แนะนำ “ที่ตรวจครรภ์” สำหรับคุณแม่มือใหม่ หัดใช้ให้ถูกต้อง
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะแต่งงานเป็นข้าวใหม่ปลามัน สงสัยว่าตัวเองนั้นกำลังจะตั้งครรภ์แล้วรึเปล่า ? แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นจริง ก่อนที่จะไปถึงหมอ คุณแม่มือใหม่ก็สามารถรู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนได้ ผ่านการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ที่ตรวจครรภ์” ซึ่งในปัจจุบันที่ตรวจครรภ์นี้ก็มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามร้านเภสัชกร ถ้าอยากให้ชัวร์ Sanook! Health แนะนำว่าควรไปพบแพทย์น่าจะเวิร์คที่สุด จะได้ดำเนินการติดตามดูแลครรภ์ของคุณแม่ต่อไป แต่หากอยากรู้ข่าวดีก่อนก็ไม่ว่ากัน คุณแม่สามารถทำได้โดยใช้เจ้าเครื่องมือชิ้นนี้นี่ล่ะ ฉะนั้น เพื่อให้การใช้งานถูกต้องและทำความรู้จักกับที่ตรวจครรภ์มากขึ้น เพราะในตลาดมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เราจึงมีข้อมูลที่น่าสนใจมาแชร์กัน
เครื่องมือตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
ที่ตรวจครรภ์ หรือชุดตรวจครรภ์ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง โดยเป็นการทดสอบเพื่อหาฮอร์โมน HCG (Human chorionic gonadotropin) ในปัสสาวะของคุณแม่ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งออกมาจากรกและเริ่มผลิตหลังจากที่เกิดการปฏิสนธิไปแล้วประมาณ 6 วัน และจะขึ้นสูงที่สุดในช่วง 8 - 12 สัปดาห์ การตรวจหาด้วยตัวเองโดยใช้ที่ตรวจครรภ์นี้จะมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 ทั้งจะยิ่งแม่นยำขึ้นไปอีกในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่ 10 - 14 วันขึ้นไป
โดยปกติ ในชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะมีอุปกรณ์มาให้เสร็จสรรพ แต่จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้ ..
ที่ตรวจครรภ์แบบที่ 1 แบบแถบจุ่ม
ในแบบแรกนี้เราจะเรียกกันว่า แบบแถบจุ่ม หรือ Test Strip ในชุดทดสอบนั้นจะประกอบไปด้วย แผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ (แผ่นตรวจครรภ์) และ ถ้วยตวงปัสสาวะ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้)
วิธีการใช้นั้น ให้เราเก็บน้ำปัสสาวะลงไปในถ้วยตวง จากนั้นนำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีลูกศรชี้ลงจุ่มลงไปในน้ำปัสสาวะ รอ 3 วินาที แต่ต้องระวังไม่ให้ปัสสาวะเลยขีดที่แผ่นกำหนด หรือสูงเกินกว่าขีดของลูกศรในแผ่นทดสอบ เมื่อครบ 3 วินาทีแล้ว ให้นำแผ่นทดสอบออกจากน้ำปัสสาวะ และถือไว้ในแนวนอน (แนะนำให้วางไว้บนพื้นผิวที่แห้งสนิทเท่านั้น) รออ่านผลการตั้งครรภ์หลังเวลา 1 - 5 นาที ทางที่ดีควรรอให้ครบ 5 นาที จะได้แน่ใจว่าชุดทดสอบนี้แสดงผลได้อย่างถูกต้อง
ข้อดีของที่ตรวจครรภ์ในแบบที่ 1 นี้ คือ มีราคาถูก แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ปัสสาวะสูงกว่าขีดที่กำหนด เพราะจะทำให้แผ่นทดสอบเสื่อมสภาพได้
ที่ตรวจครรภ์แบบที่ 2 แบบตลับ หรือแบบหยด
แบบที่ 2 นี้เรียกว่า แบบตลับ หรือ แบบหยด (Pregnancy Test Cassette) ประกอบไปด้วย ตลับทดสอบการตั้งครรภ์ , ถ้วยตวงปัสสาวะ และหลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ
วิธีการใช้งาน ให้เก็บน้ำปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นให้นำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ แล้วจึงหยดน้ำปัสสาวะลงบนตลับทดสอบประมาณ 3 - 4 หยด วางไว้บนพื้นราบ เสร็จแล้วให้ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผลการทดสอบ
ข้อดีของการใช้ที่ตรวจครรภ์ในแบบที่ 2 นี้ เมื่อเป็นแถบตรวจจะช่วยลดโอกาสที่แผ่นทดสอบจะเสื่อมสภาพจากการดูดซับน้ำปัสสาวะของชุดทดสอบได้
ที่ตรวจครรภ์แบบที่ 3 แบบปัสสาวะผ่าน
แบบที่ 3 นี้เรียกกันว่า แบบปัสสาวะผ่าน หรือ Pregnancy Midstream Tests ในชุดจะมีแค่เพียงแท่งตรวจสอบการตั้งครรภ์
วิธีใช้ คือ ให้ถอดฝาครอบออกพร้อมกับถือแท่งทดสอบโดยให้หัวลูกศรชี้ลง จากนั้นให้ปัสสาวะผ่านบริเวณที่ดูดซับน้ำปัสสาวะซึ่งจะอยู่ต่ำกว่าลูกศร ปัสสาวะผ่านให้ชุ่มประมาณ 5 นาที จากนั้นให้ถือ หรือวางแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ไว้ในแนวราบ รออ่านผลได้ตั้งแต่ประมาณ 30 วินาทีเป็นต้นไป เพื่อความแน่นอน แนะนำว่าให้รอเวลาประมาณ 3 - 5 นาที จะเห็นผลได้ชัดเจนมากที่สุด
ข้อดีของการใช้ที่ตรวจกันแบบนี้ คือ สามารถใช้งานได้สะดวกมากกว่า 2 ชนิดก่อน เพราะไม่ต้องมีการตวงน้ำปัสสาวะรอไว้ในถ้วย จึงช่วยให้ลดขั้นตอนในการทดสอบได้ แต่ข้อเสียของมันจะอยู่ที่ราคาที่สูงกว่าทั้ง 2 แบบแรก
iStock
การอ่านผลที่ตรวจครรภ์
โดยปกติแล้ว ในกล่องของชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะมีวิธีการใช้งานและวิธีการอ่านค่า พร้อมกับแนบรูปภาพตัวอย่างมาให้ ซึ่งส่วนมากการอ่านผลที่ให้ความแม่นยำจะต้องอ่านภายใน 5 นาที หากทิ้งไว้นานกว่านั้นอาจทำให้มีอีกขีดเกิดขึ้นมาได้ และอาจจะไม่ใช้การตั้งครรภ์ หรือเป็นค่าที่เชื่อถือไม่ได้แล้ว ขีด C คือ Control Line ส่วนขีด T คือ Test Line สำหรับรายละเอียดของการตรวจจะมีดังนี้
- ตรวจแล้วขึ้น 1 ขีด โดยขีดจะขึ้นที่ C เพียงอย่างเดียว ได้ผลแปลว่า น่าจะไม่ตั้งครรภ์ หมายความว่า ไม่ตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์แต่ยังตรวจไม่พบ
- ตรวจแล้วขึ้น 2 ขีด หรือขึ้นเป็น 2 ขีดจางๆ โดยขีดจะขึ้นที่ C และ T คือ ได้ผลบวก แปลว่า น่าจะมีการตั้งครรภ์ หากขีดขึ้นที่ T จางๆ แนะนำว่าให้รออีกสักประมาณ 2 - 3 วันแล้วตรวจใหม่ และใช้เป็นชุดตรวจของยี่ห้อใหม่ก็น่าจะดีมาก
- ตรวจแล้วไม่ขึ้นแถบสี หรือไม่ขึ้นสักขีด หรือขึ้น 1 ขีดบนตัว T คือ อ่านค่าไม่ได้ แปลว่า ‘ชุดทดสอบการตั้งครรภ์เสีย’ อาจเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนของการผลิต , การเก็บไม่ถูกวิธี , การใช้ปัสสาวะเก่า หรือชุดทดสอบหมดอายุ ถ้าตรวจแล้วผลที่แสดงไม่ขึ้นสักขีดก็เท่ากับว่าการตรวจในครั้งนั้นใช้ไม่ได้ จะต้องทำการตรวจใหม่อีกครั้ง
ตรวจตั้งครรภ์ทำได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
โดยปกติแล้ว หากต้องการตรวจว่าตั้งครรภ์รึเปล่าก็ควรรอให้ผ่านวันที่มีรอบเดือนมาเสียก่อนอย่างน้อย 7 วัน เพราะบางครั้ง ความเครียด หรือความวิตกกังวลต่างๆ ก็อาจทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติได้ หากรอจนครบ 7 วันแล้วตรวจ ได้ผลว่าเป็น บวก ก็แสดงว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้าให้ผล ลบ ก็แปลว่าอาจจะยังไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าผ่านไป 7 วันประจำเดือนยังไม่มาหลังจากที่ตรวจครั้งแรก ก็ให้ตรวจซ้ำอีก ถ้ายังให้ผลเป็นลบอยู่ก็หมายความว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไม่ยืนยันว่าถูกต้องไปซะทีเดียวถ้าประจำเดือนยังไม่มาในอีกรอบเมื่อผ่าน 7 ไปแล้ว และยังเกิดความกังวล ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์
คำแนะนำในการใช้ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
- อ่านคำแนะนำและทำความเข้าใจก่อนการใช้งานที่ตรวจครรภ์อย่างละเอียด รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้งานนั้นๆ อย่างเคร่งครัด
- การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง เป็นเพียงการตรวจหาการตั้งครรภ์เบื้องต้นเท่านั้น ทางที่ดีควรจะไปตรวจเพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์โดยแพทย์ ด้วยการวินิจฉัยทางคลินิกและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์น่าจะดีที่สุด
- การตรวจหาการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียวถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะยืนยันผลเบื้องต้นได้ เพราะว่าระดับฮอร์โมน HCG ในหญิงตั้งครรภ์นั้นจะมีระดับที่แตกต่างกันในช่วงกว้าง ซึ่งการตรวจครรภ์ในครั้งที่ 2 ของวันถัดมาประมาณ 2 - 3 วัน จะช่วยให้ผลที่น่าเชื่อถือและแน่นอนมากกว่า เนื่องจากว่าในบางครั้งของการตั้งครรภ์ช่วงแรก ฮอร์โมนที่ร่างกายกำลังสร้างอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับความไวของที่ตรวจครรภ์ (ต่ำกว่า 20 mIU/ml.) ทำให้การตรวจในครั้งแรกจึงยังไม่พบว่าตั้งครรภ์
- การตรวจปัสสาวะ แนะนำว่าควรใช้ปัสสาวะหลังจากที่ตื่นนอนตอนเช้าจะให้ผลดีมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัสสาวะจากช่วงเวลาอื่นจะให้ผลที่ไม่ดี สำคัญที่สุด คือ การใช้ปัสสาวะสดๆ หรือเป็นการปัสสาวะใหม่เท่านั้น
- ที่ตรวจครรภ์เมื่อซื้อมาแล้วสามารถเก็บเอาไว้ในอุณหภูมิห้องตามปกติได้ที่ไม่เกิน 30 องศา เก็บให้เลี่ยงจากแสงแดดและความชื้น
- เมื่อฉีกซองที่ตรวจครรภ์แล้วจะต้องใช้ตรวจทันที จึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ แต่ถ้าฉีกแล้วยังไม่มีการใช้งานก็สามารถเก็บเอาไว้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะหากที่ตรวจครรภ์โดนความชื้นก็จะทำให้ประสิทธิภาพที่มีลดลง อีกทั้งยังอาจทำให้การแสดงผลตรวจผิดพลาดได้อีกด้วย
- ในการทดสอบซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ควรเว้นระยะห่างจากการตรวจครั้งแรกอย่างน้อย 2 - 3 วัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.