คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ในฐานะพลเมืองดีและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ และยิ่งถ้าเราวางแผนภาษีได้เป็นอย่างดี เงินที่ประหยัดได้นี้ ก็สามารถนำไปต่อยอดให้ออกดอกออกผล สร้างเงินกลับมาให้เราได้อีกต่อหนึ่งด้วย

ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจรายละเอียดเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า

1. รู้ประเภทและค่าใช้จ่าย…ของเงินได้พึงประเมิน

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นภาษีทางตรงที่บุคคลธรรมดาอย่างเราต้องเสีย โดยโครงสร้างในการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคำนวณดังนี้

เมื่ออัตราภาษีต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การวางแผนภาษีจึงเป็นการวิเคราะห์ “เงินได้สุทธิ” เพื่อวางแผนจัดสรรเงินค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาค ตามที่กฎหมายสนับสนุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะยิ่งใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมาก เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษียิ่งลดลง ก็ทำให้เสียภาษีน้อยลงนั่นเอง

รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมีอยู่ 8 ประเภท โดยแบ่งตามอาชีพและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในการคำนวณและจ่ายภาษีมากที่สุด แต่ก็มีหลายกรณีที่เงินได้ของบุคคลอาจถูกจัดว่าเป็นเงินได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะสัญญาการจ้างงานหรือข้อตกลงทางธุรกิจ เราจึงควรทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของเงินได้ เพื่อให้เกิดการหักค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

2. รู้ค่าลดหย่อน เพื่อลดภาษี

การวางแผนเรื่องค่าลดหย่อนได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้รายได้สุทธิลดลงและเสียภาษีน้อยลง โดยสิทธิลดหย่อนแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • สิทธิลดหย่อนขั้นพื้นฐานของชีวิต เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าดูแลพ่อแม่และบุตร เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการออมและลงทุน เพื่อช่วยประหยัดภาษีและวางแผนเกษียณไปด้วยผ่านกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กอง
    ทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิต เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลหรือสนับสนุนการศึกษา

3. รู้วิธีคำนวณภาษี

หลังจากที่นำรายได้ทั้งปี มาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้ และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว จากนั้นเราจะนำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า นำเงินเดือนของปีที่ผ่านมาและโบนัสที่ได้รับ มาคำนวณดูว่ารายได้เราทั้งปีเป็นเท่าไร จากนั้นหักออกด้วยค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน และนำยอดที่เหลือไปเปรียบเทียบในตารางอัตราฐานภาษี สูตรการคำนวณหาภาษีที่ต้องชำระ = [(เงินได้สุทธิของตนเอง – เงินได้สุทธิที่มากที่สุดของลำดับขั้นก่อนหน้า) X อัตราภาษี (%)] + ภาษีสะสมสูงสุดของลำดับขั้นก่อนหน้า

4. รู้ช่องทางยื่นภาษี

เมื่อลองคำนวณแล้วพบว่าอาจได้รับเงินคืนภาษี เราก็ต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนและลงลายมือชื่อผู้ขอคืนอย่างชัดเจน ที่สำคัญก่อนยื่นแบบแสดงรายการอย่าลืมตรวจทานรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมทั้งเตรียมเอกสารที่ต้องแนบเป็นหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน

ทางที่ดี…ควรรีบยื่นแบบแสดงรายการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งจะทำให้ได้เงินคืนภาษีเร็ว เพราะเป็นช่วงที่คนยื่นน้อย แต่ถ้าไม่มีเงินคืนภาษี จะยื่นเร็วหรือช้าก็ไม่มีผลอะไร ที่แน่ ๆ คือ อย่าถ่วงเวลาจนเลยช่วงยื่นแบบแสดงรายการ (เดือนมีนาคม) ถ้าเกินกว่านั้น แทนที่เราจะประหยัด กลับต้องจ่ายค่าปรับถึง 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.