เข้าใจ โรคแพนิค สาเหตุเกิดจากอะไร และ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
“แพนิคไปเองหรือเปล่า?” “คิดไปเอง สงบสติอารมณ์บ้างสิ” คำพูดติดปากของใครหลาย ๆ คน ที่มักจะพูดถึงเวลาที่รู้สึกว่าคนรอบข้างมีอาการหวาดกลัว กังวล หรือแสดงอาการตื่นตระหนกให้เห็น แต่คุณรู้ไหมว่า คำว่าแพนิคนั้น แท้จริงแล้ว คืออะไรกันแน่ ?
โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคตื่นตระหนก” เป็นโรควิตกกังวลโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ โดยโรคนี้เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ แม้ว่าอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และถูกวิธีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับสาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแพนิคให้มากยิ่งขึ้น
โรคแพนิค คืออะไร?
โรคแพนิค (Panic Disorder) จัดเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ผู้ที่เป็นมักมีอาการวิตกกังวลสุดขีด หรือมีความกลัว ความอึดอัด ไม่สบายอย่างรุนแรง มีความตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน สามารถเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อาการนี้ของคนที่เป็นโรคนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อย ๆ ทุเลาลง หลังอาการแพนิคทุเลาลงแล้ว ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง
โรคแพนิค เกิดจากสาเหตุอะไร?
โดยโรคแพนิคเกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป และเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียดสะสม ความกังวล พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ และในบางกรณี อาจจะเคยมีอดีตที่ฝังใจมาก ๆ เคยอกหัก สูญเสีย หรือมีเรื่องที่ทำให้กระทบจิตใจอย่างรุนแรงมาก่อน นอกจากนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การใช้สารเสพติด ความผิดปกติของฮอร์โมน อีกด้วย
อาการของ โรคแพนิค เป็นอย่างไร?
สำหรับอาการของโรคแพนิค ที่เด่นชัด มักแสดงออกโดยมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว เหงื่อออกผิดปกติ โดยไม่มีสาเหตุ หวาดกลัว หรือ รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของความตาย หรือกลัวการสูญเสีย รู้สึกตัวชา ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ซึ่งถ้าคุณมีอาการเหล่านี้โดยไม่มีเหตุผล ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะเนื่องจากอาจเสี่ยงเป็นอาการของโรคแพนิคหรือโรควิตกกังวลได้
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคแพนิค
- อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” (Amygdala) ทำงานผิดปกติ
- กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป
การใช้สารเสพติด
- ความผิดปกติของฮอร์โมน อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้
- มีประสบการณ์ เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต
- พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์และมือถือนานๆ เผชิญความกดดัน อยู่ในสภาวะที่เร่งรีบ เครียดวิตกกังวล ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย
- เครียดสะสม เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง เคร่งเครียด อยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำ
โรคแพนิค ไม่อันตรายแต่ควรรักษา
โรคแพนิค ไม่ได้เป็นที่โรคร้ายแรง หรือทำให้มีอันตรายถึงชีวิต สามารถรักษาได้ด้วยการทานยา เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ และเพื่อการรักษาที่ได้ผลดีนั้นจะต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย ด้วยการปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงคนรอบข้าง คนใกล้ชิด ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ โดยการศึกษาวิจัยพบว่าการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการรักษาทางด้านจิตใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
หากใครที่คิดว่าตนมีอาการแพนิค ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชทันที และที่สำคัญเลยก็คือ ผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ ควรมีสติอยู่เสมอ หากอาการตื่นตระหนกนั้นเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ควรหา วิธีรับมือ ที่สามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลนี้
นอกจากวิธีการรับมือแล้ว ผู้ป่วยควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และ กำลังใจในครอบครัวนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเข้าใจและปลอบโยนมากกว่าการตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงเป็นได้” เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่สงบสุขและปลอดภัย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.